การพัฒนาและประเมินชุดสิทธิประโยชน์ (ที่ไม่ใช่ยา) เพื่อสนับสนุนการเข้าถึงบริการสุขภาพของประเทศไทย เป็นการดําเนินงานที่เป็นระบบ โดยเริ่มตั้งแต่การรับฟังความเห็นและข้อเสนอจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วน เพื่อกำหนดประเด็น
หัวข้อบริการสุขภาพและ/หรือเทคโนโลยีทางการแพทย์และสาธารณสุขการวิเคราะห์สถานการณ์ปัญหาและความจําเป็นด้านสุขภาพ การรวบรวมข้อมูลและการศึกษาทางวิชาการ รวมทั้งปัจจัยอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อนําไปสู่การพัฒนาข้อเสนอเชิงนโยบายเข้าสู่การตัดสินใจ ในการปรับปรุงหรือขยายสิทธิประโยชน์ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ตามความจำเป็นด้านสุขภาพและการดำรงชีวิตของประชาชนผู้มีสิทธิ ซึ่งจะพิจารณาเฉพาะเทคโนโลยีด้านสุขภาพที่ไม่ใช่ยา
การดำเนินกระบวนการ ได้ยึดตามหลักการสำคัญของกระบวนการพัฒนาชุดสิทธิประโยชน์ประกอบด้วย 4 ส่วน ได้แก่
1) Systematic process คือ มีกระบวนการดําเนินงานที่เป็นระบบและมีรายละเอียดขั้นตอนที่ชัดเจน
2) Transparent process คือ มีการดําเนินงานที่โปร่งใส ตรวจสอบได้
3) Participatory process คือ การเข้ามามีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนในทุกขั้นตอนของกระบวนการพัฒนาสิทธิประโยชน์
4) Evidence informed policy development คือ การมีข้อมูลหลักฐานเชิงประจักษ์ในการสนับสนุนนโยบาย
โดยการดำเนินงานของโครงการ ฯ มีขั้นตอนการดำเนินงาน 4 ขั้นตอนประกอบด้วย
1) การเสนอหัวข้อปัญหา ฯ จากกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้ง 7 กลุ่ม คือ ผู้กำหนดนโยบาย ผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์ นักวิชาการสาธารณสุข อุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ ผู้ป่วย ประชาสังคม และประชาชนทั่วไป นวัตกรรมทางการแพทย์ และคณะกรรมการ/คณะอนุกรรมการ/คณะทำงานที่เกี่ยวข้อง (สปสช.) ซึ่งกําหนดให้กลุ่ม ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเสนอหัวข้อทุกปีและเสนอไม่เกินกลุ่มละ 5 หัวข้อ
2) การจัดลำดับความสำคัญและการคัดเลือกหัวข้อปัญหา ฯ ตามเกณฑ์การพิจารณาทั้ง 6 เกณฑ์ ด้วยการทบทวนวรรณกรรมอย่างเป็นระบบโดยนักวิชาการ และเครือข่ายวิจัยโครงการ UCBP
3) การศึกษาวิจัย หัวข้อปัญหาและ/หรือเทคโนโลยีสุขภาพแบบรวดเร็ว หรือ rapid assessment และแบบ full HTA ทุกหัวข้อปัญหา ฯ ที่ผ่านการอนุมัติจากคณะอนุกรรมการกำหนดประเภทและขอบเขตในการให้บริการสาธารณสุข ฯ เพื่อให้ทำการวิจัย/ประเมิน
4) การพิจารณาตัดสินใจ โดยคณะทำงานที่เกี่ยวข้องเพื่อพิจารณาข้อเสนอเข้าสู่ชุดสิทธิประโยชน์
นอกจากกระบวนการพัฒนาชุดสิทธิประโยชน์แล้ว โครงการ ฯ ได้เน้นการดำเนินงานร่วมกับเครือข่ายทีมวิจัยซึ่งปัจจุบัน มีจำนวน 26 ทีม ที่ช่วยสนับสนุนการทำวิจัยจนจบกระบวนการ
วัตถุประสงค์ของโครงการ
วัตถุประสงค์หลัก เพื่อสนับสนุนกระบวนการพัฒนาชุดสิทธิประโยชน์ภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ให้เป็นระบบ มีความโปร่งใส เกิดการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน และอยู่บนพื้นฐานของหลักฐานเชิงวิชาการ
วัตถุประสงค์ย่อย
1) เพื่อจัดให้มีการเสนอหัวข้อปัญหาและ/หรือเทคโนโลยีสุขภาพ (Topic nomination) จากกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้ง 7 กลุ่ม
2) เพื่อจัดให้มีการพิจารณาคัดเลือกหัวข้อปัญหาและ/หรือเทคโนโลยีสุขภาพ (Topic selection) ตามเกณฑ์การพิจารณาทั้ง 6 เกณฑ์ ด้วยการทบทวนวรรณกรรมอย่างเป็นระบบโดยนักวิชาการ และเครือข่ายวิจัยโครงการ UCBP
3) เพื่อพัฒนาโครงร่างวิจัยและดำเนินการศึกษาวิจัยนโยบายและ/หรือเทคโนโลยีด้านสุขภาพแบบรวดเร็ว (rapid assessment) และแบบ Full HTA
4) เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ (Knowledge Exchange) กระบวนการดำเนินการวิจัยของเครือข่ายโครงการ UCBP และการพัฒนาความรู้ สื่อประชาสัมพันธ์ ข้อมูลข่าวสาร รวมทั้งการจัด Workshop ต่าง ๆ