logo

รหัสโครงการ

67043002RM005L0

คณะผู้วิจัย

นักวิจัยหลัก

นักวิจัยร่วม

รายละเอียดโครงการ

สถานะงานวิจัย

กำหนดโครงร่างวิจัย - 20%

จำนวนผู้เข้าชม: 603 คน

วันที่เผยแพร่ 13 มิถุนายน 2567 02:37

เกี่ยวกับโครงการ

เพดานความคุ้มค่า (cost-effectiveness threshold: CET) เป็นเครื่องมือที่ใช้ประกอบการตัดสินใจในระดับนโยบาย โดยใช้เป็นเกณฑ์มาตรฐานสำหรับการแปลผลการประเมินความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ ประเทศไทยใช้วิธีการดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของการพิจารณาบรรจุชุดสิทธิประโยชน์ในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (Universal Health Coverage: UHC) และบรรจุรายการยาในบัญชียาหลักแห่งชาติ แต่ที่ผ่านมายังไม่มีการศึกษาเกี่ยวกับการใช้และการเปลี่ยนแปลง CET ในประเทศไทย นับตั้งแต่การกำหนด CET ครั้งแรกในปี พ.ศ. 2551 (100,000 บาท/ปีสุขภาวะ) จนถึง CET ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน (160,000 บาท/ปีสุขภาวะ)

ในปี พ.ศ. 2564 โครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (Health Intervention and Technology Assessment Program: HITAP) ดำเนินการศึกษาเรื่อง “ผลกระทบของการเพิ่มเพดานความคุ้มค่าที่มีต่อราคายา การตัดสินใจคัดเลือกยาเข้าบัญชียาหลักแห่งชาติ และภาระงบประมาณของกองทุนประกันสุขภาพต่าง ๆ ในประเทศไทย” มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินผลกระทบของการเพิ่มเพดานความคุ้มค่าต่อการพิจารณายาในบัญชียาหลักแห่งชาติ ผลการศึกษาพบว่า การปรับเพิ่มเพดานความคุ้มค่ามีผลกระทบต่อทั้งราคายาที่ใช้ในการศึกษาความคุ้มค่าและการตัดสินใจของคณะอนุกรรมการพัฒนาบัญชียาหลักแห่งชาติในการบรรจุยาเข้าสู่บัญชียาหลักแห่งชาติแต่ไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ1 อย่างไรก็ตาม การศึกษาดังกล่าวยังไม่ครอบคลุมประเด็นเชิงคุณภาพ กล่าวคือการค้นหาคำอธิบายและทำความเข้าใจ (explanatory use) ถึงที่มาของการกำหนดและเปลี่ยนแปลงค่า CET รวมถึงปัจจัยและบริบทแวดล้อมที่เกี่ยวข้องกับการกำหนดหรือเปลี่ยนแปลงค่า CET รวมถึงการใช้ CET เพื่อพิจารณายาที่ถูกเสนอเข้าสู่บัญชียาหลักแห่งชาติ นอกจากนี้ในการประชุมผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งในระดับประเทศ และระดับนานาชาติ ของการศึกษาที่ได้กล่าวมานี้ ที่ประชุมมีข้อเสนอแนะให้ดำเนินการศึกษาเชิงคุณภาพเพื่ออธิบายปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในการศึกษาเชิงปริมาณ ซึ่งผลการศึกษาสามารถนำไปเป็นข้อมูลในการพัฒนานโยบายที่นำ CET มาใช้ประกอบการตัดสินใจได้ พร้อมกันนี้จากการทบทวนวรรณกรรมคณะผู้วิจัยยังไม่พบการศึกษาที่วิเคราะห์นโยบายการใช้ CET โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระดับประเทศ (national level) ของทั้งประเทศไทยและต่างประเทศ การศึกษานี้จึงเป็นอีกการศึกษาหนึ่งที่จะช่วยสร้างองค์ความรู้ใหม่เกี่ยวกับนโยบายในลักษณะดังกล่าว โดยสามารถนำผลการศึกษาไปเสนอแนะต่อผู้กำหนดนโยบายในระดับชาติเพื่อให้เกิดการพัฒนานโยบายด้านสุขภาพหรือเผยแพร่ผลการศึกษาในรูปแบบของบทความวิชาการในวารสารนานาชาติได้อีกด้วย

การศึกษานี้จึงดำเนินการต่อเนื่องโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ทราบถึงความเป็นมาของการกำหนด การใช้ และการเปลี่ยนแปลงเพดานความคุ้มค่าทางการแพทย์ในประเทศไทย ทำความเข้าใจการใช้ประโยชน์เพดานความคุ้มค่าในการพัฒนาบัญชียาหลักแห่งชาติตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ศึกษากระบวนการติดตามและประเมินผลของนโยบายการนำเพดานความคุ้มค่ามาใช้พัฒนาบัญชียาหลักแห่งชาติ ศึกษาความท้าทายและข้อจำกัดของการใช้เพดานความคุ้มค่าในการพัฒนาบัญชียาหลักแห่งชาติ และทำความเข้าใจเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงค่าเพดานความคุ้มค่าในประเทศไทยและผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว โดยใช้วิธีการศึกษาเชิงคุณภาพ (qualitative research) เก็บข้อมูลด้วยการทบทวนวรรณกรรมและเอกสารที่เกี่ยวข้องเป็นหลักและอาจจัดการอภิปรายกลุ่มหรือการสัมภาษณ์เชิงลึกเพิ่มเติม จากนั้นวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้การวิเคราะห์แก่นสาระ (thematic analysis) เป็นหลัก พร้อมทั้งตรวจสอบความถูกต้องของผลการศึกษาผ่านการประชุมผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเพื่อให้ข้อเสนอแนะต่อผลการศึกษา และนำเสนอต่อผู้กำหนดนโยบายที่เกี่ยวข้องต่อไป