logo

รหัสโครงการ

66273011RM026L0

คณะผู้วิจัย

นักวิจัยหลัก

นักวิจัยร่วม

รายละเอียดโครงการ

สถานะงานวิจัย

งานวิจัยเสร็จสิ้น - 100%

จำนวนผู้เข้าชม: 1028 คน

วันที่เผยแพร่ 12 กุมภาพันธ์ 2567 08:46

เกี่ยวกับโครงการ

การสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคเป็นกระบวนการสำคัญในการแก้ไขปัญหาด้านสาธารณสุขภายใต้หลักการประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่เอื้อให้ประชาชนสามารถควบคุมและปรับพฤติกรรมด้านสุขภาพของตนเองให้ดีขึ้น โดยมีเป้าหมายเพื่อทำให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี ลดอัตราการป่วยและการตาย รวมทั้งยังช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของครัวเรือน ตามประกาศคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เรื่องประเภทและขอบเขตของบริการสาธารณสุข พ.ศ. 2565 กำหนดขอบเขตของ P&P ครอบคลุม 4 ประเด็นได้แก่ 1) การตรวจคัดกรองเพื่อค้นหาภาวะเสี่ยงต่อการเสียสุขภาพและศักยภาพที่เอื้ออำนวยต่อการสร้างเสริมสุขภาพ 2) การส่งเสริมปรับเปลี่ยนพฤติกรรม การให้คำปรึกษาแนะนำ การให้ความรู้ และการสาธิตเพื่อสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค 3) การสร้างเสริมภูมิคุ้มกัน การใช้ยา และการทำหัตถกรรมเพื่อสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค และ 4) การสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคที่มีลักษณะเป็นรายโครงการ เป็นที่ทราบกันดีว่าการคัดกรองสุขภาพมีประสิทธิผล ช่วยค้นหาความเสี่ยงหรือโรคของบุคคล ซึ่งไม่ทราบมาก่อนว่าตนเองมีความเสี่ยงหรือเป็นโรค สามารถยืดอายุขัยและทำให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี ลดอัตราการเสียชีวิตจากโรคเรื้อรัง อย่างไรก็ตาม การนำรายการตรวจคัดกรองไปใช้ควรพิจารณาถึงประสิทธิผล รวมทั้งความจำเป็นก็ตามการคัดกรองสุขภาพมีทั้งประโยชน์และข้อเสียหากใช้อย่างไม่จำเป็น นอกจากนี้ผู้ใช้บริการ P&P เพียงหนึ่งในสามรายที่ทราบว่าประชากรไทยทุกคนมีสิทธิรับบริการ P&P อย่างเท่าเทียมกันทุกคนไม่ใช่เฉพาะคนที่มีสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเท่านั้น

การบริหารจัดการงบประมาณด้าน P&P ดำเนินการภายใต้การจัดสรรค่าใช้จ่ายในการจัดบริการสาธารณสุขสำหรับคนไทยทุกคนและทุกสิทธิ ซึ่งประกอบด้วยการจ่ายค่าตอบแทนแบบเหมาจ่ายรายหัว (Capitation payment; CAP) และการจ่ายตามบริการ (Fee-for-service; FFS) อย่างไรก็ตามการกำหนดราคามาตรฐาน (fee-schedule) ยังเป็นข้อกังขาการกำหนดราคาดังกล่าวสอดคล้องกับความเป็นจริงหรือไม่ ราคาหัตถการไม่ได้ปรับตามอัตราเงินเฟ้อ หากการจ่ายค่าบริการไม่สร้างแรงจูงใจในการให้บริการแก่ผู้ให้บริการ หรือประชาชนไม่ทราบบริการ ยิ่งทำให้ความครอบคลุมบริการต่ำ รวมทั้งปัจจุบันยังไม่พบรายงานการเข้าถึงบริการ และยังไม่มีการจัดบริการในประชากรกลุ่มเฉพาะ เช่น กลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQ+) กลุ่มผู้ต้องขัง และกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งมีปัจจัยและความเสี่ยงของปัญหาสุขภาพที่แตกต่างกับกลุ่มอื่นๆ ทั้งสภาพแวดล้อม การประกอบอาชีพ และพฤติกรรมทางเพศ เป็นต้น ดังนั้น เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถจัดบริการตรวจสุขภาพและการคัดกรองโรคให้แก่ประชากรไทยได้อย่างครอบคลุม สอดคล้องกับปัจจัยเสี่ยง ระบาดวิทยา และการเปลี่ยนแปลงตามบริบททางสังคม เศรษฐกิจ การพัฒนาของเทคโนโลยีและองค์ความรู้ที่เปลี่ยนแปลง จึงควรดำเนินการทบทวนชุดสิทธิประโยชน์ด้านการตรวจสุขภาพและการคัดกรองโรค รวมทั้งบริการตรวจสุขภาพที่มีความแตกต่างกันภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า โดยการศึกษานี้มุ่งหวังให้เกิดความเท่าเทียมของบริการด้านการตรวจสุขภาพและการคัดกรองโรคในทั้งสามสิทธิการรักษา รวมทั้งศึกษามาตรการด้าน P&P ในต่างประเทศ ซึ่งการศึกษานี้จะนำไปใช้เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจเชิงนโยบายด้านการพัฒนาชุดสิทธิประโยชน์การสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคสำหรับประชาชนไทยต่อไป