logo

รหัสโครงการ

66273011RM026L0

คณะผู้วิจัย

นักวิจัยหลัก

นักวิจัยร่วม

รายละเอียดโครงการ

ยุทธศาสตร์
เทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง
หน่วยงานสนับสนุน
คำค้น
Country

ระยะเวลาโครงการ

เริ่ม: 1 พฤษภาคม 2567
สิ้นสุด: 30 พฤศจิกายน 2567

ติดต่อ

สถานะงานวิจัย

ตรวจสอบผลวิจัย - 80%

จำนวนผู้เข้าชม: 759 คน

วันที่เผยแพร่ 10 มกราคม 2567 08:18

เกี่ยวกับโครงการ

ประเทศไทยบรรลุหลักกันสุขภาพถ้วน (Universal Health Coverage) ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2545 ทำให้ประชาชนไทยได้รับสิทธิคุ้มครองการรักษาพยาบาลจากระบบหลักประกันสุขภาพภาครัฐในระบบใดระบบหนึ่ง ได้แก่ 1) ระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ (Civil Servant Medical Benefit Scheme: CSMBS) บริหารจัดการโดยกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง 2) ระบบประกันสังคม (Social Security Scheme: SSS) บริหารจัดการโดยสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน และ 3) ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (Universal Coverage Scheme: UCS) บริหารจัดการโดยสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ขณะที่บริการด้านการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค (health prevention and promotion หรือ P&P) ประชาชนไทยทุกคนได้รับสิทธิตามระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติบริหารจัดการโดย สปสช. ซึ่งจัดให้อยู่ในรูปแบบของสิทธิประโยชน์ขั้นพื้นฐานครอบคลุมบริการสุขภาพที่จำเป็นและมีคุณภาพ

การสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคเป็นกระบวนการสำคัญในการแก้ไขปัญหาด้านสาธารณสุขภายใต้หลักการประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่เอื้อให้ประชาชนสามารถควบคุมและปรับพฤติกรรมด้านสุขภาพของตนเองให้ดีขึ้น โดยมีเป้าหมายเพื่อทำให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี ลดอัตราการป่วยและการตาย รวมทั้งยังช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของครัวเรือน ซึ่งนอกการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมส่วนบุคคลแล้ว ยังควรปรับสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการมีสุขภาพที่ดีด้วย ซึ่งกลยุทธ์สำคัญ ได้แก่ การสร้างนโยบายสาธารณะ สภาพแวดล้อม เสริมสร้างกิจกรรมชุมชนให้เข้มแข็งร่วมด้วย ตามประกาศคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เรื่องประเภทและขอบเขตของบริการสาธารณสุข พ.ศ. 2565 กำหนดขอบเขตของ P&P ครอบคลุม 4 ประเด็น ได้แก่ 1) การตรวจคัดกรองเพื่อค้นหาปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคหรือปัญหาสุขภาพ 2) การส่งเสริมปรับเปลี่ยนพฤติกรรม การให้คำปรึกษาแนะนำ การให้ความรู้ และการสาธิตเพื่อสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค 3) การสร้างเสริมภูมิคุ้มกัน การใช้ยา และการทำหัตถกรรมเพื่อสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค และ 4) การสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคที่มีลักษณะเป็นรายโครงการ

แม้ชุดสิทธิประโยชน์ด้านสุขภาพจะเป็นบริการด้านสาธารณสุขที่จำเป็นต่อสุขภาพและการดำรงชีวิตที่ประชาชนทุกคนควรได้รับอย่างเท่าเทียมกัน แต่ยังพบความไม่สอดคล้องของสิทธิประโยชน์ด้านการตรวจสุขภาพและการคัดกรองโรคจากทั้งสามกองทุน ซึ่งประชาชนทุกคนมีสิทธิเข้ารับบริการเท่าเทียมกัน แต่จากข้อมูลการสำรวจพบว่าผู้ประกันตนมีสัดส่วนของการเข้ารับบริการ P&P น้อยกว่าสิทธิอื่น ผู้ประกันตนจำนวนหนึ่งในสี่รายระบุว่าสิทธิประโยชน์ของสวัสดิการที่ไม่ครอบคลุม (ร้อยละ 24.7) นอกจากนี้ประชาชนไทยเพียงหนึ่งในสามรายที่ทราบว่าประชากรไทยทุกคนมีสิทธิรับบริการ P&P อย่างเท่าเทียมกันทุกคนไม่ใช่เฉพาะคนที่มีสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเท่านั้น

การศึกษาที่ผ่านมาที่เกี่ยวกับการพัฒนาชุดสิทธิประโยชน์ด้าน P&P หลายโครงการ อาทิเช่น การศึกษาเพื่อจัดทำข้อเสนอแนะเพื่อการปรับปรุงชุดสิทธิประโยชน์ด้านการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคตามกลุ่มวัย ได้แก่ เด็กโตและเยาวชน (พ.ศ. 2556) ผู้ใหญ่/วัยทำงาน (พ.ศ. 2556) การศึกษาเพื่อพัฒนาชุดสิทธิประโยชน์ด้านการคัดกรองระดับประชากรในประเทศไทย การพัฒนาข้อเสนอเพื่อการปรับปรุงชุดสิทธิประโยชน์และระบบบริการด้านการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคสำหรับปีงบประมาณ 2559 ภายใต้หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (พ.ศ. 2558) การพัฒนาข้อเสนอรูปแบบการจ่ายค่าบริการด้านส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค (พ.ศ. 2560) การศึกษาเพื่อหาข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเรื่องการกำหนดชุดสิทธิประโยชน์หลักด้าน P&P ซึ่งการศึกษาเกือบทั้งหมดเสนอแนะให้มีระบบกำกับดูแล ติดตามประเมินผลรวมถึงการสร้างแรงจูงใจให้หน่วยงานและผู้ให้บริการบรรลุเป้าประสงค์ของ P&P โดยการออกแบบระบบให้มีความรัดกุมในการกำกับติดตามการดำเนินมาตรการต่างๆ รวมทั้งมีความยืดหยุ่นสูงเพื่อให้ได้ข้อมูลสำหรับการปรับปรุงแผนการทำงานของผู้ให้บริการและการสร้างแรงจูงใจที่เหมาะสม รวมทั้งการศึกษาเพื่อพัฒนาชุดสิทธิประโยชน์ด้านการคัดกรองทางสุขภาพระดับประชากรในประเทศไทยซึ่งพบว่าในปี พ.ศ. 2552 ซึ่งพบว่าคนไทยใช้จ่ายเงินจากกระเป๋าตนเองในการตรวจคัดกรองสุขภาพถึง 2,200 ล้านบาท

การบริหารจัดการงบประมาณด้าน P&P ดำเนินการภายใต้การจัดสรรค่าใช้จ่ายในการจัดบริการสาธารณสุขสำหรับคนไทยทุกคนและทุกสิทธิ ซึ่งประกอบด้วยการจ่ายค่าตอบแทนแบบเหมาจ่ายรายหัว (Capitation payment: CAP) และการจ่ายตามบริการ (Fee-for-service: FFS) อย่างไรก็ตามการกำหนดราคามาตรฐาน (fee-schedule) ยังเป็นข้อกังขาว่าการกำหนดราคาตังกล่าวสอตคล้องกับความเป็นจริงหรือไม่ ราคาหัตถการไม่ได้ปรับตามอัตราเงินเฟ้อ หากการจ่ายค่าบริการไม่สร้างแรงจูงใจในการให้บริการแก่ผู้ให้บริการ หรือประชาชนไม่ทราบบริการ ยิ่งทำให้ความครอบคลุมบริการต่ำ รวมทั้งปัจจุบันยังไม่พบรายงานการเข้าถึงบริการ และยังไม่มีการจัดบริการในประชากรกลุ่มเฉพาะ เช่น กลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQ+) กลุ่มผู้ต้องขัง และกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งมีปัจจัยและความเสี่ยงของปัญหาสุขภาพที่แตกต่างกับประชากรทั่วไปกลุ่มอื่นๆ ทั้งสภาพแวดล้อม การประกอบอาชีพ และพฤติกรรมทางเพศ เป็นต้น ดังนั้น เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถจัดบริการตรวจสุขภาพและการคัดกรองโรคให้แก่ประชากรไทยได้อย่างครอบคลุม สอดคล้องกับปัจจัยเสี่ยง ระบาดวิทยา และการเปลี่ยนแปลงตามบริบททางสังคม เศรษฐกิจการพัฒนาของเทคโนโลยีและองค์ความรู้ที่เปลี่ยนแปลง จึงควรดำเนินการทบทวนชุดสิทธิประโยชน์ด้านการตรวจสุขภาพและการคัดกรองโรค โดยการศึกษานี้มุ่งหวังให้เกิดข้อมูลด้านวิชาการที่เป็นปัจจุบันเพื่อประกอบการตัดสินใจเชิงนโยบายด้านการพัฒนาสิทธิประโยชน์การสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคสำหรับประชาชนไทยอย่างเท่าเทียม