logo

รหัสโครงการ

66113002HM011L0

คณะผู้วิจัย

นักวิจัยหลัก

นักวิจัยร่วม

รายละเอียดโครงการ

สถานะงานวิจัย

อยู่ระหว่างการทำวิจัย - 43%

จำนวนผู้เข้าชม: 930 คน

วันที่เผยแพร่ 10 มิถุนายน 2566 02:03

เกี่ยวกับโครงการ

การประเมินความคุ้มค่าเป็นเครื่องมือสำคัญในการพัฒนาชุดสิทธิประโยชน์ของระบบประกันสุขภาพของประเทศไทยมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2551 ซึ่งคณะอนุกรรมการพัฒนาบัญชียาหลักแห่งชาติเริ่มใช้ข้อมูลการประเมินต้นทุนอรรถประโยชน์และผลกระทบงบประมาณสำหรับคัดเลือกยาราคาแพงเข้าสูงบัญชี จ(๒) และปีถัดมาคณะอนุกรรมการพัฒนาชุดสิทธิประโยชน์และขอบเขตบริการ ภายใต้คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ได้มีมติให้ใช้การประเมินต้นทุนอรรถประโยชน์และผลกระทบงบประมาณในการคัดเลือกมาตรการด้านสุขภาพที่ไม่ใช่ยาและวัคซีนเข้าสู่ชุดสิทธิประโยชน์ภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเช่นกัน จากนโยบายดังกล่าวทำให้ระบบประกันสุขภาพของประเทศมีประสิทธิภาพมากขึ้น เพราะการตัดสินใจโดยอิงผลการประเมินดังกล่าวทำให้มาตรการต่างๆที่ได้รับการประเมินว่ามีความคุ้มค่ากล่าวคือมีต้นทุนน้อยเมื่อเปรียบเทียบกับปีสุขภาวะที่ได้รับกลับมาจากการลงทุนมักได้รับการบรรจุในชุดสิทธิประโยชน์ อย่างไรก็ตาม การประเมินความคุ้มค่ามีข้อจำกัดที่มุ่งเน้นประสิทธิภาพของระบบแต่อาจละเลยประเด็นเรื่องความเป็นธรรม (equity) คือการช่วยเหลือคนด้อยโอกาสในสังคมให้ได้รับประโยชน์มากกว่าคนที่มีโอกาสดีในสังคม เช่น ปีสุขภาวะของคนมีเศรษฐานะดีกว่ามีค่าเท่ากับปีสุขภาวะของคนที่มีเศรษฐานะด้อยกว่า และการลงทุนในมาตรการสุขภาพสำหรับคนมีเศรษฐานะดีกว่าอาจมีต้นทุนต่อปีสุขภาวะที่ต่ำกว่าการลงทุนในมาตรการสุขภาพสำหรับคนมีเศรษฐานะด้อยกว่า กลายเป็นว่านโยบายในระบบประกันสุขภาพอาจโน้มเอียงไปในทางที่ให้ประโยชน์กับคนที่มีเศรษฐานะดีกว่าได้ ด้วยเหตุดังกล่าว จึงมีนักเศรษฐศาสตร์พยายามหาวิธีการประเมินที่แก้ไขข้อบกพร่องดังกล่าวด้วยการคำนวณต้นทุนและประโยชน์จากการลงทุนในมาตรการด้านสุขภาพตามกลุ่มเศรษฐานะที่แตกต่างกันและนำมาคำนวณเป็นค่าความคุ้มค่าที่ปรับด้วยข้อมูลด้านความเป็นธรรม ที่เรียกว่า Distributional Cost-Effectiveness Analysis หรือ DCEA การประเมินความคุ้มค่าด้วยวิธี DCEA เป็นเรื่องใหม่ ยังไม่เคยมีการดำเนินงานมาก่อนในประเทศกำลังพัฒนาทั้งที่ประเทศเหล่านี้ประสบปัญหาเรื่องความไม่เท่าเทียมกันของคนในสังคมสูงที่สุด ด้วยเหตุนี้ทีมวิจัยจากโครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ หรือ HITAP จึงสนใจที่จะพัฒนาขีดความสามารถในการประเมินความคุ้มค่าด้วยวิธี DCEA ในประเทศไทยเป็นครั้งแรก โดยจะดำเนินการร่วมกับผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศ ได้แก่ สหราชอาณาจักร, ญี่ปุ่น และสิงคโปร์