กระบวนการพิจารณาคัดเลือกหัวข้อและการจัดลำดับความสำคัญของหัวข้อปัญหาและ/หรือเทคโนโลยีสุขภาพ เข้าสู่กระบวนการพัฒนาชุดสิทธิประโยชน์ภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (UCBP 2566) จะดำเนินการใน 2 ส่วน คือ 1) การสนับสนุนกระบวนการพัฒนาชุดสิทธิประโยชน์ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และ 2) การสนับสนุนกระบวนการพัฒนาหัวข้อ โรคหายาก โดยทีมวิจัยได้รับมอบหัวข้อปัญหาจาก สปสช. ของกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่ได้เสนอหัวข้อปัญหาและ/หรือเทคโนโลยีสุขภาพของหัวข้อ UCBP เพื่อเข้าสู่กระบวนการพัฒนาชุดสิทธิประโยชน์ ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ประจำปี 2566 ซึ่งในรอบนี้มีกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจำนวน 5 กลุ่ม ที่เสนอหัวข้อปัญหาเข้ามา คือ กลุ่มผู้กำหนดนโยบาย ผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์ อุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ ผู้ป่วย ประชาสังคม และประชาชนทั่วไป และนวัตกรรมทางการแพทย์ ซึ่ง สปสช. ได้พิจารณากลั่นกรองหัวข้อปัญหาและคัดเลือกในเบื้องต้นเหลือจำนวน 10 หัวข้อ และหัวข้อปัญหาของโรคหายาก ปี 2565 สปสช. ได้พิจารณากลั่นกรองหัวข้อปัญหาของโรคหายากและคัดเลือกในเบื้องต้นเหลือ 24 หัวข้อ
การดำเนินงานโครงการ UCBP และการดำเนินการหัวข้อโรคหายาก ได้ปรับใช้ตามหลักการสำคัญของกระบวนการพัฒนาชุดสิทธิประโยชน์ ประกอบด้วย 4 ส่วน ได้แก่
1) Systematic process คือ มีกระบวนการดำเนินงานที่เป็นระบบและมีรายละเอียดขั้นตอนที่ชัดเจนกระบวนการพัฒนาชุดสิทธิประโยชน์ถือเป็นหนึ่งในเครื่องมือที่สำคัญที่จะช่วยพิจารณาคัดเลือกหัวข้อปัญหา ฯ เพื่อนำไปศึกษาวิจัย และการพิจารณาตัดสินใจบรรจุในชุดสิทธิประโยชน์ เพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงบริการสุขภาพ และสาธารณสุขได้อย่างถ้วนหน้า
2) Transparent process คือ มีการดำเนินงานที่โปร่งใส ตรวจสอบได้ เนื่องจากระบวนการ UCBP เป็นกระบวนการที่มีผลต่อการตัดสินใจเชิงนโยบายระดับประเทศ และเป็นการตัดสินใจภายใต้ความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ที่มีผลต่องบประมาณ อีกทั้งยังมีผู้ที่เกี่ยวข้องจากหลายภาคส่วน ผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งทางตรงและทางอ้อมที่เข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการ ดังนั้นจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ทุกขั้นตอนการดำเนินงานจะต้องมีความโปร่งใสและตรวจสอบได้ มีหลักเกณฑ์การประเมินที่ชัดเจน
3) Participatory process คือ การเข้ามามีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน ทุกขั้นตอนในกระบวนการพัฒนาสิทธิประโยชน์ เน้นให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้ง 7 กลุ่ม เครือข่ายทีมวิจัยและนักวิชาการได้เข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการ ตั้งแต่การรับรู้ข้อมูลการดำเนินงาน การร่วมเสนอหัวข้อปัญหา การร่วมรับฟังและแสดงความคิดเห็น การทบทวนและจัดทำข้อมูลเชิงวิชาการเพื่อใช้ในกระบวนการตัดสินใจ เพื่อให้เกิดการพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ที่คนไทยทุกคนสามารถเข้าถึงได้
4) Evidence informed policy development คือ การมีข้อมูลหลักฐานเชิงประจักษ์ในการสนับสนุนนโยบาย ในกระบวนการตัดสินใจคัดเลือกหัวข้อปัญหา ฯ หรือการพิจารณาตัดสินใจเลือกเป็นสิทธิประโยชน์ เป็นการตัดสินใจโดยกลุ่มบุคคลที่มีความรู้และประสบการณ์ที่แตกต่างกัน ซึ่งการตัดสินใจอย่างมีคุณภาพจะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่ออยู่บนพื้นฐานของการใช้ข้อมูลหลักฐานเชิงประจักษ์ที่ผ่านการประเมินว่ามีความชัดเจนและน่าเชื่อถือ นำมาพิจารณาให้ความเห็นร่วมกัน เพื่อให้ได้ทางเลือกสำหรับการตัดสินใจที่เป็นเอกฉันท์
ในการดำเนินงานโครงการ UCBP และกระบวนการพิจารณาคัดเลือกโรคหายาก ได้มีการประยุกต์ใช้หลักการดังกล่าวข้างต้น เพื่อสนับสนุนกระบวนการทั้ง 4 ขั้นตอน ซึ่งประกอบด้วย
1) การเสนอหัวข้อปัญหา ฯ (topic nomination)
2) การจัดลำดับความสำคัญและการคัดเลือกหัวข้อปัญหา ฯ (topic selection)
3) การศึกษาวิจัย (assessment)
4) การพิจารณาตัดสินใจ (decision-making)
วัตถุประสงค์ของการศึกษา
วัตถุประสงค์หลัก เพื่อสนับสนุนกระบวนการพัฒนาชุดสิทธิประโยชน์ภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติอย่างต่อเนื่อง ให้เป็นระบบ มีความโปร่งใส เกิดการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน อยู่บนพื้นฐานของหลักฐานเชิงวิชาการ และมีความยั่งยืน
วัตถุประสงค์ย่อย
1) เพื่อพิจารณาคัดเลือกหัวข้อปัญหาและ/หรือเทคโนโลยีสุขภาพและจัดลำดับความสำคัญเบื้องต้นของหัวข้อ UCBP ปี 2566 ตามเกณฑ์การพิจารณาคัดเลือกหัวข้อ
2) เพื่อพิจารณาคัดเลือกหัวข้อปัญหาและจัดลำดับความสำคัญเบื้องต้นของหัวข้อโรคหายาก (rare disease) ตามเกณฑ์การพิจารณาคัดเลือกหัวข้อโรคหายาก
3) เพื่อสรุปหัวข้อปัญหาและ/หรือเทคโนโลยีสุขภาพของหัวข้อ UCBP ที่ผ่านการจัดลำดับความสำคัญ เสนอต่อที่ประชุมคณะทำงานคัดเลือกหัวข้อ ฯ และคณะอนุกรรมการกำหนดประเภทและขอบเขตบริการ ฯ
4) เพื่อสรุปหัวข้อปัญหาของโรคหายาก ที่ผ่านการจัดลำดับความสำคัญ เสนอต่อที่ประชุมคณะทำงานคัดเลือกหัวข้อ ฯ หรือคณะทำงานโรคหายาก ฯ และคณะอนุกรรมการกำหนดประเภทและขอบเขตบริการ ฯ