logo

รหัสโครงการ

66023002RM002L0

คณะผู้วิจัย

นักวิจัยหลัก

นักวิจัยร่วม

รายละเอียดโครงการ

สถานะงานวิจัย

งานวิจัยเสร็จสิ้น - 100%

จำนวนผู้เข้าชม: 2070 คน

วันที่เผยแพร่ 1 กุมภาพันธ์ 2566 06:33

เกี่ยวกับโครงการ

การยุติการตั้งครรภ์ หรือ การทำแท้ง โดยทั่วไปมักเกิดจากการตั้งครรภ์ไม่พร้อมหรือเกิดจากการพบความผิดปกติของทารกในครรภ์ จากข้อมูลรายงานเฝ้าระวังการแท้งของประเทศไทยตั้งแต่ พ.ศ. 2554-2563 พบว่า ผู้ป่วยทำแท้งมีสัดส่วนเพิ่มสูงขึ้น โดยสูงที่สุดในปี พ.ศ. 2562 ที่ร้อยละ 55.8 และลดลงเล็กน้อย ในปีพ.ศ. 2563 เป็นร้อยละ 53.8 จากจำนวนผู้ป่วยแท้งทั้งหมด (แท้งเองและทำแท้ง) ที่เข้ารับการรักษาในสถานบริการสาธารณสุข โดยผู้ป่วยส่วนใหญ่ (ร้อยละ 98.8) ไม่ได้ตั้งใจตั้งครรภ์ในครั้งนั้น และประมาณหนึ่งในสามของผู้ป่วยทำแท้งเป็นนักเรียน/นักศึกษา อย่างไรก็ตาม ปัญหาการทำแท้งไม่ได้พบเฉพาะในกลุ่มวัยรุ่นและเยาวชนเท่านั้น โดยจำนวนผู้ป่วยทำแท้งกลุ่มอายุ 35-39 ปี และ 40-44 ปี มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ในขณะที่กลุ่มอายุ 15-19 ปี มีแนวโน้มลดลง ซึ่งสาเหตุหลักของการทำแท้ง พบว่า เกี่ยวข้องกับเหตุผลด้านเศรษฐกิจและสังคม และเหตุผลด้านสุขภาพ  โดยสัดส่วนของผู้ทำแท้งที่มีเหตุผลด้านเศรษฐกิจและสังคม มีแนวโน้มลดลงจาก ร้อยละ 84.6 ใน พ.ศ. 2556 เป็นร้อยละ 54.4 ใน พ.ศ. 2563 และเหตุผลด้านสุขภาพมีแนวโน้มสูงขึ้นจาก ร้อยละ 15.4 ใน พ.ศ. 2556 เป็นร้อยละ 45.6 ใน พ.ศ. 2563

ดังนั้น เพื่อลดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงที่เกิดจากการยุติการตั้งครรภ์ด้วยตนเอง และไม่ได้อยู่ภายใต้การดูแลของบุคลากรทางการแพทย์ซึ่งอาจจะเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ จึงควรสนับสนุนให้หญิงที่ต้องการยุติการตั้งครรภ์ได้รับคำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญ เพื่อเพิ่มการเข้าถึงบริการทางการแพทย์ที่เหมาะสมและปลอดภัย และป้องกันการทำแท้งด้วยตนเองหรือการทำแท้งโดยบุคคลที่ไม่ใช่บุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งบริการสายด่วนการตั้งครรภ์ไม่พร้อม เป็นบริการที่มุ่งหวังให้หญิงที่ตั้งครรภ์ไม่พร้อมและต้องการยุติการตั้งครรภ์ เข้าถึงบริการให้คำปรึกษาเพื่อให้ได้รับข้อมูลและทางเลือกสำหรับการตั้งครรภ์และการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัย

ในประเทศไทย การให้การให้บริการสายด่วนการตั้งครรภ์ไม่พร้อม (สายด่วน 1663) จึงเป็นอีกหนึ่งช่องทางการให้บริการส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรค ที่สามารถเพิ่มการเข้าถึงผู้รับบริการที่สะดวกและรวดเร็ว เป็นส่วนสำคัญในการสร้างความเข้าใจและเสนอทางเลือกให้แก่หญิงตั้งครรภ์ แต่ด้วยงบประมาณที่มีจำกัด จึงมีการลดบริการคู่สายจากเดิม 10 คู่สายต่อวันเป็น 7 คู่สายต่อวัน และให้บริการในช่วงเวลา 9.00-21.00 น. ซึ่งไม่เพียงพอต่อความต้องการในปัจจุบัน ทำให้เกิดปัญหาด้านการเข้าถึงบริการ

วัตถุประสงค์ของการศึกษา

1. เพื่อศึกษาประสิทธิผลของการให้บริการให้คำปรึกษาสายด่วนการตั้งครรภ์ไม่พร้อม (1663)

2. เพื่อศึกษาต้นทุนต่อหน่วยของการให้บริการสายด่วนการตั้งครรภ์ไม่พร้อม (1663)

3. เพื่อศึกษาความคุ้มค่าการให้บริการสายด่วนการตั้งครรภ์ไม่พร้อม (1663)

4. เพื่อศึกษาความเหมาะสมของรูปแบบการให้บริการปัจจุบัน และความเป็นไปได้ในการขยายบริการให้คำปรึกษาสายด่วนการตั้งครรภ์ไม่พร้อม (1663)

เอกสารเพิ่มเติม

กิจกรรมและความเคลื่อนไหว