ปัจจุบันพบว่าคนพิการจำนวนมากในประเทศไทยยังเข้าไม่ถึงบริการหรือสวัสดิการประเภทต่างๆ ของรัฐ โดยเฉพาะการไม่ได้รับอุปกรณ์เครื่องช่วยคนพิการทั้งๆ ที่จำเป็นต้องใช้ ถึงแม้ระบบประกันสุขภาพของไทยจะระบุหลักการการบริหารจัดการและสิทธิประโยชน์ต่างๆ ที่ครอบคลุมประเด็นความพิการและการฟื้นฟูสมรรถภาพ รวมถึงการสนับสนุนอุปกรณ์เครื่องช่วยคนพิการแล้วก็ตาม แต่ในทางปฏิบัติแล้ว การให้สิทธิประโยชน์ การบริหารจัดการและกลไกการจ่ายค่าบริการตามสิทธิยังมีความแตกต่างกัน ก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำหรือความไม่เท่าเทียมกัน
โครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (HITAP) ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสถาบันสร้างเสริมสุขภาพคนพิการ (สสพ.) ได้ดำเนินการวิจัยนี้ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาสถานการณ์และปัจจัยที่มีผลต่อการเข้าถึงบริการอุปกรณ์เครื่องช่วยคนพิการในระบบประกันสุขภาพภาครัฐ โดยกลุ่มเป้าหมายในการเก็บรวบรวมข้อมูลประกอบด้วยผู้บริหาร/ผู้กำหนดนโยบาย ผู้ให้บริการ ผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องกับการจัดบริการอุปกรณ์เครื่องช่วยคนพิการในสถานพยาบาลระดับต่างๆ รวมทั้งคนพิการและผู้ดูแลหรือสมาชิกในครอบครัว เก็บรวบรวมข้อมูลทั้งการทบทวนเอกสาร การสัมภาษณ์โดยตรง การสนทนากลุ่ม การสังเกตการให้บริการ และการสำรวจข้อมูลการจัดบริการอุปกรณ์เครื่องช่วยคนพิการของสถานพยาบาล มีระยะเวลาดำเนินงานตั้งแต่เดือนกรกฎาคม พ.ศ.2556 ถึงเดือนมิถุนายน พ.ศ.2557
หลังการวิจัยนี้แล้วเสร็จจะได้ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับรูปแบบหรือทางเลือกในการจัดระบบบริการอุปกรณ์เครื่องช่วยคนพิการในประเทศไทย และสำหรับระบบประกันสุขภาพ มีข้อมูลเชิงลึกที่เกี่ยวกับการเข้าถึง ปัจจัยที่มีผลต่อการเข้าถึง และผลลัพธ์ของการเข้าถึงบริการอุปกรณ์เครื่องช่วยคนพิการ ระหว่างระบบประกันสุขภาพ รวมทั้งบทเรียนจากต่างประเทศ ได้แก่ ไต้หวัน สิงคโปร์ และฟินแลนด์เพื่อปรับปรุงการดำเนินงานของผู้ให้บริการ นอกจากนั้นยังได้แนวทางในการติดตาม ประเมินผลความก้าวหน้าและผลสัมฤทธิ์ของนโยบายการสนับสนุนอุปกรณ์เครื่องช่วยคนพิการในอนาคต