logo

รหัสโครงการ

18-109-2556

คณะผู้วิจัย

นักวิจัยหลัก

ดร. ภญ.จันทนา พัฒนเภสัช

นักวิจัยร่วม

ผศ.ดร. ภญ.มนทรัตม์ ถาวรเจริญทรัพย์

ดร. พญ.ศิรินาถ ตงศิริ

วันทนีย์ กุลเพ็ง

รายละเอียดโครงการ

สถานะงานวิจัย

งานวิจัยเสร็จสิ้น - 100%

จำนวนผู้เข้าชม: 16236 คน

วันที่เผยแพร่ 13 ธันวาคม 2554 15:34

เกี่ยวกับโครงการ

การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาคะแนนอรรถประโยชน์สำหรับแบบสอบถาม EQ-5D-5L (5L) ฉบับภาษาไทย เปรียบเทียบแบบสอบถาม EQ-5D-3L (3L) และ 5L ในด้านคุณสมบัติการวัดและผลการประเมินความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์
ในการพัฒนาคะแนนอรรถประโยชน์จากประชากรดำเนินการโดยสัมภาษณ์กลุ่มตัวอย่างจำนวน 1,207 รายแบบตัวต่อตัวใน 12 จังหวัดทั่วประเทศโดยใช้โปรโตคอล EQ-VT สุ่มตัวอย่างด้วยแผนการสุ่มตัวอย่างหลายขั้นและเลือกหน่วยตัวอย่างแบบโควต้าตามสัดส่วนของอายุและเพศเพื่อให้กลุ่มตัวอย่างเป็นตัวแทนของประชากรไทย การประเมินคุณค่าของสถานะสุขภาพด้วยวิธีการแลกเปลี่ยนเวลา (time trade-off, TTO) ดำเนินการโดยใช้สถานะสุขภาพจำนวน 86 สถานะที่แบ่งเป็น 10 กลุ่ม แต่ละกลุ่มประกอบด้วยสถานะสุขภาพ 10 สถานะ การประเมินคุณค่าของสถานะสุขภาพด้วยวิธีการ discrete choice experiment (DCE) ดำเนินการโดยใช้สถานะสุขภาพจำนวน 196 สถานะที่แบ่งเป็น 28 กลุ่ม แต่ละกลุ่มประกอบด้วยสถานะสุขภาพ 7 คู่ กลุ่มตัวอย่างแต่ละรายประเมินคุณค่าของสถานะสุขภาพด้วยวิธี TTO และ DCE โดยใช้สถานะสุขภาพเพียงกลุ่มเดียวซึ่งสุ่มโดยโปรแกรม EQ-VT สำหรับการเปรียบเทียบคุณสมบัติการวัดดำเนินการโดยสัมภาษณ์กลุ่มตัวอย่างที่เป็นโรคเบาหวานและรักษาด้วยอินซูลินจำนวน 117 ราย ด้วยแบบสอบถาม 3L 5L และ SF-36 ประเมินคุณสมบัติการวัดจากการกระจายของคำตอบ อิทธิพลเพดาน ความตรงเชิงเหมือน อำนาจการจำแนก ความเชื่อมั่นแบบสอบซ้ำ และความพึงพอใจของผู้ตอบแบบสอบถาม ส่วนการเปรียบเทียบผลการประเมินความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์จากการใช้ค่าอรรถประโยชน์ที่ได้จากแบบสอบถาม 5L และ 3L ทำการพิจารณาจากอัตราส่วนต้นทุนประสิทธิผลส่วนเพิ่ม (incremental cost-effectiveness ratio, ICER) และกราฟระดับความคุ้มค่าที่ยอมรับได้ (cost-effectiveness acceptability curve, CEAC)
ผลการศึกษาพบว่าคะแนนอรรถประโยชน์ของสถานะสุขภาพทั้งหมดที่เป็นไปได้ของ 5L จำนวน 3,125 สถานะ มีความสอดคล้องกัน แบบจำลองที่ใช้ทำนายคะแนนอรรถประโยชน์สำหรับประชากรไทยคือแบบจำลองอิทธิพลแบบสุ่ม (random effect model) ที่ประกอบด้วยอิทธิพลหลักเพียงอย่างเดียว ผลการศึกษาพบว่ามิติการเคลื่อนไหวมีผลต่อคะแนนอรรถประโยชน์มากที่สุด สถานะสุขภาพที่คะแนนที่ดีที่สุดเป็นลำดับที่สองคือ 11112 มีคะแนน 0.968 ส่วนสถานะสุขภาพที่คะแนนน้อยที่สุดคือ 55555 มีคะแนน -0.283 ผลการศึกษาคุณสมบัติการวัดพบว่า 5L มีอิทธิพลเพดานน้อยกว่า 3L (33% และ 29%) นอกจากนี้ยังพบว่า 5L มีคุณสมบัติที่ดีกว่า 3L ในด้านอำนาจการจำแนก ความเชื่อมั่นแบบสอบซ้ำของคะแนนดัชนี และความพึงพอใจของผู้ตอบแบบสอบถาม ส่วนความตรงเชิงเหมือนไม่แตกต่างกันระหว่าง 5L และ 3L ในด้านการประเมินความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์พบว่าการใช้คะแนนอรรถประโยชน์ที่คำนวณจาก 5L ให้ค่า ICER ต่ำกว่า 3L และช่วยลดความไม่แน่นอนของผลการศึกษา ดังนั้น 5L ควรได้รับการแนะนำให้เป็นแบบสอบถามคุณภาพชีวิตด้านสุขภาพสำหรับประเทศไทย