จากการวิเคราะห์ข้อมูลที่มีอยู่ในปัจจุบัน พบว่า มีผู้ป่วยจิตเวชที่ได้รับการประมาณว่าจำเป็นต้องเข้าถึงบริการ 10 ล้านคน แต่มีผู้ป่วยประมาณ 8 แสนคน (ร้อยละ 8) เท่านั้นที่เข้าถึงบริการทางสุขภาพจิต ทั้ง ๆ ที่ปัญหาทางสุขภาพจิตส่งผลกระทบต่อผู้ป่วย ญาติหรือผู้ดูแล ทั้งด้านสุขภาพ เศรษฐกิจและสังคม แต่ในการดูแลบุคคลกลุ่มนี้ยังขาดแคลนบุคคลากรและงบประมาณสำหรับจัดบริการทางสุขภาพจิต รวมถึงระบบบริการสุขภาพในปัจจุบันหลังจากนโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ยังไม่ได้ผนวกการให้บริการทางสุขภาพจิตเข้าไปในระบบบริการปฐมภูมิ แม้ว่าจะมีนโยบายสนับสนุนการใช้ยาทางจิตเวช ได้แก่ยาริสเพอริโดนและเซอร์ทราลีน แต่การเข้าถึงยาดังกล่าวยังมีปัญหาเพราะระบบที่ไม่รองรับ จึงทำให้ไม่สามารถตอบสนองต่อนโยบายดังกล่าวได้
ดังนั้นจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ในการเริ่มต้นพัฒนาระบบการบริหารจัดการ การประเมิน และการติดตามการให้บริการทางสุขภาพจิตที่สำคัญ โดยหวังว่าโครงการพัฒนาระบบฯ นี้จะนำไปสู่การพัฒนาระบบบริการและระบบฐานข้อมูล สำหรับการบริหารจัดการ การติดตามประเมินผลที่มีประสิทธิภาพและเหมาะสม โดยเป็นความร่วมมือระหว่างกรมสุขภาพจิต สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โครงการประเมินเทคโนโลยี่และนโยบายด้านสุขภาพและหน่วยบริการในพื้นที่ ซึ่งหัวใจสำคัญของโครงการพัฒนาระบบฯ นี้คือ การสร้างบริการทางสุขภาพจิตให้ผนวกในบริการสาธารณสุขระดับปฐมภูมิ ที่มีระบบเชื่อมต่อกับสถานบริการในระดับทุติยภูมิและตติยภูมิ อันจะนำมาซึ่งความยั่งยืนในระบบสุขภาพสำหรับประชาชนไทยต่อไป