logo

รหัสโครงการ

01-105-2551

คณะผู้วิจัย

นักวิจัยหลัก

ดร. ภญ.ศิตาพร ยังคง

นักวิจัยร่วม

Dr. Rob Baltussen

ภก.อดุลย์ โมฮารา

รายละเอียดโครงการ

ยุทธศาสตร์
เทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง
Country

ระยะเวลาโครงการ

เริ่ม: - 2552
สิ้นสุด: - 2555

ติดต่อ

สถานะงานวิจัย

ตรวจสอบผลวิจัย - 74%

จำนวนผู้เข้าชม: 3677 คน

วันที่เผยแพร่ 20 ธันวาคม 2554 14:09

เกี่ยวกับโครงการ

ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา นวัตกรรมทางด้านสุขภาพ ไม่ว่าจะเป็นยา เครื่องมือแพทย์ที่ทันสมัย หรือหัตถการรูปแบบใหม่ รวมถึงนโยบายสาธารณะที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพที่หลากหลาย ถูกนำออกมาใช้ในระบบสุขภาพของประเทศต่างๆ อย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้เกิดการใช้ทรัพยากรและงบประมาณเพื่อดูแลสุขภาพที่เพิ่มสูงขึ้นและในหลายๆ ประเทศโดยเฉพาะประเทศกำลังพัฒนา การเพิ่มขึ้นของงบประมาณเพื่อสุขภาพเป็นไปอย่างไม่เหมาะสม เกิดการใช้ทรัพยากรอย่างฟุ่มเฟือย จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่การตัดสินใจเพื่อการจัดสรรทรัพยากรและงบประมาณด้านสุขภาพให้เป็นไปตามลำดับความสำคัญของนโยบายและเทคโนโลยีสุขภาพนั้น ควรประกอบไปด้วยกระบวนการจัดลำดับความสำคัญของนโยบายและเทคโนโลยีสุขภาพที่สมเหตุสมผล มีความโปร่งใส อยู่บนพื้นฐานของข้อมูลเชิงประจักษ์ที่น่าเชื่อถือและมีความยุติธรรม โดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนาที่ทรัพยากรมีอยู่อย่างจำกัด ไม่สามารถที่จะลงทุนกับนโยบายและเทคโนโลยีด้านสุขภาพตามความต้องการของทุกคนในสังคมได้ทั้งหมด อีกทั้งประเทศเหล่านี้ยังมีข้อจำกัดเกี่ยวกับข้อมูลที่น่าเชื่อถือและมีกระบวนการตัดสินใจเชิงนโยบายที่ไม่ชัดเจน ซึ่งส่งผลให้การจัดสรรทรัพยากรด้านสุขภาพในประเทศกำลังพัฒนา (รวมทั้งประเทศไทย) ที่ผ่านมาจึงมักจะดำเนินการเป็นกรณีๆ ไปหรืออิงตามแบบแผนเดิมที่เกิดขึ้นในอดีต การจัดลำดับความสำคัญของนโยบายและเทคโนโลยีด้านสุขภาพจึงเป็นขั้นตอนแรกที่สำคัญเพื่อใช้ในการพิจารณาจัดสรรทรัพยากรให้มีความเหมาะสมและเป็นไปอย่างที่ควรจะเป็น โดยเฉพาะความหลากหลายและแตกต่างของนโยบายและเทคโนโลยีในระบบสุขภาพเป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้การจัดลำดับความสำคัญต้องคำนึงถึงประเด็นต่างๆ มากมาย แม้ว่าในปัจจุบันนี้ ยังไม่มีข้อสรุปในเรื่องของกระบวนการที่เหมาะสมที่สุดที่ควรใช้ในการจัดลำดับความสำคัญของนโยบายและเทคโนโลยีด้านสุขภาพ ได้มีความพยายามในการนำประเด็นทางด้านความคุ้มค่าทางการแพทย์ (ต้นทุน-ประสิทธิผล) มาใช้เป็นข้อมูลหลักในการตัดสินใจเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดจากทรัพยากรที่มีจำกัด หรือการนำข้อมูลภาระโรค (Burden of Disease; BOD) มาใช้ในการพิจารณาเพื่อการวางแผนสาธารณสุขรวมถึงนำมาใช้จัดลำดับความสำคัญของนโยบายและเทคโนโลยีด้านสุขภาพที่เกี่ยวข้องกับโรคที่มีลำดับของภาระโรคอยู่ในลำดับต้นๆ และในระยะหลัง หลายประเทศได้มีการสนับสนุนให้ใช้จำนวนปีที่มีคุณภาพชีวิต (Quality-Adjusted Live Years: QALYs) เป็นเกณฑ์ในการจัดลำดับความสำคัญของนโยบายและเทคโนโลยีทางด้านสุขภาพ

อย่างไรก็ตาม ยังมีประเด็นอื่นๆ ที่ผู้กำหนดนโยบายควรจะใช้พิจารณาไม่ว่าจะเป็นประเด็นด้านความเท่าเทียมและความเสมอภาคของการจัดสรรทรัพยากร ประชาชนกลุ่มเป้าหมายที่ได้รับประโยชน์จากโครงการนั้นๆ (กลุ่มเด็ก กลุ่มวัยรุ่น กลุ่มหญิงตั้งครรภ์ กลุ่มผู้ใหญ่วัยทำงาน หรือกลุ่มวัยชรา เป็นต้น) ระดับความจำเป็นด้านสุขภาพ (ความรุนแรงของโรคที่เป็น) ความสนใจของสังคม (จะต้องให้ความช่วยเหลือคนยากจนและมีความจำเป็นก่อน) เป็นต้น อย่างไรก็ตามในการจัดลำดับความสำคัญของนโยบายและเทคโนโลยีด้านสุขภาพนั้นไม่ควรจะใช้เพียงประเด็นใดประเด็นหนึ่งเพียงอย่างเดียวในการพิจารณาตัดสินใจ ควรจะพิจารณาถึงประเด็นอื่นๆ ทั้งที่เกี่ยวข้องกับทางการแพทย์ และไม่เกี่ยวข้องกับทางการแพทย์ ซึ่งมีความหลากหลายและมีความสำคัญไม่เท่ากันเหล่านั้น นอกจากนี้ในการตัดสินใจว่านโยบายหรือเทคโนโลยีทางการแพทย์ใดมีความสำคัญ ควรจัดสรรทรัพยากรไปให้มากน้อยแตกต่างกันนั้นมักจะเป็นไปโดยผู้กำหนดนโยบายฝ่ายเดียว ทำให้เกิดข้อคำถามตามมาว่าในการตัดสินใจเพื่อการให้บริการทางการแพทย์หรือการจัดสรรทรัพยากรไปยังนโยบายหรือเทคโนโลยีด้านสุขภาพอย่างสมเหตุสมผลนั้น ควรที่จะพิจารณามุมมองของใครเป็นสำคัญ และมุมมองใดบ้างที่ควรนำมาใช้ร่วมในการตัดสินใจดังกล่าว (เช่น บุคลากรทางการแพทย์ ประชาชนทั่วไป หรือผู้ป่วย เป็นต้น) ดังนั้นจึงอาจกล่าวได้ว่านอกจากการใช้ประเด็นที่หลากหลายดังกล่าวข้างต้นร่วมกันในการจัดลำดับความสำคัญของนโยบายและเทคโนโลยีด้านสุขภาพแล้ว ควรที่จะพิจารณาถึงมุมมองอื่นๆ นอกเหนือจากมุมมองของผู้กำหนดนโยบาย ที่อาจจะมองหรือใช้ประเด็นหรือเกณฑ์ที่แตกต่างกันในการตัดสินใจ และให้ระดับความสำคัญของประเด็นหรือเกณฑ์ต่างๆ เหล่านั้นแตกต่างกันไปด้วย ดังนั้นการจัดลำดับความสำคัญที่ดีจึงควรที่จะพิจารณามุมมองที่แตกต่างกันตั้งแต่ 2 มุมมองขึ้นไป

การวิจัยครั้งนี้จึงพิจารณาการให้ความสำคัญกับประเด็นหรือเกณฑ์ที่ควรจะนำมาใช้ในการตัดสินใจจัดสรรทรัพยากรสำหรับนโยบายและเทคโนโลยีด้านสุขภาพในมุมมองที่แตกต่างกัน ได้แก่ (1) ผู้กำหนดนโยบายทางสุขภาพ ซึ่งเป็นมุมมองหลักที่ต้องทำหน้าที่ตัดสินใจเลือกนโยบายหรือเทคโนโลยีด้านสุขภาพ และเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมในการจัดสรรทรัพยากร รวมถึงการยอมรับและความรู้สึกในการเป็นเจ้าของร่วมกันของนโยบายและเทคโนโลยีสุขภาพนั้นๆ ผ่านการมีส่วนร่วมในการจัดลำดับความสำคัญ ควรจะพิจารณามุมมองของ (2) ประชาชนทั่วไป นอกจากนี้ยังมีมุมมองที่สำคัญอีกมุมมอง ได้แก่ (3) ผู้ให้บริการทางการแพทย์ ซึ่งเป็นผู้นำนโยบายหรือเทคโนโลยีด้านสุขภาพไปใช้ในทางปฏิบัติ และ (4) กลุ่มนักวิจัยที่ดำเนินงานวิจัยเชิงนโยบายเพื่อส่งข้อมูลต่อให้ผู้กำหนดนโยบายใช้ในการตัดสินใจด้วย การวิจัยนี้ใช้เทคนิค Discrete Choice Experiment ซึ่งเป็นเทคนิคที่เพิ่งเริ่มมีการนำมาประยุกต์ใช้ในเชิงสุขภาพ และสามารถนำมาใช้เป็นเครื่องมือหนึ่งในการเข้าใจหลักการหรือคุณลักษณะที่บุคคลใช้ในการตัดสินใจเลือกสิ่งใดสิ่งหนึ่ง โดยให้บุคคลตัดสินใจเลือกทางเลือก 2 ทางเลือก (หรือมากกว่า) ที่แต่ละทางเลือกประกอบไปด้วยคุณลักษณะที่แตกต่างกัน ซึ่งผลที่ได้จาก Discrete Choice Experiment จะวิเคราะห์ออกมาในรูปของน้ำหนักความสำคัญของประเด็นที่บุคคลให้ความสำคัญที่จะใช้เป็นเกณฑ์ในการตัดสินใจเลือก และสามารถนำมาใช้ในการพิจารณาจัดลำดับความสำคัญของนโยบายและเทคโนโลยีต่อไป จากการทบทวนวรรณกรรมพบว่า มีงานวิจัยในประเทศกาน่าและเนปาลเท่านั้น ที่นำเทคนิคนี้ไปใช้ในการจัดลำดับความสำคัญของนโยบายและเทคโนโลยีด้านสุขภาพ แต่ทำการศึกษาจากมุมมองของผู้กำหนดนโยบายเพียงมุมมองเดียว อย่างไรก็ตามผลการศึกษาอาจจะนำไปใช้ได้เฉพาะในประเทศที่มีการศึกษาเท่านั้น เนื่องจากความแตกต่างกันของพื้นฐานของบุคคลที่อยู่ในแต่ละประเทศ รวมถึงความแตกต่างกันทางสภาพทางสังคมและสาธารณสุขของประเทศนั้นๆ อาจจะสนใจหรือเลือกใช้ประเด็นหรือเกณฑ์ที่แตกต่างกันในการจัดลำดับความสำคัญของนโยบายและเทคโนโลยีด้านสุขภาพได้ การวิจัยครั้งนี้จึงมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อพัฒนากรอบการตัดสินใจที่ประกอบไปด้วยเกณฑ์ที่หลากหลายร่วมกันเพื่อใช้ในการตัดสินใจเพื่อการจัดสรรทรัพยากรด้านสุขภาพในประเทศไทย