logo

รหัสโครงการ

01-404-2551

คณะผู้วิจัย

นักวิจัยหลัก

เชิญขวัญ ภุชฌงค์

นักวิจัยร่วม

รายละเอียดโครงการ

สถานะงานวิจัย

งานวิจัยเสร็จสิ้น - 100%

จำนวนผู้เข้าชม: 2965 คน

วันที่เผยแพร่ 30 พฤศจิกายน 2554 09:52

เกี่ยวกับโครงการ

การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับวัคซีนป้องกันการติดเชื้อ Human papillomavirus (HPV) ที่เผยแพร่ผ่านสื่อสิ่งพิมพ์ในประเทศไทย รวมทั้งวิเคราะห์ความรู้และการตัดสินใจฉีดวัคซีน HPV วิธีการศึกษาใช้การวิเคราะห์สื่อ (Media analysis) ในสื่อสิ่งพิมพ์ประเภทนิตยสารสุขภาพ นิตยสารวาไรตี้สำหรับสตรี และนิตยสารวาไรตี้สำหรับวัยรุ่น รวมทั้งหนังสือพิมพ์ในประเทศไทยที่พิมพ์เผยแพร่ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 31 ธันวาคม 2550 รวมบทความและข่าวที่ผ่านเกณฑ์การคัดเลือกเข้าสู่การวิเคราะห์ข้อมูลมีจำนวนทั้งสิ้น 131 รายการ ซึ่งจะวิเคราะห์แหล่งที่มาของข้อมูลข่าวสาร เนื้อหาสาร และคุณภาพของข้อมูลข่าวสาร อีกทั้งดำเนินการสัมภาษณ์กลุ่มตัวอย่างสตรีในเขตกรุงเทพมหานครจำนวน 4 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มนักเรียนระดับมัธยมศึกษา กลุ่มนักศึกษาระดับมหาวิทยาลัย กลุ่มสตรีวัยทำงาน และกลุ่มผู้ปกครองที่มีบุตรหลานอย่างน้อย 1 คน จำนวนทั้งสิ้น 1,568 ราย เพื่อวิเคราะห์ความรู้และการตัดสินใจรับวัคซีนในกลุ่มที่ได้รับและไม่ได้รับข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับวัคซีนฯ ผลจากการศึกษาพบว่า ข้อมูลข่าวสารส่วนใหญ่มีที่มาจากบริษัทผู้ผลิตและจำหน่ายวัคซีนและโรงพยาบาลเอกชน และบางส่วนมีที่มาจากหน่วยงานภาครัฐ นอกจากนั้นจากการศึกษายังพบข้อมูลอีกจำนวนมากที่ไม่สามารถระบุได้ชัดเจนว่ามีที่มาจากแหล่งข้อมูลใด โดยข้อมูลข่าวสารส่วนใหญ่มีขึ้นก่อนวัคซีนฯได้รับการอนุมัติจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนภายหลังวัคซีนฯได้รับการอนุมัติให้ใช้ในประเทศไทยในเดือนมีนาคม 2550 อย่างไรก็ตามภายหลังการแถลงข่าวควบคุมการโฆษณาประชาสัมพันธ์วัคซีนฯอย่างไม่เหมาะสมของ อย. ในวันที่ 7 สิงหาคม 2550 พบปริมาณข้อมูลข่าวสารมีจำนวนลดลง ลักษณะการนำเสนอข้อมูลที่พบจากงานวิจัย สามารถจำแนกได้ 5 รูปแบบ ได้แก่ 1) การสร้างความกลัว (fear appeal) ต่อโรคมะเร็งปากมดลูก 2) การสร้างความน่าเชื่อถือต่อข้อมูลข่าวสาร 3) การนำเสนอสารโดยบุคคลที่มีชื่อเสียงในสังคม 4) การชี้ให้เห็นจุดอ่อนหรือผลเสียของการป้องกันมะเร็งปากมดลูกด้วยวิธีอื่น และ 5) การสร้างภาพลักษณ์ขององค์กร เมื่อวิเคราะห์คุณภาพของข้อมูลข่าวสารพบว่า มีบทความและข่าวจำนวนทั้งสิ้น 103 รายการ (ร้อยละ 79) ที่นำเสนอข้อมูลไม่ครบถ้วน ซึ่งประเด็นที่ถูกละเลยมากที่สุด ได้แก่ ประสิทธิผลและความปลอดภัยของวัคซีนฯในระยะยาว วิธีการป้องกันและควบคุมมะเร็งปากมดลูก ขนาดของวัคซีนฯและผู้ที่เหมาะสมในการได้รับวัคซีนฯ นอกจากนั้นพบบทความและข่าวจำนวนทั้งสิ้น 24 รายการ (ร้อยละ 18.3) ให้ข้อมูลไม่ถูกต้องเกี่ยวกับวัคซีนฯในประเด็นสำคัญ ได้แก่กลุ่มคนที่เหมาะสมในการได้รับวัคซีนฯ และประสิทธิผลของวัคซีนฯในการป้องกันการเกิดโรคมะเร็งปากมดลูก ผลการสำรวจกลุ่มตัวอย่างที่ได้รับและไม่ได้รับข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับวัคซีนฯ พบว่ากลุ่มที่เคยได้รับข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับวัคซีนฯมีความรู้ที่ถูกต้องเกี่ยวกับโรคมะเร็งปากมดลูกมากกว่าผู้ไม่เคยได้รับข้อมูลข่าวสาร แต่ความรู้เกี่ยวกับวัคซีนฯไม่พบความแตกต่างกันในระหว่าง 2 กลุ่มนี้ กลุ่มนักเรียนระดับมัธยมศึกษาและกลุ่มสตรีวัยทำงานมีแนวโน้มจะตัดสินใจรับวัคซีนฯมากกว่ากลุ่มอื่น นอกจากนั้นพบว่า กลุ่มตัวอย่างที่เข้าใจผิดเกี่ยวกับวัคซีนฯในประเด็นต่อไปนี้ 1) วัคซีนฯสามารถป้องกันโรคหนองในและซิฟิลิสได้ 2) หากเป็นโรคมะเร็งปากมดลูกในระยะเริ่มต้นสามารถฉีดวัคซีนฯเพื่อรักษาให้หายได้ และ 3)วัคซีนฯให้ประสิทธิภาพไม่แตกต่างกันระหว่างผู้ที่เคยและไม่เคยมีเพศสัมพันธ์ มีแนวโน้มที่จะตัดสินใจฉีดวัคซีนมากกว่าผู้ที่เข้าใจถูกต้อง สำหรับปัจจัยด้านอื่นพบว่า การมีประวัติสมาชิกในครอบครัวเป็นโรคมะเร็งปากมดลูก การได้รับแหล่งข้อมูลจากแพทย์หรือบุคลากรทางการแพทย์ การได้รับข้อมูลจากบุคคลใกล้ชิด ผู้ที่รู้จักวัคซีนฯเป็นระยะเวลา 6 เดือนขึ้นไป และผู้ที่เข้าใจว่าข้อมูลข่าวสารมีวัตถุประสงค์เพื่อประโยชน์ทางสุขภาพสาธารณะ เป็นปัจจัยที่มีความสัมพันธ์ต่อแนวโน้มในการตัดสินใจรับวัคซีนฯของกลุ่มเป้าหมายร่วมด้วย กล่าวโดยสรุป ผลการศึกษานี้ชี้ให้เห็นว่าข้อมูลข่าวสารที่ไม่ครบถ้วนและไม่ถูกต้อง อาจนำมาซึ่งการตัดสินใจใช้วัคซีนฯอย่างไม่สมเหตุสมผล ดังนั้นผู้มีส่วนเกี่ยวข้องจึงควรหามาตรการกำกับดูแลการโฆษณาผลิตภัณฑ์และบริการทางสุขภาพอย่างเข้มงวด รวมทั้งให้ความรู้ต่อผู้บริโภคเพื่อให้สามารถปกป้องตนเองจากข้อมูลข่าวสารที่ไม่ถูกต้องเหล่านี้