logo

รหัสโครงการ

06-301-2551

คณะผู้วิจัย

นักวิจัยหลัก

ดร.อินทิรา ยมาภัย

ภก.อดุลย์ โมฮารา

นักวิจัยร่วม

รายละเอียดโครงการ

สถานะงานวิจัย

งานวิจัยเสร็จสิ้น - 100%

จำนวนผู้เข้าชม: 4120 คน

วันที่เผยแพร่ 11 ธันวาคม 2554 10:39

เกี่ยวกับโครงการ

ในระหว่างปี 2549 ถึง 2550 รัฐบาลไทยโดยกระทรวงสาธารณสุขประกาศใช้มาตรการใช้สิทธิตามสิทธิบัตรยา 3 รายการ ได้แก่ เอฟาวิเรนซ์ (efavirenz, EFV), ยาสูตรผสมโลพินาเวียร์/ริโทนาเวียร์ (lopinavir/ritronavir,LPV/r), และโคลพิโดเกรล (clopidogrel) ซึ่งสองรายการแรกเป็นยาต้านไวรัสเอชไอวีสำหรับผู้ป่วยเอดส์ และรายการหลังเป็นยาป้องกันการแข็งตัวของเลือดสำหรับผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจ ต่อมาในเดือนมกราคม 2551 ได้ประกาศใช้สิทธิตามสิทธิบัตรเพิ่มเติมกับยาบำบัดโรคมะเร็งอีก 4 รายการ ได้แก่ เลโทรโซล (letrozole), โดซีเทกเซล (docetaxel), เออร์โลทินิบ (erlotinib), และ อิมาทินิบ(imatinib) ทั้งนี้เนื่องจากโรคที่จำเป็นต้องได้รับการรักษาด้วยยาเหล่านี้เป็นภาระด้านสุขภาพในลำดับต้นของประเทศ แต่จากสถานการณ์ปัจจุบันพบว่าสิทธิบัตรยาทำให้เกิดการผูกขาดทางการตลาด เป็นเหตุให้ยากลุ่มนี้มีราคาแพงจนเป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึง ดังนั้นรัฐบาลจึงจําเป็นต้องใช้มาตรการใช้สิทธิตามสิทธิบัตร เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงยาจําเป็นได้อย่างทั่วถึง จากการประกาศใช้สิทธิตามสิทธิบัตรข้างต้น กระทรวงสาธารณสุขได้รับการต่อต้านจากผู้เสียประโยชน์จากมาตรการนี้ โดยรัฐบาลสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นประเทศของบริษัทยาผู้ทรงสิทธิบัตร ปรับลดสถานะทางการค้าของประเทศไทยตามมาตรา 301 พิเศษ (the Special 301 Act) ของกฎหมายการค้าของสหรัฐอเมริกา จาก Watch List (WL) เป็น Priority Watch List (PWL) ต่อมาในวันที่ 1 กรกฎาคม 2550 สํานักงานผู้แทนการค้าสหรัฐอเมริกา (USTR) ได้ประกาศผลการพิจารณาทบทวนการให้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (GSP) ประจําปี 2550 โดยสินค้าไทยถูกตัดสิทธิในปีนี้มีจํานวน 3 รายการ ได้แก่ 1) เครื่องประดับอัญมณีทำจากทอง 2) เม็ดพลาสติกโพลีเอทิลีนเทเรฟทาเลต และ 3) เครื่องรับโทรทัศน์สีจอแบน ซึ่งมีการกล่าวอ้างว่าเป็นการโต้ตอบจากการที่รัฐบาลไทยประกาศใช้มาตรการใช้สิทธิตามสิทธิบัตร แม้ว่ารัฐบาลไทยจะถูกต่อต้านจากผู้เสียประโยชน์ แต่ขณะเดียวกันองค์กรนานาชาติหลายหน่วยงาน เช่น UNAIDS, MSF’s, KEI’s, TWN, AIDS Access Foundation เป็นต้น กลับให้การสนับสนุนการใช้มาตรการนี้ของประเทศไทย จากข้อมูลข้างต้นแสดงให้เห็นว่าการประกาศใช้สิทธิตามสิทธิบัตรยาของรัฐบาลไทย ก่อให้เกิดผลกระทบทั้งด้านบวกและลบต่อประเทศ รวมไปถึงกระแสสนับสนุนและคัดค้านจากนานาชาติต่อการประกาศใช้นโยบายดังกล่าว ด้วยเหตุนี้โครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ โดยการสนับสนุนทุนวิจัยจากสำนักงานวิจัยเพื่อการพัฒนาหลักประกันสุขภาพไทย จึงทำการศึกษาผลกระทบจากการประกาศใช้นโยบายดังกล่าว ให้ครอบคลุมอย่างรอบด้าน เพื่อเป็นข้อมูลสำหรับผู้กำหนดนโยบายและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่นๆ ได้ใช้ประโยชน์ต่อไปในอนาคต