การประเมินมาตรการและเทคโนโลยีทางสุขภาพ กำลังมีบทบาทมากขึ้นในหลายประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์ปัจจุบัน ซึ่งระบบสุขภาพมีข้อจำกัดด้านทรัพยากร ซึ่งการตัดสินใจของผู้กำหนดนโยบายและผู้ให้บริการจำเป็นต้องคำนึงถึงการลงทุนและค่าใช้จ่ายควบคู่กันไปกับประสิทธิผลของมาตรการและบริการที่จัดให้แก่ประชาชน การวิจัยเพื่อประมาณความต้องการของด้านงบประมาณ วางแผนการกระจาย รวมทั้งการศึกษาผลกระทบด้านคลินิก เศรษฐศาสตร์ และอื่น ๆ ในการเลือกให้มาตรการหรือเทคโนโลยีใด ๆ สำหรับแก้ไขหรือป้องกันปัญหาสุขภาพในประเทศไทยนั้น มีการดำเนินการมาเป็นเวลานานแล้ว ตลอดจนได้มีการดำริและความพยายามของหลายฝ่ายที่จะจัดตั้งองค์กร เพื่อให้มีการประเมินอย่างเป็นระบบบทเรียนที่เกิดขึ้นทั้งในแง่กลวิธี ปัจจัยสนับสนุน อุปสรรค และข้อจำกัด จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการดำเนินโครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (HITAP) ซึ่งมีจุดมุ่งหมายที่จะพัฒนาสถาบันต่อไปในอนาคต
งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1. ศึกษาพัฒนาการของการประเมินมาตรการและเทคโนโลยีด้านสุขภาพในประเทศไทยในรอบ 20 ปี ที่ผ่านมา (พ.ศ. 2529-2549) 2. ศึกษากลวิธีดำเนินการในการจัดตั้งโครงการ องค์กร หรือหน่วยงานเพื่อการประเมินมาตรการและเทคโนโลยีด้านสุขภาพในประเทศไทย ระหว่างพ.ศ. 2529-2549 รวมทั้งระบุชื่อผู้ริเริ่มและผู้รับผิดชอบ (อาจเป็นหน่วยงานหรือบุคคล) ในเรื่องดังกล่าว 3. วิเคราะห์ปัจจัยสนับสนุน อุปสรรค และข้อจำกัดในการดำเนินการในข้อ 2 4. ศึกษาสถานการณ์ปัจจุบันเกี่ยวกับการประเมินมาตรการและเทคโนโลยีด้านสุขภาพในประเทศไทยนอกเหนือจากการจัดตั้งและดำเนินโครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (คทนส.) 5. สังเคราะห์บทเรียนที่ได้จากข้อ 1-4 เพื่อให้ข้อเสนอแนะในการพัฒนาโครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (คทนส.)