logo

รหัสโครงการ

61073002R1016L0

คณะผู้วิจัย

นักวิจัยหลัก

สุรเดช ดวงทิพย์สิริกุล

นักวิจัยร่วม

จิตติ วิสัยพรม

สลักจิต ชื่นชม

รายละเอียดโครงการ

สถานะงานวิจัย

งานวิจัยเสร็จสิ้น - 100%

จำนวนผู้เข้าชม: 3521 คน

วันที่เผยแพร่ 10 กันยายน 2561 07:12

เกี่ยวกับโครงการ

คนพิการเป็นกลุ่มประชากรที่อาจมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น อันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงทางสังคมในด้านต่าง ๆ เช่น การเพิ่มสัดส่วนของประชากรผู้สูงอายุ การเจ็บป่วยจากโรคติดเชื้อเป็นโรคเรื้อรังที่นำไปสู่ความพิการ รวมถึงการขยายตัวของอุตสาหกรรมการผลิตและการท่องเที่ยวซึ่งนำไปสู่การเกิดอุบัติเหตุจากการทำงานและจราจร ข้อมูลสถิติจำนวนคนพิการในประเทศไทย กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการรายงานว่าคนพิการที่มีบัตรประจำตัวคนพิการสะสมตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2537 ถึง 31 สิงหาคม พ.ศ. 2560 ที่มีชีวิตอยู่ มีจำนวนประมาณ 1.8 ล้านคน ในขณะที่คนพิการที่ขึ้นทะเบียนสะสมในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 มีจำนวนประมาณ 1.2 ล้านคน   การฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการเป็นกระบวนการหนึ่งในการเสริมสร้างสมรรถภาพหรือการเสริมสร้างความสามารถของคนพิการให้มีสภาพที่ดีขึ้นโดยอาศัยวิธีการทางการแพทย์ การศึกษา สังคมและการฝึกอาชีพ เพื่อให้คนพิการได้มีโอกาสทำงานหรือดำรงชีวิตในสังคมทัดเทียมคนปกติ ทั้งนี้ตามพระราชบัญญัติการฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ พ.ศ. 2534 มาตรา 15 (1) บัญญัติให้คนพิการที่ได้จดทะเบียนตามมาตรา 14 ได้รับบริการฟื้นฟูสมรรถภาพโดยวิธีการทางการแพทย์และค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล ค่าอุปกรณ์ เพื่อปรับสภาพทางร่างกาย สติปัญญา หรือจิตใจ หรือเสริมสร้างสมรรถภาพให้ดีขึ้น ส่วนพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 มาตรา 20 (1) ได้บัญญัติให้คนพิการมีสิทธิเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้จากสิ่งอำนวยความสะดวกอันเป็นสาธารณะตลอดจนสวัสดิการและความช่วยเหลืออื่นจากรัฐ อันได้แก่ การบริการฟื้นฟูสมรรถภาพโดยกระบวนการทางการแพทย์และค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล ค่าอุปกรณ์ เครื่องช่วยความพิการ และสื่อส่งเสริมพัฒนาการ เพื่อปรับสภาพทางร่างกาย จิตใจ อารมณ์ สังคม พฤติกรรม สติปัญญา การเรียนรู้ หรือเสริมสร้างสมรรถภาพให้ดีขึ้น นอกจากนี้ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่องการบริการฟื้นฟูสมรรถภาพโดยกระบวนการทางการแพทย์และค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล ค่าอุปกรณ์ เครื่องช่วยความพิการ และสื่อส่งเสริมพัฒนาการสำหรับคนพิการ พ.ศ. 2552 ข้อที่ 2 ได้กำหนดให้คนพิการได้รับการฟื้นฟูสมรรถภาพ จำนวน 26 รายการโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย เช่น การแนะแนว   การให้คำปรึกษา และการจัดการเป็นรายกรณี กิจกรรมบำบัด และพฤติกรรมบำบัด เป็นต้น  สำหรับคนพิการที่ขึ้นทะเบียนในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือ สิทธิ ท.74 จะได้รับสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) โดยมีสิทธิประโยชน์หลัก ได้แก่ บริการขั้นพื้นฐานทางการแพทย์ รวมถึงบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค โดยไม่เสียค่าบริการและสามารถเข้ารับบริการสาธารณสุข ณ หน่วยบริการของรัฐทุกหน่วย และยังได้รับสิทธิเฉพาะสำหรับคนพิการ ได้แก่ การได้รับสนับสนุนอุปกรณ์เครื่องช่วยสำหรับคนพิการ และสิทธิได้รับบริการฟื้นฟูสมรรถภาพด้านการแพทย์ทั้งในและนอกหน่วยบริการ โดยในปีงบประมาณ 2560 พบว่ามีคนพิการที่มาเข้ารับบริการฟื้นฟูสมรรถภาพดังกล่าวจำนวน 184,359 คน[9]   การให้คำปรึกษาเพื่อฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการการฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ โดยเป็นการช่วยบุคคลให้เผชิญกับผลที่เกิดจากความพิการ ทั้งนี้เนื่องจากเมื่อเกิดภาวะความพิการ คนพิการต้องเผชิญกับความตึงเครียดซึ่งส่งผลต่อการทำงานของระบบต่าง ๆ ในร่างกาย เกิดปัญหาทางอารมณ์และจิตใจ ความรู้สึกด้อย ความวิตกกังวล และความคับข้องใจ หากมีความคิดเช่นนี้มากขึ้น จะทำให้คนพิการแยกตนเองไปอยู่โดดเดี่ยว และไม่สามารถปรับตนเองเข้ากับสังคมได้ในที่สุด การให้คำปรึกษาฯ มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยให้คนพิการหรือผู้ที่เกี่ยวข้องที่รับคำปรึกษารู้จักและเข้าใจตนเอง และยอมรับตนเอง มีความมั่นใจในความสามารถที่จะแก้ไขปัญหาของตนเอง รวมทั้งช่วยให้คนพิการหรือผู้ที่เกี่ยวข้องมีทักษะในการตัดสินใจ สามารถตัดสินใจเลือกแนวทางการดำเนินชีวิตที่เหมาะสมด้วยตนเองได้ อย่างไรก็ตามแม้ว่าการให้คำปรึกษาเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพจะเป็นกระบวนการที่สำคัญแต่ในทางปฏิบัติในปัจจุบันยังพบปัญหาเรื่องการจัดบริการและการเข้าถึงบริการดังกล่าวในโรงพยาบาล ทั้งนี้หากพิจารณารายการการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์ของ สปสช. จะพบว่าไม่มีบริการการให้คำปรึกษาเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพ แต่ถูกรวมอยู่ในกิจกรรมของรายการจิตบำบัดและรายการพฤติกรรมบำบัด และหากพิจารณาในรายละเอียดของกิจกรรมในบริการจิตบำบัดและพฤติกรรมบำบัดพบว่าไม่มีการระบุกิจกรรมที่ชัดเจนของการให้คำปรึกษาเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ ประกอบกับวิชาชีพที่สามารถให้บริการจิตบำบัดและพฤติกรรมบำบัดได้คือวิชาชีพเฉพาะทาง เช่น แพทย์ พยาบาล จิตเวช จิตแพทย์ นักจิตวิทยา จิตแพทย์ทั่วไป จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น เป็นต้น ซึ่งยังไม่ครอบคลุมถึงนักให้คำปรึกษาเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพซึ่งมีหน้าที่โดยตรงในการให้คำปรึกษาเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพ จากสถานการณ์ดังกล่าวอาจส่งผลให้ในปัจจุบันโรงพยาบาลส่วนหนึ่งไม่มีการให้บริการดังกล่าวอันเนื่องมาจากการมีบุคลากรที่จำกัดและไม่มีความถนัดในการให้บริการ โดยเฉพาะนักให้คำปรึกษาส่งผลให้เกิดปัญหาการเข้าถึงบริการของคนพิการที่ต้องได้รับการปรึกษาฯ   ในปี 2560 สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้จัดกระบวนการจัดลำดับความสำคัญและคัดเลือกหัวข้อ/ประเด็นสิทธิประโยชน์/การเข้าถึงบริการ เข้าสู่การประเมินความจำเป็นและผลกระทบ เพื่อกำหนดประเภทและขอบเขตการให้บริการสาธารณสุขในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และกลุ่มคนพิการได้เสนอหัวข้อการให้คำปรึกษาเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ และได้มีมติจากคณะอนุกรรมการกำหนดประเภทและขอบเขตในการให้บริการสาธารณสุขที่จำเป็นต่อสุขภาพและการดำรงชีวิตให้หัวข้อดังกล่าวผ่านเข้าสู่กระบวนการศึกษาเพื่อประเมินด้านการเข้าถึง และรูปแบบหรือความเป็นไปได้ในการจัดบริการ เพื่อนำผลการศึกษามาประกอบการพิจารณาด้านสิทธิประโยชน์ในการจัดบริการการให้คำปรึกษาเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพของคนพิการในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าต่อไป โครงการนี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษารูปแบบและแนวปฏิบัติมาตรฐานสากลในการจัดบริการการให้คำปรึกษาเพื่อฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการในโรงพยาบาล รวมทั้งศึกษาการเข้าถึงบริการ รูปแบบและความเป็นไปได้ในการจัดบริการการให้คำปรึกษาเพื่อฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการที่เหมาะสมในโรงพยาบาล