logo

รหัสโครงการ

14-3-121-2560

คณะผู้วิจัย

นักวิจัยหลัก

สุรเดช ดวงทิพย์สิริกุล

นักวิจัยร่วม

ศุภวรรธน์ เพิ่มผลสุข

จิตติ วิสัยพรม

รายละเอียดโครงการ

สถานะงานวิจัย

งานวิจัยเสร็จสิ้น - 100%

จำนวนผู้เข้าชม: 3839 คน

วันที่เผยแพร่ 15 กันยายน 2560 04:58

เกี่ยวกับโครงการ

การตีตราและการเลือกปฏิบัติทำให้ผู้มีเชื้อเอชไอวีหลีกเลี่ยงจากบริการสุขภาพที่จะช่วยชีวิตบุคคลเหล่านั้น โดยในปี พ.ศ. 2559 ประมาณร้อยละ 56 ของผู้ที่ถูกวินิจฉัยว่ามีเชื้อเอชไอวีมีระดับของ CD4 น้อยกว่า 200 มิลลิลิตร แต่ร้อยละ 13 ของผู้มีเชื้อทั้งหมดกลับหลีกเลี่ยงหรือเข้ารับบริการสุขภาพล้าช้า เนื่องจากกลัวการตีตราและการเลือกปฏิบัติจากผู้ที่ปฏิบัติงานในสถานบริการสุขภาพ สถานการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้ประเทศไทยให้ความสำคัญและมุ่งหมายให้เกิดการลดการตีตราอันเนื่องจากเอชไอวี เพื่อให้บรรลุผลสำเร็จตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ สำนักโรคเอดส์ วัณโรค และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข จึงได้พัฒนาชุดการดำเนินงาน 3x4 ซึ่งเป็นชุดการดำเนินงานเพื่อลดการตีตราและการเลือกปฏิบัติที่เกี่ยวกับเอชไอวี/เอดส์สำหรับผู้ปฏิบัติในสถานบริการสุขภาพ ภายใต้ “โครงการการส่งเสริมสถานบริการสุขภาพที่ปราศจากการตีตราและเลือกปฏิบัติ” ชุดการดำเนินงานดังกล่าวถูกนำไปใช้ในพื้นที่นำร่องทั้งหมด 3 จังหวัด 6 โรงพยาบาล ได้แก่ 1) จังหวัดเชียงใหม่ ประกอบด้วย โรงพยาบาลพร้าวและโรงพยาบาลเชียงดาว 2) จังหวัดชลบุรี ประกอบด้วย โรงพยาบาลพานทองและโรงพยาบาลหนองใหญ่ และ 3) จังหวัดสงขลา ประกอบด้วย โรงพยาบาลสทิงพระและโรงพยาบาลจะนะ

กลางปี พ.ศ. 2560 การดำเนินโครงการพัฒนารูปแบบการส่งเสริมสถานบริการสุขภาพที่ปราศจากการตีตราและเลือกปฏิบัติในพื้นที่นำร่องเกิดผลลัพธ์ที่ดี ดังนั้นเพื่อเร่งรัดให้การดำเนินมาตรการลดการตีตราและการเลือกปฏิบัติขยายไปทั่วทั้งระบบสุขภาพและสร้างความมั่นใจในการพัฒนาอย่างยั่งยืนในสถานบริการสุขภาพ โครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (HITAP) จึงได้จัดทำการวิเคราะห์ต้นทุนในการดำเนินโครงการดังกล่าว เพื่อนำไปใช้วิเคราะห์ข้อมูลของต้นทุน-ประสิทธิผล และสามารถนำไปใช้ในการจัดการทรัพยากร การจัดสรรงบประมาณ และเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานของโครงการได้ในระดับต่อไป

การศึกษานี้เป็นการวิจัยเชิงสำรวจแบบย้อนหลัง (Retrospective study) ในหน่วยงาน/สถานพยาบาลผู้รับผิดชอบการดำเนินโครงการส่งเสริมสถานบริการสุขภาพที่ปราศจากการตีตราและเลือกปฏิบัติที่เกี่ยวกับเอชไอวี/ ต้นทุนที่เก็บประกอบด้วย ต้นทุนค่าแรง ต้นทุนค่าวัสดุ และต้นทุนค่าลงทุน วิเคราะห์ต้นทุนในมุมมองผู้ให้บริการ (Provider perspective) กรอบเวลาการวิเคราะห์ต้นทุนคือปี 2557-2560 ต้นทุนที่วิเคราะห์และนำเสนอเป็นมูลค่าที่ปี 2560