logo

รหัสโครงการ

11-3-115-2560

คณะผู้วิจัย

นักวิจัยหลัก

นักวิจัยร่วม

รายละเอียดโครงการ

สถานะงานวิจัย

งานวิจัยเสร็จสิ้น - 100%

จำนวนผู้เข้าชม: 4549 คน

วันที่เผยแพร่ 3 สิงหาคม 2560 10:03

เกี่ยวกับโครงการ

ปัจจุบันประเทศไทยให้ความสำคัญกับการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ดังจะเห็นได้จากความร่วมมือของหน่วยงานด้านสุขภาพและภาคีเครือข่ายในการจัดทำแผนยุทธศาสตร์โครงการหรือกิจกรรมต่าง ๆ หน่วยงานที่มีบทบาทสำคัญในการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคในประเทศไทยประกอบด้วย กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) สถาบันวิชาการด้านสุขภาพ เครือข่ายวิชาชีพด้านสุขภาพ องค์กรพัฒนาสาธารณประโยชน์ เครือข่ายประชาสังคมที่ทำงานเกี่ยวกับสุขภาพ และภาคเอกชน เป็นต้น ซึ่งที่ผ่านมามีความพยายามในการบูรณาการงานสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคของหน่วยงานหลัก ๆ เข้าด้วยกัน เช่น สธ. ได้ลงนามเห็นชอบในข้อสรุปการบริหารงานส่งเสริมสุขภาพและป้องกันควบคุมโรคร่วมกับ สปสช. ในปี พ.ศ.2554 โดยมีเป้าประสงค์เพื่อสร้างความเข้าใจในบทบาทหน้าที่ กำหนดกรอบการทำงานสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคที่ชัดเจน ซึ่งจะสามารถเพิ่มการเข้าถึงบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคที่จำเป็นและมีคุณภาพตามมาตรฐานอย่างเท่าเทียมกันของประชาชนไทย

การให้บริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคที่มีประสิทธิภาพควรคำนึงถึงคุณภาพและมาตรฐานของการให้บริการนั้น ๆ คุณภาพของบริการในที่นี้หมายถึง บริการที่เป็นไปตามมาตรฐาน มีประโยชน์ มีประสิทธิภาพ และสามารถเข้าถึงได้เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของผู้รับบริการ คุณภาพจึงเป็นเครื่องยืนยันว่าประชาชนหรือผู้ใช้บริการจะได้ประโยชน์จากการรับบริการนั้น ๆ ซึ่งในปัจจุบันยังพบว่าวิธีการให้บริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคยังมีความหลากหลายในประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งมาตรการใหม่ ๆ ที่ยังไม่มีแนวทางเวชปฏิบัติอย่างชัดเจน ซึ่งจะทำให้ผู้ให้บริการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเกิดความเข้าใจไม่ตรงกัน

สหราชอาณาจักรได้ดำเนินมาตรการเพื่อยกระดับคุณภาพการให้บริการสุขภาพ ผ่านการประกาศใช้แนวทางมาตรฐานคุณภาพ (Quality standards, QS) ซึ่งเป็นข้อความที่สั้น กระชับ เสนอแนะกลวิธีในการให้บริการสุขภาพที่เป็นมาตรฐาน โดยแนวทางมาตรฐานคุณภาพเป็นเครื่องมือสำคัญที่ใช้ในการกำหนด benchmark ของคุณภาพบริการที่พึงประสงค์ รวมทั้งสามารถใช้เป็นเครื่องมือในการสร้างแรงจูงใจและการจัดสรรงบประมาณ และใช้เสริมมาตรการพัฒนาคุณภาพบริการอื่น ๆ เช่น clinical audit และ Quality and Outcome Framework เป็นต้น

แนวทางมาตรฐานคุณภาพได้ระบุหลักการและเหตุผลของข้อความ ตัวชี้วัดและวิธีประเมินผลตามตัวชี้วัด รวมทั้งอธิบายความหมายของข้อความนี้ต่อผู้ให้บริการและผู้รับบริการ ซึ่งจะแตกต่างจากแนวทางเวชปฏิบัติ คือ แนวทางมาตรฐานคุณภาพรวบรวมคำแนะนำจากแนวทางเวชปฏิบัติตามลำดับความสำคัญ จากนั้นนำคำแนะนำเหล่านี้มาย่อยให้เข้าใจได้ง่ายขึ้น และสื่อสารไปยังผู้ให้บริการและผู้รับบริการ ประเทศกำลังพัฒนา เช่น ประเทศเวียดนาม ได้พัฒนาแนวทางมาตรฐานคุณภาพเพื่อแก้ปัญหาเชื้อแบคทีเรียดื้อยาในโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังและโรคปอดบวม ในประเทศอินเดีย แคว้น Kerala ได้พัฒนาแนวทางมาตรฐานคุณภาพสำหรับบริการแม่และเด็ก ซึ่งพบว่ามีส่วนช่วยลดปัญหาสุขภาพที่เป็นสาเหตุของการเสียชีวิตของมารดาหลังคลอดได้

สำหรับประเทศไทยแนวทางมาตรฐานคุณภาพจะมีประโยชน์ต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กล่าวคือ สปสช. สามารถใช้ตัวชี้วัดที่เกี่ยวข้องกับแนวทางมาตรฐานคุณภาพประเมินคุณภาพบริการที่ประชาชนได้รับ รวมทั้งออกแบบกลไกการจัดสรรงบประมาณตามคุณภาพบริการที่กำหนด สธ. สามารถใช้แนวทางมาตรฐานคุณภาพเพื่อติดตามและประเมินผลคุณภาพบริการของหน่วยงานภายใต้สังกัด รวมทั้งสะท้อนข้อมูลในระดับประเทศ และสามารถนำข้อมูลเหล่านี้มาวางแผนเพื่อพัฒนาคุณภาพบริการอย่างต่อเนื่องได้ โรงพยาบาลหรือโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลสามารถใช้แนวทางมาตรฐานคุณภาพเพื่อติดตามผลงานขององค์กร และผู้ปฏิบัติงานสามารถใช้เป็นเครื่องมือสำหรับตรวจสอบการดำเนินงานของตนเอง รวมทั้งใช้อ้างอิงกลวิธีในการปรับปรุงคุณภาพบริการให้บรรลุเป้าหมายที่กำหนดไว้ นอกจากนี้ผู้รับบริการยังสามารถใช้แนวทางมาตรฐานคุณภาพเป็นแหล่งข้อมูลเกี่ยวกับคุณภาพบริการที่พึงประสงค์ เพื่อให้เกิดความตระหนักถึงความสำคัญของคุณภาพบริการและร้องขอการบริการที่มีคุณภาพจากผู้ให้บริการได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริการด้านการส่งเสริมและป้องกันโรค ที่เน้นปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพของผู้รับบริการ ซึ่งแนวทางมาตรฐานคุณภาพที่อ่านเข้าใจง่ายจะช่วยให้ประชาชนมีทักษะในการดูแลสุขภาพตนเองได้ดีขึ้น

แนวทางมาตรฐานคุณภาพสอดคล้องและสนับสนุนการดำเนินโครงการงบจ่ายตามตัวชี้วัดเกณฑ์คุณภาพและผลงานบริการปฐมภูมิ (Quality and Outcomes Framework, QOF) เนื่องจากตัวชี้วัดที่พัฒนาขึ้นจากแนวทางมาตรฐานคุณภาพ สามารถนำไปใช้กำกับติดตามและประเมินผลการปฏิบัติงานของผู้ให้บริการได้ ซึ่งโครงการ QOF ใช้ผลการประเมินในการจัดสรรงบประมาณเพื่อเป็นแรงจูงใจให้หน่วยบริการพัฒนาคุณภาพบริการปฐมภูมิ และเพิ่มผลงานบริการตามตัวชี้วัด หากมีการดำเนินมาตรการทั้งสองร่วมกัน จะช่วยสนับสนุนให้การพัฒนาคุณภาพบริการบรรลุเป้าประสงค์ได้ง่ายขึ้น อันจะส่งผลดีต่อสุขภาพของประชาชนไทยโดยรวม นอกจากนี้การพัฒนาแนวทางมาตรฐานคุณภาพยังจะช่วยสนับสนุนนโยบายของ สธ. ที่มุ่งเน้นให้พัฒนาคุณภาพบริการในด้านการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ดังจะเห็นได้จากคำสั่งของคณะกรรมการพัฒนายุทธศาสตร์และขับเคลื่อนการพัฒนาสุขภาพคนไทยตลอดช่วงชีวิต ให้จัดตั้งคณะทำงานพัฒนารายการบริการ และแนวทางปฏิบัติการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ปีงบประมาณ 2561 เพื่อทบทวนและพัฒนารายการบริการและแนวทางปฏิบัติการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ปี พ.ศ. 2560 พัฒนาฐานข้อมูลการให้บริการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค และการเชื่อมโยงกับระบบ HDC ของ สธ. รวมทั้งกำกับ ติดตาม ผลการดำเนินการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค และปัญหาอุปสรรคในการดำเนินงาน

แม้ สปสช. จะกำหนดรายการสิทธิประโยชน์ด้านการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคสำหรับประชากรไทยแต่ละกลุ่มวัย แต่ยังพบว่ามีข้อจำกัดเนื่องจากผู้ให้บริการขาดแนวทางสำหรับการให้บริการที่เป็นมาตรฐาน ทำให้เกิดความไม่ชัดเจนว่าจะต้องให้บริการที่เหมาะสมอย่างไร ยกตัวอย่างเช่น การศึกษาเกี่ยวกับการดำเนินมาตรการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคในพื้นที่ตัวอย่าง 2 จังหวัด พบว่าการคัดกรองโรคธาลัสซีเมีย ยังข้อจำกัดด้านทักษะการให้คำปรึกษาของผู้ให้บริการ รวมทั้งการให้ข้อมูลและ/หรือการดูแลหญิงตั้งครรภ์หลังจากทราบผลว่าลูกในครรภ์เป็นโรคธาลัสซีเมีย ในลักษณะเดียวกันการประเมินโครงการนำร่องการป้องกันและควบคุมกลุ่มอาการดาวน์ในหญิงตั้งครรภ์ใน 5 จังหวัดนำร่อง พบว่า ผู้ให้บริการขาดแนวทางปฏิบัติในการให้คำปรึกษาที่เป็นมาตรฐานเดียวกันทำให้ผู้บริการปฏิบัติงานตามประสบการณ์หรือความรู้ที่เคยเรียนมาซึ่งมีความแตกต่างกัน ส่งผลให้หญิงตั้งครรภ์ไม่ได้รับข้อมูลที่สำคัญอย่างครบถ้วน ซึ่งอาจทำให้หญิงตั้งครรภ์ปฏิเสธการตรวจกรองหรือเข้าใจผิดเกี่ยวกับกลุ่มอาการดาวน์

นอกจากนี้ประเทศไทยยังขาดกลไกพัฒนาแนวทางมาตรฐานคุณภาพที่เป็นระบบ โปร่งใส อ้างอิงหลักฐานวิชาการ และมีส่วนร่วมจากกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลัก จากประสบการณ์ที่ผ่านมา พบว่า หากการกำหนดตัวชี้วัดขาดหลักฐานทางวิชาการสนับสนุน ขาดการมีส่วนร่วมจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลักแล้ว เมื่อนำสู่การปฏิบัติมีโอกาสประสบผลสำเร็จได้ยาก [14] ดังนั้น สปสช. จึงมอบหมายให้มูลนิธิเพื่อการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (Health Intervention and Technology Assessment Program Foundation, HITAP Foundation) ดำเนินการพัฒนากระบวนการพัฒนาแนวทางมาตรฐานคุณภาพสำหรับบริการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค เพื่อทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงมาตรการในชุดสิทธิประโยชน์ที่มีคุณภาพได้อย่างทั่วถึง เกิดประโยชน์ตามเป้าประสงค์อย่างแท้จริง รวมทั้งสามารถใช้บริหารจัดการและวางแผนติดตามและประเมินผลของมาตรการ/นโยบายทั้งในระดับประเทศและระดับสถานพยาบาล

เอกสารเพิ่มเติม

บทสรุปผู้บริหาร

กิจกรรมและความเคลื่อนไหว