logo


ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อฝ่ายสื่อสารองค์กร HITAP
ชี้แจงความจริงเกี่ยวกับเนื้อหาในบทความ “วิกฤติบริการสาธารณสุข” ลงวันที่ 29 มกราคม 2015 และขอให้หยุดเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่มีข้อความคลาดเคลื่อนและบิดเบือนจากความจริง

2 กุมภาพันธ์ 2558

เรื่อง ชี้แจงความจริงเกี่ยวกับเนื้อหาในบทความ “วิกฤติบริการสาธารณสุข” ลงวันที่ 29 มกราคม 2015 และขอให้หยุดเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่มีข้อความคลาดเคลื่อนและบิดเบือนจากความจริง

เรียน ผู้บริหารเว็บไซต์ไทยพับลิก้า

ตามที่เว็บไซต์ไทยพับลิก้าได้ลงข้อความระบุถึงความไม่ชอบธรรมและมีผลประโยชน์ทับซ้อนของคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) [1] และอ้างถึง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตฯ มาตรา 100 ซึ่งเชื่อมโยงถึง นพ.ณรงค์ศักดิ์ อังคสุวะพลา ในฐานะคณะกรรมการ สปสช. ประธานอนุกรรมการพัฒนาสิทธิประโยชน์และระบบบริการ และประธานอนุกรรมการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ของ สปสช. รวมถึงในฐานะเลขาธิการมูลนิธิเพื่อการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (HITAP) ความแจ้งแล้วนั้น มูลนิธิฯ ขอชี้แจงความจริงว่า

1. มูลนิธิ HITAP จัดตั้งขึ้นมาตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ ปี พ.ศ. 2553 เป็นองค์กรไม่แสวงหากำไร มีวัตถุประสงค์เพื่อ ก) ประเมินเทคโนโลยีด้านสุขภาพของประเทศอย่างมีประสิทธิภาพ โปร่งใส โดยใช้ระเบียบวิธีวิจัยที่มีคุณภาพมาตรฐานระดับสากล ข) พัฒนาระบบ กลไก และเครือข่ายการประเมินเพื่อสนับสนุนให้เกิดการคัดเลือก จัดหา และบริหารจัดการเทคโนโลยี รวมถึงการกำหนดนโยบายด้านสุขภาพอย่างเหมาะสม ค) ดำเนินการเผยแพร่ ประชาสัมพันธ์ ให้ความรู้สู่สาธารณะเพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์จากการประเมิน ทั้งนี้มูลนิธิ HITAP ได้ทำงานวิชาการเพื่อสนับสนุนการตัดสินใจของกระทรวงสาธารณสุข สปสช. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอื่นๆ มาตั้งแต่ก่อตั้ง โดยมี ศ.นพ.ธาดา ยิบอินซอย เป็นประธานมูลนิธิฯ ต่อมาเมื่อ นพ.ธาดา เสียชีวิตลง ทางมูลนิธิ HITAP ได้เห็นชอบให้เชิญ นพ.ณรงค์ศักดิ์ อังคสุวะพลา มาดำรงตำแหน่งประธานมูลนิธิ HITAP สืบต่อจาก นพ.ธาดา เมื่อเดือนมกราคม ปี พ.ศ. 2555 โดยการดำเนินงานของมูลนิธิ HITAP ยังคงเดิมเหมือนเช่นในสมัยที่ นพ.ธาดา ยังดำรงตำแหน่ง ทั้งนี้ นพ.ณรงค์ศักดิ์ เพิ่งได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งคณะกรรมการ สปสช. ประธานอนุกรรมการพัฒนาสิทธิประโยชน์และระบบบริการ และประธานอนุกรรมการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ของ สปสช. ในภายหลัง ซึ่งข้อมูลในเว็บไซต์อาจทำให้ผู้อ่านเข้าใจผิดได้ว่า นพ.ณรงค์ศักดิ์ ดำรงตำแหน่งใน สปสช. แล้วจึงนำมาซึ่งผลประโยชน์แก่มูลนิธิ HITAP ในรูปของการจ้างงาน ซึ่งไม่เป็นความจริง

2. โครงการทั้ง 4 ที่ถูกอ้างถึงในเว็บไซต์ ได้แก่
2.1 โครงการพัฒนาข้อเสนอแนะเชิงนโยบายด้านการคัดกรองทางสุขภาพระดับประชากรในประเทศไทย
2.2 โครงการพัฒนาข้อเสนอเพื่อการปรับปรุงสิทธิประโยชน์และต้นทุนการจัดบริการในชุดสิทธิประโยชน์ด้านการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ภายใต้หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า และการพัฒนานโยบายด้านการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคสำหรับเด็กโตและเยาวชน
2.3 โครงการพัฒนาข้อเสนอเพื่อการปรับปรุงสิทธิประโยชน์และระบบบริการด้านการสร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรคสำหรับผู้ใหญ่/วัยทำงาน ภายใต้หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า
2.4 โครงการพัฒนาข้อเสนอเพื่อการปรับปรุงสิทธิประโยชน์และระบบบริการด้านการสร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรค สำหรับปีงบประมาณ 2559

โครงการดังกล่าวข้างต้นเป็นการจ้างทำงานระหว่าง สปสช. และมูลนิธิ HITAP เนื่องจาก สปสช. เห็นว่ามูลนิธิ HITAP มีความพร้อมทางด้านทีมงานซึ่งประกอบด้วยข้าราชการกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงกลาโหม กระทรวงศึกษาธิการ และพนักงานมูลนิธิ HITAP ซึ่งได้ทำการสอบคัดเลือกเข้ามาทำงานให้กับมูลนิธิ HITAP โดยทีมงานดังกล่าวมีความรู้ความสามารถเป็นการเฉพาะและเป็นที่ประจักษ์ มูลนิธิ HITAP จึงมีสถานะเป็นองค์กรกึ่งราชการที่ไม่แสวงหากำไร ดังนั้น ในการว่าจ้างมูลนิธิ HITAP ทำงานให้ สปสช. จึงไม่ได้เกิดจากการประชุมคณะกรรมการฯหรือคณะอนุกรรมการฯของ สปสช. เพื่อตัดสินใจว่าจ้าง รวมทั้งไม่ได้เกิดจากการประชุมคณะกรรมการของมูลนิธิ HITAP ในการยื่นข้อเสนอเพื่อขอรับงานจ้างแต่อย่างใด ประกอบกับมูลนิธิ HITAP ได้จัดตั้งขึ้นเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของ สปสช. และหน่วยงานราชการอื่นๆ การเป็นกรรมการและประธานอนุกรรมการของ สปสช. และประธานมูลนิธิฯ จึงไม่มีผลต่อการได้รับงานของมูลนิธิ HITAP จาก สปสช. ตามรายการข้างต้น ทั้งนี้โครงการพัฒนาข้อเสนอแนะเชิงนโยบายด้านการคัดกรองทางสุขภาพระดับประชากรในประเทศไทย และโครงการพัฒนาข้อเสนอเพื่อการปรับปรุงสิทธิประโยชน์และต้นทุนการจัดบริการในชุดสิทธิประโยชน์ด้านการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ภายใต้หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าและการพัฒนานโยบายด้านการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคสำหรับเด็กโตและเยาวชน มีการทำสัญญาระหว่าง สปสช. และมูลนิธิ HITAP ก่อนที่ นพ.ณรงค์ศักดิ์ จะดำรงตำแหน่ง คณะกรรมการ สปสช. ประธานอนุกรรมการพัฒนาสิทธิประโยชน์และระบบบริการ และประธานอนุกรรมการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ของ สปสช.

3. นพ.ณรงค์ศักดิ์ ดำรงตำแหน่งประธานมูลนิธิ HITAP มิใช่ตำแหน่งเลขาธิการมูลนิธิ HITAP ตามที่ได้อ้างถึงในเว็บไซต์ โดยมูลนิธิ HITAP มีเลขาธิการ ชื่อ นพ.ยศ ตีระวัฒนานนท์ ซึ่งดำรงตำแหน่งดังกล่าวมาตั้งแต่แรกตั้ง เมื่อปี พ.ศ. 2553

4. สืบเนื่องจากมูลนิธิ HITAP เป็นองค์กรไม่แสวงหากำไร การเป็นประธานมูลนิธิฯ ของ นพ.ณรงค์ศักดิ์ ไม่ได้รับผลประโยชน์ใดๆจากมูลนิธิฯ นอกจากเบี้ยประชุมกรรมการปีละประมาณ 3,000- 6,000 บาทเท่านั้น ประธานและกรรมการมูลนิธิฯ มีหน้าที่ในการตรวจสอบความถูกต้องและโปร่งใสของการบริหารงานและงบประมาณของมูลนิธิฯ รวมทั้งให้ข้อเสนอแนะในเรื่องต่างๆ แก่เลขาธิการมูลนิธิฯ ในภาพรวม เท่านั้น การดำเนินงาน ปริหารงาน การจัดทำข้อเสนอของบประมาณ การใช้จ่ายงบประมาณ การบริหาร บุคคลากร การพัสดุ ฯลฯ ล้วนแต่อยู่ในการจัดการและควบคุมของเลขาธิการมูลนิธิฯ และหัวหน้าแผนงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเท่านั้น

5. ผลการดำเนินงานทั้ง 4 โครงการของมูลนิธิฯ ได้สร้างคุณประโยชน์อย่างมหาศาลต่อการทำงานของ สปสช. หน่วยงานอื่นๆ ในระบบสุขภาพและประชาชน เช่น

5.1 โครงการพัฒนาข้อเสนอแนะเชิงนโยบายด้านการคัดกรองทางสุขภาพระดับประชากรในประเทศไทย นำไปสู่การปรับนโยบายการคัดกรองโรคเบาหวานของทั้งกระทรวงสาธารณสุขและ สปสช. จากที่เคยคัดกรองในประชากรอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป เป็นการคัดกรองที่อายุ 30 ปี ขึ้นไป[2] นำไปสู่ความพยายามในการคัดกรองโรคไวรัสตับอักเสบเพื่อให้การรักษาและป้องกันโรคมะเร็งตับซึ่งเป็นมะเร็งที่ทำให้คนไทยเสียชีวิตมากเป็นอันดับที่หนึ่งทั้งในเพศชายและหญิง[3] [4] การลดการคัดกรองสุขภาพด้วยการถ่ายภาพรังสีปอด (เอ็กซเรย์ปอด) เพราะพบว่าไม่มีประโยชน์แต่เกิดโทษและเพิ่มโอกาสของการป่วยเป็นมะเร็งปอดจากการได้รับรังสีโดยไม่จำเป็น กล่าวได้ว่าโครงการดังกล่าวนอกจากช่วยเหลือป้องกันโรคร้ายแรงที่จะเกิดขึ้นกับคนไทยแล้วยังส่งผลให้ประเทศชาติประหยัดงบประมาณไม่น้อยกว่า 5,000 ล้านบาทต่อปี นอกจากนี้ยังเป็นที่สนใจของสื่อมวลชนในประเทศนำไปสู่การเผยแพร่ให้ความรู้ต่อสาธารณะชนทั้งทางหนังสือพิมพ์ [5] [6] [7] [8] [9] โทรทัศน์ [10] [11] และสื่อออนไลน์ [12] [13] [14] และถูกเชิญจากวารสารวิชาการที่มีชื่อเสียงระดับโลกให้นำบทความซึ่งเป็นความรู้จากโครงการนี้นำไปเผยแพร่ในระดับนานาชาติ สร้างประโยชน์ในกับประเทศอื่นๆ และสร้างภาพลักษณ์และชื่อเสียงให้กับประเทศไทย [15]

5.2 โครงการพัฒนาข้อเสนอเพื่อการปรับปรุงสิทธิประโยชน์และต้นทุนการจัดบริการในชุดสิทธิประโยชน์ด้านการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ภายใต้หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า และการพัฒนานโยบายด้านการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคสำหรับเด็กโตและเยาวชน นำไปสู่โครงการนำร่องการตรวจคัดกรองความผิดปกติทางสายตาในโรงเรียนอนุบาลและประถมศึกษาใน 10 จังหวัด [16] ซึ่งทำให้เด็กไทยกว่า 50,000 คนได้รับการตรวจคัดกรองทางสายตาและเด็กจำนวนกว่า 2,000 คนได้รับการรักษา แก้ไขภาวะผิดปกติทางสายตา[17] ซึ่งหากไม่มีการแก้ไขจะนำไปสู่ความบกพร่องทางพัฒนาการ ความสามารถในการศึกษา และอาจทำให้เกิดโรคตาขี้เกียจซึ่งความพิการถาวรติดต่อเด็กไปจนโต นอกจากนี้โครงการดังกล่าวยังทำให้ผู้บริหารและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเกิดความตระหนักในปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น ปัญหาเด็กติดเกม และปัจจัยเสี่ยงอื่นซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญต่อปัญหาสุขภาวะของเด็กและปัญหาทางสังคมและเศรษฐกิจของประเทศ [18] [19] [20] [21] [22]

5.3 โครงการพัฒนาข้อเสนอเพื่อการปรับปรุงสิทธิประโยชน์และระบบบริการด้านการสร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรคสำหรับผู้ใหญ่/วัยทำงาน ภายใต้หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า โดยข้อค้นพบนำไปสู่นโยบายใหม่ในการตรวจคัดกรองความเสี่ยงโดยรวมสำหรับป้องกันโรคหัวใจและหลอดเลือด ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของการเสียชีวิตของคนไทยในวัยทำงานและวัยสูงอายุ การที่กระทรวงสาธารณสุขและ สปสช. ยอมรับในหลักการที่จะบรรจุการคัดกรองความเสี่ยงรวมในแผนการทำงานและชุดสิทธิประโยชน์ฯ จะส่งผลให้คนไทยที่ไม่เคยได้รับการประเมินความเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือดโดยเฉพาะคนจนและผู้ที่มีการศึกษาน้อยจะได้รับคัดกรองและการป้องกันที่เหมาะสมและลดการใช้ยาลดไขมันในเลือดโดยไม่จำเป็นสำหรับคนที่ไม่เคยได้รับการประเมินความเสี่ยง คิดเป็นการประหยัดงบประมาณให้ประเทศชาติได้กว่า 3,000 ล้านบาทต่อปี นอกจากนี้ข้อค้นพบที่สำคัญซึ่งเกี่ยวข้องกับระบบประกันสังคมยังได้รับการเผยแพร่ในวงกว้าง [23] [24] [25] และนำไปสู่การปรับปรุงกรอบการทำงานของคณะทำงานปฏิรูประบบประกันสังคมที่แต่เดิมให้ความสำคัญเฉพาะการบริหารจัดการ งบประมาณของกองทุนประกันสังคม [26] เป็นการปฏิรูปสิทธิประโยชน์ของผู้ประกันตนอย่างกว้างขวาง [27]

5.4 โครงการพัฒนาข้อเสนอเพื่อการปรับปรุงสิทธิประโยชน์และระบบบริการด้านการสร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรค สำหรับปีงบประมาณ 2559 โครงการนี้ถึงแม้จะยังไม่สิ้นสุดโครงการและอยู่ในระหว่างการดำเนินงาน ข้อค้นพบเบื้องต้นนำไปสู่การตัดสินใจของคณะอนุกรรมการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ของ สปสช. ในการแก้ไขชุดสิทธิประโยชน์ด้านการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ซึ่งจะเริ่มมีผลต่อบริการแก่ประชาชนตั้งแต่เดือนตุลาคม พ.ศ. 2559 เป็นต้นไป โดยมีหลักฐานชัดเจนว่าชุดสิทธิประโยชน์ใหม่จะทำให้คนไทยทุกกลุ่มอายุได้รับประโยชน์จากมาตรการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคเพิ่มมากขึ้น ระบบสุขภาพมีประสิทธิภาพสูงขึ้น

จะเห็นได้ว่าโครงการทั้ง 4 นั้น เป็นการลงทุนของ สปสช. เพื่อให้มูลนิธิ HITAP จัดทำข้อเสนอแนะทางนโยบายแก่ สปสช. เพื่อให้เกิดการใช้เงินภาษีของประชาชนอย่างคุ้มค่ามากยิ่งขึ้นและด้วยผลงานของมูลนิธิ HITAP ได้ทำให้บรรลุเป้าหมายนั้นเป็นอย่างดี นอกจากนี้ผลงานของโครงการทั้ง 4 ยังถูกนำไปใช้ประโยชน์ในวงกว้าง รวมทั้งกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งมีนโยบายในการดำเนินงานเพื่อการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคในแต่ละกลุ่มวัย และหน่วยงานของกระทรวงอื่นๆ จึงกล่าวได้ว่า โครงการทั้ง 4 สร้างคุณประโยชน์มหาศาลต่อระบบสุขภาพและประชาชนไทย

มูลนิธิ HITAP ยินดีให้ท่านสืบค้นข้อมูลต่างเพิ่มเติมนอกเหนือจากที่ได้ระบุไว้ในหนังสือฉบับนี้ โดยติดต่อมายังเลขาธิการมูลนิธิที่ ชั้น 6 อาคาร 6 กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข นนทบุรี 11000 หรือเบอร์โทรศัพท์ 025904549
จากความจริงข้างต้น มูลนิธิ HITAP จึงขอเรียนมายังเว็บไซต์ไทยพับลิก้า เพื่อขอให้หยุดเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร “วิกฤติบริการสาธารณสุข” ลงวันที่ 29 มกราคม 2015 ที่มีข้อความคลาดเคลื่อน บิดเบือนจากความจริง ในทันที นอกจากนี้ หากปรากฏว่ามูลนิธิฯ ได้รับความเสียหายจากบทความดังกล่าวไม่ว่ากรณีใดๆ ทางมูลนิธิฯขอสงวนสิทธิที่จะดำเนินคดีต่อผู้กระทำความผิดนั้นๆ รวมทั้งผู้ที่นำบทความดังกล่าวไปเผยแพร่ ใช้อ้างอิง หรือขยายผลต่อ ทั้งทางแพ่งและทางอาญาต่อไป

จึงเรียนมาเพื่อทราบ
ขอแสดงความนับถือ

(นพ.ยศ ตีระวัฒนานนท์)
เลขาธิการมูลนิธิเพื่อการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ

อ้างอิง
[1] http://thaipublica.org/2015/01/public-health-services-53/
[2] http://www.hed.go.th/frontend/theme/content.php?Submit=Clear&ID_Info=00026786&Type=3
[3] http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9580000008387
[4] http://www.nhso.go.th/frontend/NewsInformationDetail.aspx?newsid=MTAxMg==
[5] http://www.khaosod.co.th/view_newsonline.php?newsid=TVRNM056UTROVEkyTUE9PQ==&catid=11
[6] http://www.hfocus.org/content/2013/02/2287
[7] http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9560000106204
[8] http://www.thaipost.net/news/010213/68912
[9] http://www.naewna.com/lady/columnist/7160
[10] https://www.hitap.net/news/24143
[11] https://www.youtube.com/watch?v=kkdvoQUj7P4
[12] http://www.trueplookpanya.com/new/cms_detail/general_knowledge/17438
[13] http://www.chaladsue.com/index.php/Flows-in-the-country2/1630-country151.html
[14] http://waymagazine.org/report/health-checkup-package
[15] http://www.thelancet.com/journals/lanonc/article/PIIS1470-2045(13)70547-3/abstract
[16] http://www.hfocus.org/content/2014/04/6855
[17] http://journals.plos.org/plosone/article?id=10.1371/journal.pone.0096684
[18] http://www.cps.chula.ac.th/library/popupdate/?paged=2
[19] http://mcpswis.mcp.ac.th/html_edu/cgi-bin/mcp/main_php/print_informed.php?id_count_inform=12869
[20] http://crime.tnews.co.th/content/71520/
[21] http://www.hfocus.org/content/2013/10/4999
[22] http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1380869812
[23] http://www.thairath.co.th/content/464178
[24] http://www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9570000133165
[25] http://www.bangkokbiznews.com/mobile/xhtml/news/detail/00/618207/
[26]  http://www.thairath.co.th/content/462353
[27] https://humanrevod.wordpress.com/2015/01/21/ข่าวเกี่ยวกับการปฏิรูป/

2 กุมภาพันธ์ 2558

Next post > หนุนสร้างองค์กรสุขภาวะ (ข่าวสด ฉบับวันที่ 4 ก.พ. 2558 - กรอบบ่าย)

< Previous post “บริการอนามัยโรงเรียน” ถึงเวลาต้องประเมินคุณภาพ

Related Posts