ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อฝ่ายสื่อสารองค์กร HITAP
เมื่อวันที่ 27-28 พฤศจิกายน 2557 ที่ผ่านมา ผู้บริหารระดับสูง บุคลากรทางการแพทย์ ตัวแทนผู้ป่วย และภาคประชาสังคมทั้งในและต่างประเทศในภูมิภาคเอเชียและสหราชอาณาจักร ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินนโยบาย หรือการให้บริการสุขภาพสำหรับผู้ป่วยโรคไต อาทิ รัฐมนตรีสาธารณสุขประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ผู้แทนรัฐมนตรีสาธารณสุข ประเทศกัมพูชา และผู้แทนหน่วยงานประกันสุขภาพ ทั้งจากประเทศฟิลิปินส์ ฮ่องกง เวียดนาม และมาเลเซีย ตลอดจนผู้แทนจากโรงเรียนแพทย์จากประเทศอินโดนีเซีย เป็นต้น ได้เข้าร่วมการประชุมนานาชาติ “นโยบายล้างไตผ่านช่องท้องเป็นทางเลือกแรก” (PD First Policy) ณ โรงแรมคอร์ทยาร์ด แมริออท กรุงเทพ ฯ ซึ่งจัดขึ้นโดยความร่วมมือของหลายองค์กรในประเทศและต่างประเทศ ได้แก่ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กระทรวงสาธารณสุข สมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย มูลนิธิโรคไตแห่งประเทศไทย มหาวิทยาลัยมหิดล มูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์ ไนซ์ (NICE) และโครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (HITAP)โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้เกิดการพัฒนาแนวทางการดำเนินงานนโยบายล้างไตผ่านช่องท้องเป็นทางเลือกแรกในประเทศของตน ภายในงานมี ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดการการประชุม
ศ.นพ.รัชตะกล่าวว่า ตั้งแต่มีการบรรจุการล้างไตผ่านช่องท้อง (CAPD: Continuous Ambulatory Peritoneal Dialysis) เป็นการรักษาในขั้นแรกในสิทธิประโยชน์สำหรับการบำบัดผู้ป่วยไตวายระยะสุดท้ายในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า สามารถช่วยให้ผู้ป่วยไตวายระยะสุดท้ายที่เป็นมาตรฐาน ประหยัด ใช้บุคลากรทางการแพทย์ไม่มาก และผู้ป่วยสามารถล้างไตได้เองที่บ้าน ทำให้สามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ ไม่ต้องเสียเวลามารับการฟอกไตที่หน่วยบริการสัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง โดยในช่วง 7 ปีของการดำเนินนโยบายสิทธิประโยชน์ล้างไตผ่านช่องท้อง จากความร่วมมือของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ก่อให้เกิดการพัฒนาระบบการดูและผู้ป่วยอย่างต่อเนื่อง ทั้งในแง่การให้บริการ การดูแลรักษา รวมไปถึงการจัดส่งน้ำยาล้างไตที่ส่งตรงถึงบ้านผู้ป่วย ทำให้ผู้ป่วยล้างไตผ่านช่องท้องในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าไม่เพียงแต่มีชีวิตที่ยืนยาวขึ้น แต่ยังมีคุณภาพชีวิตมากขึ้น ทำให้ประเทศไทยได้รับการยอมรับและเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้การดำเนินงานล้างไตผ่านช่องท้อง ที่ผ่านมาจึงมีผู้แทนจากประเทศต่าง ๆ เข้าดูการดำเนินนโยบายนี้ของไทยอย่างต่อเนื่อง
“ไม่แต่เฉพาะประเทศไทยที่ให้บริการการล้างไตผ่านช่องท้อง แต่หลายประเทศได้นำวิธีการนี้ไปใช้ในการดูแลผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นประเทศไต้หวัน ฮ่องกง และอินเดีย รวมไปถึงประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาค ซึ่งในการประชุมครั้งนี้นับเป็นโอกาสที่ดีในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ นำไปสู่การพัฒนาการดูแลผู้ป่วยล้างไตผ่านช่องท้องของแต่ละประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยเฉพาะประเทศไทยที่ได้มีการดำเนินนโยบาย ส่งผลสำเร็จให้ผู้ป่วยไตเข้าถึงบริการอย่างทั่วถึง”
ด้าน นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า ปัจจุบันในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า มีผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายเข้ารับการล้างไตผ่านช่องท้อง 17,281 คน ขณะที่หน่วยบริการ CAPD เพิ่มขึ้นจาก 23 แห่งในปี 2550 เป็น 175 แห่ง มีศูนย์พัฒนาเทคโนโลยีและฝึกอบรม 4 เครือข่าย แพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคไตที่ผ่านการอบรมการผ่าตัดวางสายล้างไตทางช่องท้องมีจำนวนเพิ่มขึ้น 226 คน พยาบาลวิชาชีพที่ผ่านการอบรมหลักสูตร 4 เดือน มีจำนวน 13 รุ่น รวม 466 คน และเริ่มมีการอบรมให้กับพยาบาลที่ปฏิบัติงานใน รพ.สต. ที่เป็นลูกข่ายรับส่งต่อดูแลผู้ป่วยในชุมชนร่วมกับ รพ.แม่ข่ายและยังมีชมรมเพื่อนโรคไต จิตอาสาและมิตรภาพบำบัดเพื่อผู้ป่วยโรคไตในจังหวัดต่าง ๆ อีกเป็นจำนวนมาก
ในการประชุม ตัวแทนจากฮ่องกง สหราชอาณาจักรและไทย ได้นำเสนอสถานการณ์โรคไตและการรักษาด้วยการล้างไตในประเทศของตน ได้แก่ Prof. Philip K.T. Li ประธาน International Society of Peritoneal Dialysis จาก ฮ่องกง สาธารณรัฐประชาชนจีน นำเสนอในงานประชุมถึงสถานการณ์ภาระโรคของภาวะไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายทั่วโลก : ทางออกและการพัฒนาในอนาคตว่า โรคไตวายเรื้อรังทั่วโลกมีความชุกเพิ่มขึ้น โดยมีสาเหนุหลัก คือ โรคเบาหวาน ส่วนสาเหตุการเสียชีวิตสำคัญของผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรัง คือ โรคหัวใจและหลอดเลือด และคนฮ่องกงยังขาดความเข้าใจเกี่ยวกับสาเหตุของการเป็นโรคไตที่มาจากโรคความดันโลหิตสูง
ด้าน Dr. Donal O’Donahue, National Clinical Director for Kidney Care & Consultant Renal Physician จาก Salford Royal NHS Foundation Trust กล่าวถึง การจัดบริการสุขภาพสำหรับผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายในประเทศที่มีรายได้สูงว่า โดยประเทศอังกฤษมักพบผู้ป่วยมากที่อายุ 75 ปีขึ้นไป การรักษาโรคไตเรื้อรังต้องใช้งบประมาณสูงมาก ทั้งในการรักษาและจัดบริการ ในด้านการจัดการพบว่า โรคไตเป็นโรคที่ต้องปรับปรุงการสื่อสารเพื่อสร้างความเข้าใจและตระหนักถึงสาเหตุเพื่อการป้องกันและการปฏิบัติตัวของผู้ป่วยในวงกว้าง ประสบการณ์จากประเทศอังกฤษพบว่าการรักษาโรคไตวายต้องอาศัยทั้งความก้าวหน้าทางการแพทย์และสาธาณสุข และการขับเคลื่อนทางสังคม
ส่วนประเทศไทย นพ.วิโรจน์ ตั้งเจริญเสถียร เลขาธิการมูลนิธิเพื่อการพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ กล่าวถึง ความท้าทายในการรักษาโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย ว่าถึงแม้ว่านโยบายการล้างไตผ่านช่องท้องจะประสบความสำเร็จ โดยมีผู้ป่วยมารับบริการมากขึ้น แต่ก็ภาครัฐก็ยังแบกรับค่าใช้จ่ายที่สูงมาก ซึ่งอาจไม่เป็นผลดีต่องบประมาณในภาวะที่เศรษฐกิจตกต่ำ อีกทั้งยังมีผู้ป่วยโรคเบาหวานอีกถึงร้อยละ 40 ที่ยังไม่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคไตด้วยหรือไม่ นอกจากนี้จะต้องมีการพัฒนาการผ่าตัดเปลี่ยนไตเนื่องจากเป็นการรักษาโรคไตวายที่เหมาะสมที่สุด และต้องมีการพัฒนาบุคลากรให้พอกับความต้องการด้วย
หลังจากนั้นผู้เข้าร่วมประชุมได้ไปศึกษาดูงานที่โรงพยาบาลและบ้านผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายที่โรงพยาบาลบ้านแพ้ว จังหวัดสมุทรสาคร และโรงพยาบาลพระนั่งเกล้า จังหวัดนนทบุรี โดยมีบุคคลากรของโรงพยาบาล นำคณะผู้เข้าร่วมประชุมเข้าชมการนำเสนอวิธีล้างไตผ่านหน้าท้องให้กับผู้ป่วย และนำเสนอถึงกระบวนการทำงานของ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ที่เพิ่มโอกาสให้ผู้ป่วยโรคไตเข้าถึงสิทธิและบริการรักษาโรคไตได้มากขึ้น
นอกจากนั้นยังมีวิทยากรที่เคยเป็นผู้ป่วยโรคไตมาก่อน ให้ความรู้และการปฏิบัติตัวของผู้ป่วยโรคไต และนำคณะผู้เข้าร่วมประชุมเข้าชมผลิตภัณฑ์ของชมรมผู้ป่วยโรคไต (BD PD) ที่จัดทำกระเป๋าที่ทำมาจากถุงน้ำเกลือใช้แล้วที่มีความเหนียวเป็นพิเศษเพื่อสร้างรายได้ และเป็นกิจกรรมที่สร้างความสัมพันธ์ระหว่างผู้ป่วย
ผู้เข้าร่วมกระชุมยังได้เดินทางไปศึกษา การปฏิบัติตัวของผู้ป่วยที่ทำการล้างไตด้วยตนเองผ่านช่องท้องที่บ้าน
ซึ่งผู้ป่วยได้บรรยายให้ฟังว่า “ตั้งแต่ทำการล้างไตด้วยตนเองที่บ้าน ก็มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เพราะเสียค่าใช้จ่ายถูกลงกว่าตอนต้องไปล้างไตที่โรงพยาบาลจุฬามากกว่าครึ่ง และการล้างไตด้วยตนเองก็ประหยัดทั้งเวลา และสะดวกในการทำ แต่ต้องมีวินัยในการจดบันทึกสถิติการล้างไตในแต่ละวันอย่างชัดเจน”
4 ธันวาคม 2557