HITAP Foundation รับรางวัลเกียรติยศ “5 ทศวรรษ ระบบยาประเทศไทย” พร้อมร่วมเสวนาทิศทางบัญชียาหลักแห่งชาติ

วันที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2568 ณ โรงแรมแกรนด์ ริชมอนด์ สไตลิช คอนเวนชั่น มูลนิธิเพื่อการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (HITAP Foundation) ได้รับรางวัลเกียรติยศ 5 ทศวรรษ ระบบยาประเทศไทย สาขาหน่วยวิจัยระบบยา ในงานประชุมวิชาการ “ก้าวเข้าสู่ ทศวรรษที่ 5 ของระบบยาประเทศไทย” ซึ่งจัดขึ้นโดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) โดยมีนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานมอบรางวัล
งานประชุมครั้งนี้จัดขึ้นภายใต้แนวคิด “Bridging Health and Wealth: The Strategic Impact of Drug System” โดยมีเป้าหมายเพื่อสรุปผลลัพธ์การดำเนินนโยบายแห่งชาติด้านยา และส่งเสริมการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ (พ.ศ. 2566 – พ.ศ. 2570) นอกจากนี้ ยังมีการเสวนาในประเด็นสำคัญ อาทิ 4 ทศวรรษ นโยบายแห่งชาติด้านยา ทิศทางและความท้าทายของระบบยา ตลอดจนถึงมีการจัดแสดงนิทรรศการ และพิธีมอบรางวัลเชิดชูเกียรติบุคคลและองค์กรที่มีบทบาทสำคัญ โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมจากผู้แทนภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน เครือข่ายผู้ประกอบการด้านยา บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข รวมถึงผู้มีบทบาทสำคัญในระบบยา
ดร.ณหทัย ทิวไผ่งาม ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้ให้เกียรติกล่าวเปิดงานและเน้นย้ำถึงบทบาทของทุกภาคส่วนในการพัฒนาระบบยาของประเทศไทย “50 ปีที่ผ่านมา ระบบยาของประเทศไทยต้องเผชิญกับความท้าทายในหลาย ๆ ด้าน ทั้งการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี การเชื่อมต่อการค้าการลงทุน ซึ่งล้วนเป็นปัจจัยสำคัญอย่างยิ่งที่ส่งผลกระทบต่อระบบยา จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกันก้าวผ่านความท้าทายเหล่านี้ และร่วมกันยกระดับระบบยาของประเทศไทยให้มีความมั่นคง ควบคู่ไปกับการสร้างเสริมเศรษฐกิจของประเทศไทย”
ภายในงาน รศ. ดร.วรรณฤดี อิสรานุวัฒน์ชัย คณะทำงานเศรษฐศาสตร์สาธารณสุข เลขาธิการมูลนิธิ และนักวิจัยอาวุโสของ HITAP Foundation ได้ร่วมอภิปรายในหัวข้อ “ทิศทางและความท้าทายของบัญชียาหลักแห่งชาติในการเข้าถึงยา” ซึ่งกล่าวถึงกระบวนการคัดเลือกยาเข้าสู่บัญชียาหลักแห่งชาติ โดยตอกย้ำบทบาทของคณะทำงานเศรษฐศาสตร์สาธารณสุขในการสนับสนุนกระบวนการพัฒนาบัญชียาหลักแห่งชาติ “ในการลงทุนทำสิ่งต่าง ๆ เราต้องใช้ข้อมูลในการตัดสินใจ หนึ่งในเครื่องมือสำคัญคือ การประเมินเทคโนโลยีด้านสุขภาพ (Health Technology Assessment: HTA) ซึ่งใช้ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2551 จนถึงปัจจุบัน และมีการพัฒนามาเป็นการประเมิน HTA อย่างเร็ว (rapid HTA) ที่ตั้งกรอบเวลาไว้ที่ 6 เดือน อีกทั้งยังมีแนวทาง Distributional Cost-Effectiveness Analysis (DCEA) ซึ่งไม่เพียงพิจารณาต้นทุนและผลลัพธ์ทางสุขภาพ แต่ยังคำนึงถึงประเด็นความไม่เสมอภาคด้วย โดยมีกลุ่มนักวิจัย 13 ทีมทั่วประเทศที่สนับสนุนกระบวนการนี้ สิ่งที่เราทำในวันนี้จะเป็นจุดกำหนดทิศทางของระบบยาในอนาคต ทั้งในแง่ของความยั่งยืนและความมั่นคงของระบบสุขภาพ”
นอกเหนือจากการอภิปรายแล้ว HITAP Foundation ยังจัดแสดงนิทรรศการ “งบจำกัด จะเลือกอย่างไร? คุยเรื่องยาและความคุ้มค่าในบัญชียาหลักแห่งชาติ” เพื่อนำเสนอหลักการประเมินความคุ้มค่าในการคัดเลือกยา เปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมสัมผัสกระบวนการคัดเลือกยาแบบจำลอง โดยสวมบทบาทเป็นผู้กำหนดนโยบายที่ต้องตัดสินใจเลือกยาภายใต้งบประมาณที่จำกัด
การประชุมครั้งนี้ถือเป็นเวทีสำคัญในการแลกเปลี่ยนความรู้ และกำหนดแนวทางขับเคลื่อนระบบยาไทยในอนาคต โดย HITAP Foundation ยังคงมุ่งมั่นที่จะมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาและสนับสนุนหลักฐานเชิงประจักษ์เพื่อใช้ในการตัดสินใจเชิงนโยบายสำหรับการพัฒนาบัญชียาหลักแห่งชาติต่อไป