logo
ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อฝ่ายสื่อสารองค์กร HITAP
“MIDAS Medical Innovation Hackathon 2025” เวทีขับเคลื่อนนวัตกรรมทางการแพทย์ สู่สิทธิประโยชน์ของคนไทย

เมื่อวันที่ 15-16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2568 ณ โรงแรมพูลแมน คิง เพาเวอร์ กรุงเทพ (รางน้ำ) มูลนิธิเพื่อการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (HITAP Foundation) และฝ่ายประเมินเทคโนโลยีด้านสุขภาพเพื่อการผลิตนวัตกรรม (Medical Innovation Development and Assessment Support: MIDAS) ร่วมกับศูนย์นวัตกรรมสุขภาพ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (MED CMU Health Innovation Center: MEDCHIC) และสถาบัน เค อะโกร อินโนเวท (K Agro Innovate) ภายใต้มูลนิธิกสิกรไทย ได้จัดการแข่งขัน MIDAS Medical Innovation Hackathon 2025” งานประกวดนวัตกรรมทางการแพทย์รอบชิงชนะเลิศ เพื่อผลักดันให้เกิดการพัฒนานวัตกรรมด้านสุขภาพให้ก้าวสู่การนำไปใช้จริงในเชิงพาณิชย์ ผ่านแนวทางการประเมินความคุ้มค่าตั้งแต่ระยะพัฒนานวัตกรรม (Early Health Technology Assessment: early HTA)

“MIDAS Medical Innovation Hackathon 2025” ไม่ใช่แค่เวทีการแข่งขันเพื่อเฟ้นหานวัตกรรมทางการแพทย์ที่มีศักยภาพในการต่อยอดเท่านั้น แต่ยังเป็นจุดเริ่มต้นของการนำเทคโนโลยีสุขภาพเข้าสู่ชุดสิทธิประโยชน์ภายใต้ระบบประกันสุขภาพของไทยอีกด้วย เพื่อให้ประชาชนทุกคนสามารถเข้าถึงการรักษาที่มีประสิทธิภาพได้อย่างเท่าเทียม โดยไม่มีประเด็นเรื่องค่าใช้จ่ายเป็นข้อจำกัด

นอกจากนี้ การแข่งขันนี้ยังช่วยสร้างเครือข่ายสำคัญ โดยเชื่อมโยงนักพัฒนา นักวิจัย และผู้ประกอบการทั้งภาครัฐและเอกชน ในการร่วมกันผลักดันให้นวัตกรรมทางการแพทย์ของไทยก้าวสู่ระดับสากล เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับประเทศ ยกระดับไทยสู่การเป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ (Medical Hub)

ด้วยเหตุนี้ “MIDAS Medical Innovation Hackathon 2025” จึงได้รับความสนใจจากนักพัฒนานวัตกรรมทั่วประเทศ โดยมีผู้ส่งผลงานเข้าประกวดถึง 152 ผลงาน ครอบคลุมตั้งแต่อุปกรณ์ทางการแพทย์ ยา ชีววัตถุ อาหารเสริม และดิจิทัลแพลตฟอร์มทางการแพทย์ ก่อนคัดเลือกเหลือเพียง 10 ทีมสุดท้ายเพื่อแข่งขันรอบชิงชนะเลิศ ชิงเงินรางวัลกว่า 1.4 ล้านบาท พร้อมทั้งโอกาสในการต่อยอดและพัฒนานวัตกรรม

ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ให้เกียรติกล่าวเปิดงานโดยเน้นย้ำถึงความมุ่งมั่นในการผลักดันนวัตกรรมทางการแพทย์ของไทยให้ก้าวสู่การใช้งานได้จริงในระบบสาธารณสุข “สปสช. เป็นหนึ่งในองค์กรที่ดูแลสุขภาพคนไทยด้านค่ารักษาพยาบาล ซึ่งต้องคำนึงถึงการลดการใช้งบประมาณของประเทศ หากต้องใช้เงิน ก็ควรเป็นการสนับสนุนหน่วยงานในประเทศ เราโชคดีที่ประเทศไทยมีหลายหน่วยงานที่สนับสนุนแนวคิดนี้ วันนี้ HITAP Foundation เป็นอีกหนึ่งหน่วยงานที่ร่วมมือกับศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (TCELS) จัดงาน MIDAS Medical Innovation Hackathon 2025 ทุกคนที่อยู่ที่นี่คือความหวังของประเทศ กิจกรรมนี้จะเป็นกิจกรรมที่มีความหมายและเป็นโอกาสที่ดีอย่างยิ่ง เพราะถือเป็นก้าวสำคัญในการสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับวงการแพทย์ของประเทศไทย

ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ กล่าวเปิดงาน MIDAS Medical Innovation Hackathon 2025

โดยกิจกรรมในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ มีการจัดเวทีเสวนาจากวิทยากรผู้เชี่ยวชาญจากหลากหลายสาขา เช่น ภาคสาธารณสุข ภาคการศึกษาวิจัยและพัฒนา และภาคเอกชน ซึ่งล้วนมีประสบการณ์่เกี่ยวข้องกับกระบวนการในขั้นตอนต่าง ๆ ในการพัฒนานวัตกรรมทางการแพทย์์ เพื่อมาร่วมแบ่งปันความรู้และจุดประกายไอเดียแก่ผู้เข้าแข่งขันและผู้เข้าร่วมงาน อาทิ คุณนริศา มัณฑางกูร จากศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน), คุณพงษ์ชัย เพชรสังหาร ประธานสมาคมการค้าเฮลท์เทคไทย และผู้ก่อตั้งและผู้บริหาร Dietz.asia, ดร. นพ.ยศ ตีระวัฒนานนท์ เลขาธิการมูลนิธิเพื่อการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (HITAP Foundation), ดร.รณกร ไวยวุฒิ ผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนานวัตกรรม สถาบันนวัตกรรมบูรณาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, คุณนวกร รัตนมณี Investment Lead ของ MAX Ventures, ดร.เฉลิมพล ปุณโณทก ผู้พัฒนาหุ่นยนต์ดินสอ, คุณภัทราภรณ์ กันยะมี ผู้ก่อตั้ง The Little Onion Factory และ อ.พญ.สุธาพร ล้ำเลิศกุล ผู้เขียนหนังสือพูดด้วยภาพ

คุณนริศา มัณฑางกูร กล่าวในการเสวนาหัวข้อ “แนวโน้มการขับเคลื่อนการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมด้านการแพทย์” ว่าการนำนวัตกรรมสุขภาพเข้าสู่ระบบสาธารณสุขไทยยังคงเผชิญความท้าทายหลายด้าน ประเด็นแรกคือ การเข้าถึงแหล่งทุน ซึ่งเป็นอุปสรรคทั้งสำหรับนักวิจัยที่ต้องการทุนเพื่อพัฒนานวัตกรรม และหน่วยงานให้ทุนที่ต้องชี้แจงต่อภาครัฐว่าเงินทุนเหล่านี้จะช่วยขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศอย่างไร ประเด็นถัดมา คือ มาตรฐานหรือการรับรองด้านความปลอดภัยและคุณภาพ เพื่อให้นวัตกรรมนั้นสามารถใช้งานได้จริงในระบบสาธารณสุข รวมถึงสามารถส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศ ทั้งนี้ ความท้าทายที่สำคัญที่สุด คือการสร้างความเชื่อมั่นในนวัตกรรมไทย ซึ่งต้องสร้างการรับรู้ในวงกว้าง แต่ละนวัตกรรมจะมีวิธีที่เหมาะสมแตกต่างกันไป ถือว่าเป็นความท้าทายที่นักพัฒนาจะต้องก้าวผ่านไปให้ได้

คุณนริศา มัณฑางกูร เสวนาเรื่อง “แนวโน้มการขับเคลื่อนการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมด้านการแพทย์” ร่วมกับดร.ธีรวัฒน์ วิวัฒน์พาณิชย์

ดร. นพ.ยศ ตีระวัฒนานนท์ เลขาธิการมูลนิธิเพื่อการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (HITAP Foundation) ร่วมเสวนาหัวข้อ “Early Health Technology Assessment: the Road to Market Access and Reimbursement” มุ่งเน้นเรื่องการประเมินความคุ้มค่าของเทคโนโลยีสุขภาพระยะเริ่มต้น (Early HTA) ดร. นพ.ยศกล่าวว่า “การนำนวัตกรรมทางการแพทย์เข้าสู่ระบบนั้นแตกต่างจากสินค้าอื่น ๆ ที่สามารถส่งตรงจากผู้ผลิตถึงผู้บริโภคได้โดยง่าย แต่ในระบบสุขภาพ นวัตกรรมไม่สามารถเข้าสู่ตลาดได้ทันที เนื่องจากต้องผ่านกระบวนการที่ซับซ้อน และถึงแม้ว่าผลิตภัณฑ์จะผ่านการขึ้นทะเบียนแล้ว ก็ยังต้องมีการควบคุมคุณภาพ เพื่อสร้างการยอมรับจากแพทย์ ผู้ใช้ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งหากตั้งราคาสูงเกินไป ผู้ป่วยอาจไม่สามารถเข้าถึงได้ จึงต้องได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ”

การประเมินความคุ้มค่าของเทคโนโลยีสุขภาพ (Health Technology Assessment: HTA) จึงเข้ามามีบทบาท โดยเป็นกระบวนการที่นำผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นผู้ผลิต ผู้ให้บริการทางการแพทย์ นักวิชาการ ผู้กำหนดนโยบาย และประชาชน มาหารือร่วมกันเพื่อพิจารณาว่านวัตกรรมทางการแพทย์นั้นให้ประโยชน์สูงสุดต่อระบบสุขภาพและสังคมไทย และถ้าหากทำการประเมินตั้งแต่ระยะพัฒนานวัตกรรม หรือ early HTA ก็จะช่วยให้เห็นแนวทางชัดเจนและป้องกันไม่ให้การพัฒนานั้นสูญเปล่าได้

ดร. นพ.ยศ ตีระวัฒนานนท์ เสวนาและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นร่วมกับผู้เข้าแข่งขันเกี่ยวกับการพัฒนานวัตกรรมทางการแพทย์

ดร. นพ.ยศ ตีระวัฒนานนท์ เสวนาและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นร่วมกับผู้เข้าแข่งขันเกี่ยวกับการพัฒนานวัตกรรมทางการแพทย์

 

ในวันที่ 16 กุมภาพันธ์ มีการจัดแสดงนวัตกรรมของผู้เข้าแข่งขันทั้ง 10 ทีม ประกอบด้วย

1. 3P Technology for Bone Regeneration เทคโนโลยีการแพทย์แม่นยำเพื่อสร้างกระดูกเฉพาะบุคคล รักษาความเสียหายจากบาดแผลรุนแรง โรคกระดูกพรุน

2. ดาราแกนครีม ครีมสารสกัดลำไยจากวัสดุเหลือทิ้งของสวนลำไย บรรเทาอาการผู้ป่วยโรคข้อเข้าเสื่อมระยะเริ่มต้นถึงปานกลาง

3. Arm Booster อุปกรณ์ฟื้นฟูแขนแบบฝึกแขนสองข้างพร้อมกลไกตรวจจับการออกแรง สำหรับผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง

4. SI-HERB DRESSING แผ่นปิดแผลลิปิโดคอลลอยด์เคลือบสารสกัดจากว่านหางจระเข้และใบบัวบก เพื่อช่วยให้แผลหายเร็วขึ้น

5. สไมล์ ไมเกรน แพลตฟอร์ม ระบบบันทึก วิเคราะห์ รักษาและติดตามโรคปวดศีรษะไมเกรน ด้วยปัญญาประดิษฐ์ (AI) เพื่อประเมินความรุนแรงของอาการและแนะนำแนวทางการรักษาที่เหมาะสม

6. BiTNet แพลตฟอร์มปัญญาประดิษฐ์สำหรับช่วยวินิจฉัยความผิดปกติในช่องท้องส่วนบน ผ่านภาพถ่ายอัลตราซาวน์ สำหรับคัดกรองผู้มีความเสี่ยงโรคมะเร็งท่อน้ำดี

7. อุปกรณ์การแพทย์แบบมีรูพรุนเฉพาะบุคคลที่ขึ้นรูปด้วยการพิมพ์สามมิติ อุปกรณ์ที่มีคุณสมบัติคล้ายคลึงกระดูกจริง และการใช้เทคโนโลยีการพิมพ์สามมิติทำให้เราสามารถผลิตอุปกรณ์เฉพาะบุคคลได้ ช่วยให้สามารถวางแผนการผ่าตัดได้อย่างแม่นยำ

8. SorDerm สารสกัดตำรับทดแทนสารสเตียรอยด์ และยาทาภายนอกสำหรับใช้รักษาอาการโรคสะเก็ดเงินและโรคผิวหนังอักเสบเรื้อรัง

9. โปรไบโอติกเฉพาะบุคคลสำหรับผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 ปรับความสมดุลของจุลินทรีย์ในลำไส้ พัฒนาจุลินทรีย์โพรไบโอติกเพื่อส่งเสริมสุขภาพและลดภาวะแทรกซ้อนในผู้ป่วยเบาหวาน

10. Happo แพลตฟอร์มเพื่อการดูแลสุขภาพจิต แอปพลิเคชันที่ช่วยให้รู้เท่าทันความเครียดของตนเองด้วย มี AI ที่ใช้ในการวิเคราะห์ระดับความเครียด เพื่อสุขภาพจิตที่ดี

บรรยากาศการจัดแสดงนวัตกรรมของผู้เข้าแข่งขันรอบชิงชนะเลิศ

ทีมผู้เข้าแข่งขันได้นำเสนอและจัดแสดงนวัตกรรมต่อคณะกรรมการจากภาครัฐและเอกชน ได้แก่ พ.ท.ธนศักดิ์ ถัมภ์บรรฑุ สปสช., คุณนริศา มัณฑางกูร TCELS, ดร.เสาวรัจ รัตนคำฟู สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย, คุณนาเดีย สุทธิกุลพานิช Fuchsia Innovation, คุณสิรินยา ลิม สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ, ดร.นิมิต นิพัทธ์ธรรมกุล ฝ่ายนวัตกรรมเพื่อเศรษฐกิจ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ  ในวันเดียวกันนี้ยังมีการจัดแสดงผลงานของทีมที่ผ่านเข้ารอบรองชนะเลิศ (Semi Final) จำนวน 6 ทีมเพื่อให้ผู้ร่วมงานได้สัมผัสกับนวัตกรรมทางการแพทย์อื่น ๆ ที่มีศักยภาพ

สำหรับนวัตกรรมที่ได้รางวัลชนะเลิศอันดับ 1 ในครั้งนี้ คือ “อุปกรณ์การแพทย์แบบมีรูพรุนเฉพาะบุคคลที่ขึ้นรูปด้วยการพิมพ์สามมิติ”  คว้าเงินรางวัลมูลค่า 500,000 บาท ส่วนรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 คือ “SorDerm” รับเงินรางวัล 300,000 บาท และรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 คือ “3P Technology for Bone Regeneration”

ผู้เข้าแข่งขันทั้ง 10 ทีม โค้ช และกรรมการ

นอกจากนี้ ยังมีการมอบรางวัลให้แก่นวัตกรรมที่เป็นที่ชื่นชอบที่สุด (Popular Vote) สำหรับทีมที่ผ่านเข้ารอบรองชนะเลิศ (Semi Final) คือ “ท่อหายใจเคลือบอนุภาคนาโน” โดยได้รับรางวัลเป็นสิทธิเข้าอบรมการประเมินความคุ้มค่าทางการแพทย์และสาธารณสุข (Health Economic Evaluation Training) ครั้งที่ 20 ที่สนับสนุนโดย HITAP Foundation ซึ่งกำลังจะจัดขึ้นในเดือนตุลาคมนี้ มูลค่าถึง 30,000 บาทอีกด้วย

ยิ่งไปกว่านั้น นวัตกรรมทุกชิ้นมีโอกาสได้รับการเข้าพิจารณาสนับสนุนจากศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (TCELS) ผู้สนับสนุนหลักของ “MIDAS Medical Innovation Hackathon 2025” และนวัตกรรมที่ได้รับคัดเลือกจะได้รับโอกาสในการประเมินความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์เพื่อการผลิตนวัตกรรมด้านการแพทย์ จากฝ่ายประเมินเทคโนโลยีด้านสุขภาพเพื่อการผลิตนวัตกรรม (MIDAS)

 

รับชมไลฟ์งานวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2568 ย้อนหลังได้ที่นี่

18 กุมภาพันธ์ 2568

< Previous post การอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนาการประเมินโครงการลดพฤติกรรมเนือยนิ่ง: อีกก้าวสำคัญสู่สุขภาพที่ดีของคนไทย

Related Posts

ข่าวที่เข้าชมมากที่สุด ในรอบ 3 เดือน

ข่าวสาร HITAP ล่าสุด