ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อฝ่ายสื่อสารองค์กร HITAP
สถานการณ์ของหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าไทย ระบบที่ได้รับการยกย่องให้เป็นต้นแบบระดับนานาชาติ
“ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ” หรือ “Universal Coverage Scheme” ประชาชนทั่วไปอาจคุ้นเคยในชื่อของ “บัตรทอง” หรือ “30 บาทรักษาทุกโรค” คือ กองทุนประกันสุขภาพภายใต้การดำเนินงานของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ที่ให้ประชาชนไทยทุกคนเข้าถึงบริการสุขภาพได้อย่างทั่วถึงและเป็นธรรม โดยปัจจุบันได้พัฒนาเป็น “30 บาทรักษาทุกที่”
เมื่อรวมกับระบบประกันสังคม และสิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ ทำให้ประเทศไทยมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ซึ่งครอบคลุมประชาชนกว่า 99% บนแผ่นดินไทย แม้ประเทศไทยจะเป็นประเทศในกลุ่มรายได้ปานกลาง แต่การพัฒนาและนำหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ามาใช้จริงในประเทศต่อเนื่องมานานนับ 20 ปี จึงเป็นข้อพิสูจน์ที่ทำให้ประเทศไทยได้รับการยกย่องให้เป็นต้นแบบของหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าให้กับหลาย ๆ ประเทศ
อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันประเทศไทยมีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะผู้ป่วยสะสมในกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือ non-communicable diseases (NCDs) เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง เป็นต้น ส่งผลให้งบประมาณของหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าสูงขึ้นตามจำนวนผู้ป่วยกลุ่มนี้
ด้วยเหตุนี้ เนื่องในวันหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าสากล ซึ่งตรงกับวันที่ 12 ธันวาคมของทุกปี ในวาระนี้ ประเทศไทยจึงมุ่งเน้นความสำคัญไปที่ “health promotion & disease prevention (P&P) หรือ การสร้างเสริมและการป้องกันโรค” เพื่อสร้างเสริมสุขภาพที่ดีและยั่งยืนให้กับคนไทย
สถานการณ์ผู้ป่วย NCDs ในไทย ทำไมยิ่งรักษา ผู้ป่วยยิ่งเพิ่มขึ้น?
ปัจจุบันประเทศไทยมีผู้ป่วยโรคเบาหวานมากกว่า 6.5 ล้านคน และผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงกว่า 14 ล้านคน ขณะที่ผู้เสียชีวิตก่อนวัยอันควรจากโรค NCDs และอุบัติเหตุก็มีจำนวนมากขึ้นทุกปี ความรุนแรงของปัญหานี้ไม่เพียงส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนเท่านั้น แต่ยังส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ เนื่องจากโรคเหล่านี้ก่อให้เกิดต้นทุนทางสุขภาพและค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลจำนวนมหาศาล ซึ่งประเทศไทยสูญเสียต้นทุนทางเศรษฐกิจราว 1.6 ล้านล้านบาทต่อปี
จากข้อมูลของสปสช. งบประมาณที่ใช้จัดการโรค NCDs อยู่ที่ประมาณ 79,000 ล้านบาทต่อปี โดยในจำนวนนี้ มีการใช้งบประมาณในการรักษาพยาบาลอยู่ที่ประมาณ 13,000 ล้านบาท สำหรับโรคเบาหวานเพียงโรคเดียวใช้งบประมาณสูงถึง 1,800 ล้านบาท
แม้จะมีการใช้งบประมาณจำนวนมาก แต่การเข้าถึงบริการสุขภาพและคุณภาพการรักษายังคงเป็นปัญหาใหญ่ มีผู้ป่วยโรคเบาหวานเพียง 85% เท่านั้นที่ได้รับการคัดกรอง และในจำนวนนี้ มีเพียง 44% ที่สามารถควบคุมอาการรุนแรงของโรคให้เข้าสู่ภาวะสงบ และมีเพียง 26% ที่ได้รับการรักษาอย่างมีประสิทธิภาพ ตัวเลขนี้ยังคงสะท้อนให้เห็นว่าผู้ป่วยอีกกว่า 74% ยังไม่ได้รับการดูแลรักษาอย่างเหมาะสม ซึ่งเป็นสถานการณ์เดียวกันกับผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง
การที่จำนวนผู้ป่วยยังคงเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ส่วนหนึ่งเกิดจากการที่ระบบสุขภาพของไทยยังเน้นไปที่การรักษาโรคมากกว่าการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค เรามุ่งเน้นการจ่ายยาเพื่อควบคุมอาการ แต่ไม่ได้จัดการกับต้นตอของปัญหาอย่างจริงจัง นอกจากนี้ ประเทศไทยยังมีช่องว่างในระบบสุขภาพอีกหลายประการ ไม่ว่าจะเป็น อายุขัยเฉลี่ยต่ำ ภาระโรคเรื้อรังที่อาจทำให้ผู้ป่วยล้มละลายทางสุขภาพ พฤติกรรมเสี่ยงที่เกิดจากสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา (เช่น ความนิยมของการสูบบุหรี่ไฟฟ้า) งานวิจัยที่มีคุณภาพแต่ไม่ถูกนำไปใช้ในเชิงนโยบายเท่าที่ควร ตลอดจนการสื่อสารนโยบายต่าง ๆ ที่ยังคงเน้นไปที่การให้ความรู้ มากกว่าการสร้างความรอบรู้เรื่องสุขภาพ (health literacy) ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญในการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของประชาชน ประชาชนที่มีความรู้ความเข้าใจด้านสุขภาพอย่างแท้จริงจะสามารถดูแลตนเอง ปรับพฤติกรรม และป้องกันโรคได้ดียิ่งขึ้น
อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยยังมีข้อได้เปรียบจากการมีกองทุนสุขภาพระดับท้องถิ่น รวมถึงระบบการทำงานของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) และหน่วยงานสาธารณสุขในพื้นที่ ซึ่งสามารถเข้าถึงประชาชนกลุ่มเสี่ยงและนำพวกเขาเข้าสู่กระบวนการคัดกรองได้อย่างรวดเร็ว แต่การขับเคลื่อนงานสร้างเสริมสุขภาพและการป้องกันโรค ให้ประสบความสำเร็จ จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคประชาสังคม รวมถึงตัวประชาชนเองด้วย สิ่งเหล่านี้จึงทำให้ระบบสาธารณสุขต้องกลับมาสำรวจสถานการณ์และตั้งคำถามว่า จะทำอย่างไรให้ประชาชนทุกคนเข้าถึงระบบสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค
ภารกิจหลักในการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง
ในการประชุมระดับชาติครั้งนี้ ประเทศไทยให้ความสำคัญกับการพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ในเรื่องของการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ในกลุ่มโรค NCDs ผ่านการบรรยายและระดมความคิดในหัวข้อย่อยทั้งหมด 4 เรื่อง ดังต่อไปนี้
หัวข้อย่อยที่ 1: “ระบบนิเวศเพื่อป้องกันและควบคุมโรคไม่ติดต่อ” โดย มูลนิธิเพื่อการพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ
ประเทศไทยกำลังเผชิญหน้ากับความท้าทายครั้งใหญ่จากโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ซึ่งเป็นสาเหตุการเสียชีวิตของคนไทยมากกว่า 400,000 คนต่อปี และยังคงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โรคเหล่านี้ส่วนใหญ่เกิดจากพฤติกรรมเสี่ยงในชีวิตประจำวัน เช่น การบริโภคอาหารที่มีรสหวาน มัน เค็ม การขาดการออกกำลังกาย รวมถึงการสูบบุหรี่และการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พฤติกรรมเหล่านี้นำไปสู่การเกิดโรคต่าง ๆ เช่น โรคอ้วน โรคเบาหวาน โรคมะเร็งตับ โรคตับแข็ง และโรคหลอดเลือดหัวใจ อีกทั้งสภาพแวดล้อมทางสุขภาพ ก็ยังเป็นปัจจัยสำคัญ เช่น การเข้าถึงอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพได้ง่าย โฆษณาส่งเสริมการขายที่พบเห็นได้ทั่วไป แม้ว่าประเทศไทยจะมีนโยบายและกฎหมายควบคุมปัจจัยเสี่ยง เช่น การควบคุมยาสูบและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แต่ยังขาดกลไกในการประสานงานและติดตามผล รวมถึงยังมีการแทรกแซงนโยบายของภาคอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบ ส่งผลต่อประสิทธิผลของมาตรการเหล่านี้ และไม่สามารถลดปัจจัยเสี่ยงได้อย่างมีประสิทธิภาพ
นอกจากนี้ การรักษาโรค NCDs มักต้องดำเนินการต่อเนื่องในระยะยาว ทำให้ภาครัฐต้องรับภาระค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากข้อมูลพบว่า รายจ่ายดำเนินการด้านสุขภาพ (current health expenditure: CHE) ของประเทศไทยเพิ่มขึ้นจาก 110,166 ล้านบาทในปีพ.ศ. 2537 เป็น 715,325 ล้านบาทในปีพ.ศ. 2564 โดยรายจ่ายส่วนใหญ่ราว 70-80% ใช้ไปกับการรักษาพยาบาล ในขณะที่รายจ่ายเพื่อการป้องกันโรค (preventive care) มีเพียง 8.8% เท่านั้น สิ่งนี้สะท้อนถึงโครงสร้างระบบสุขภาพที่ยังเน้นการรักษา มากกว่าการป้องกันและส่งเสริมสุขภาพ
แนวทางในการจัดการโรค NCDs จึงต้องมุ่งเน้นไปที่การสร้างระบบนิเวศที่ปลอดภัยต่อสุขภาพของประชาชน โดยเริ่มต้นจากการกำหนดให้สินค้าสุขภาพวางจำหน่ายในจุดที่เข้าถึงได้ง่ายในร้านค้า การใช้ฉลากโภชนาการแบบไฟจราจรเพื่อให้ข้อมูลที่ชัดเจนแก่ผู้บริโภค การกำหนดเมนูไม่หวานเป็นเมนูหลัก หากต้องการเพิ่มหวานจะต้องจ่ายมากขึ้น สิ่งเหล่านี้จะช่วยสร้างสภาพแวดล้อมทางอาหารที่ดี สามารถช่วยลดโอกาสที่ประชาชนจะเลือกบริโภคอาหารที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพ ซึ่งนอกจากในระดับบุคคล เรายังส่งเสริมระบบแวดล้อมที่ปลอดภัยในระดับชุมชนได้ เช่น ปรับสูตรสินค้าอาหารที่เป็นของฝากประจำจังหวัด รณรงค์ให้งานเทศกาลปลอดน้ำอัดลมหรือแอลกอฮอล์ หรือการแจก salt meter หรืออุปกรณ์ตรวจวัดปริมาณเกลือให้แก่ประชาชนเพื่อสร้างความตระหนักเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ และลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงทรัพยากร โดยเฉพาะกับกลุ่มเปราะบาง
ที่สำคัญที่สุด คือการบูรณาการนโยบายสาธารณะ ผ่านแนวทาง “ทุกนโยบายห่วงใยสุขภาพ (Health in All Policies)” โดยร่วมมือกับหน่วยงานหลายภาคส่วน เช่น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่สามารถสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีให้กับชุมชนได้ หรือภาคส่วนการคลังที่สามารถดำเนินนโยบายลดหย่อนภาษีเพื่อจูงใจให้ผู้ประกอบการพัฒนาสินค้าและบริการที่ดีต่อสุขภาพ ทั้งนี้ ต้องพัฒนากลไกการประสานงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น นอกจากนี้ ยังสามารถจัดทำข้อมูลติดตามสถานการณ์ระดับพื้นที่ เพื่อสำรวจพฤติกรรมสุขภาพของประชาชน และจัดทำฐานข้อมูลสุขภาพรายบุคคล โดยที่ประชาชนสามารถเข้าถึงได้และใช้ประโยชน์จากฐานข้อมูลในการดูแลสุขภาพตัวเอง
หัวข้อย่อยที่ 2: “กองทุนสุขภาพตำบล” โดยสำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ
หรือชื่อทางการที่เรียกว่า กองทุนหลักประกันสุขภาพท้องถิ่น เป็นหนึ่งในเครื่องมือ ของระบบสุขภาพโดยมีกลไกตั้งต้นที่ตำบล เชื่อมไปยังเขตและประเทศ เพื่อให้ภาพรวมทั้งประเทศมีกลไกและเป้าหมายไปในทิศทางเดียวกัน โดยการมีกองทุนงบประมาณตำบลเป็นเครื่องมือที่ให้แต่ละตำบลมีการจัดตั้งลำดับความสำคัญ (priority setting) ในการหาว่าความต้องการสร้างเสริมสุขภาพของแต่ละตำบลเป็นอย่างไร เพื่อให้สามารถนำระบบการดูแลสุขภาพไปใช้ได้จริงในแต่ละพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
เนื่องจากในปีพ.ศ. 2566 งบประมาณที่ใช้มีจำนวน 5,333 ล้านบาท โดยช่วงแรกมีจำนวนตำบลที่เข้าร่วมกองทุนหลักประกันสุขภาพตำบลเพียง 800 ตำบล แต่ปัจจุบันมีมากถึง 7,753 ตำบลแล้ว รวมถึงมีวิธีการเลือกปัญหาสุขภาพและจัดทำโครงการตามปัญหาสุขภาพของตำบล จัดเป็นกิจกรรมของโรคเบาหวาน 23% โรคมะเร็ง 23% และ 44% ตำบลเลือกจัดการการบริโภคอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพ โดยทิศทางการทำงานของกองทุนสุขภาพตำบลส่วนใหญ่คือ เน้นการวางแผนสุขภาพของประชาชนและป้องกันไม่ให้ผู้ป่วยจำนวนมากเข้าระบบการรักษาที่เกินจำเป็น กองทุนสุขภาพตำบลจึงต้องมีทิศทางที่ชัดเจน และนับว่าสอดคล้องกับปัญหาระดับประเทศ
ซึ่งในการทำงานของกองทุนสุขภาพตำบลนับว่ายังมีความท้าทาย ในด้านข้อจำกัดในการเลือกมาตรการ การแชร์ข้อมูลภายในกับคนที่ทำโครงการไม่ทั่วถึง ฐานข้อมูล กลไกการทำงาน การบูรณาการระหว่างกองทุนเพื่อสร้างผลลัพธ์ หากไม่มีการเชื่อมโยงและทำแบบมุ่งเป้าให้ใหญ่ขึ้นในอำเภอตำลบลหรือเขต และการคัดเลือกปัญหาสุขภาพ จากข้อมูลที่มีหลากหลายในปัจจุบัน แต่ยังมีข้อเสนอแนะและแนวทางขับเคลื่อนในอนาคต กล่าวคือ พัฒนาหลักเกณฑ์การคัดเลือกปัญหาสุขภาพที่ได้รับยอมรับจากทุกภาคส่วน เพื่อให้ทุกคนจากในตำบลเห็นและสะท้อนปัญหาได้ พัฒนาชุดข้อมูลนำเข้าเรื่องมาตรการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค สนับสนุนข้อมูลสารสนเทศการดำเนินงานของกองทุนแบบเบ็ดเสร็จ (one stop service) ตลอดจนบูรณาการสุขภาวะชุมชน โดยเริ่มจากกลไกคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ เพื่อสร้างเครือข่ายการทำงานที่เข้มแข็ง ขยายผลกองทุนสุขภาพตำบลที่มีคุณภาพ มีระบบพี่เลี้ยงกองทุนตำบล และสนับสนุนงานวิจัยเพื่อพัฒนาข้อมูลการขับเคลื่อนนโยบาย
หัวข้อย่อยที่ 3: “การเพิ่มความสามารถให้ประชาชนในการดูแลสุขภาพ: การดูแลผู้ป่วยโรคเบาหวานให้เข้าสู่ระยะสงบ (DM Remission)” โดยมูลนิธิเพื่อการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ
สถานการณ์ปัจจุบัน มีจำนวนผู้ป่วยโรคเบาหวานที่สูงขึ้น ส่งผลกระทบต่อรายจ่ายด้านสุขภาพของประเทศอย่างหนัก คำถามที่ตามมา คือ อนาคตของประเทศไทยจะมีงบประมาณเพียงพอต่อการจ่ายหรือไม่ จึงทำให้ต้องมองปัญหาและหาทางออกของปัญหาในผู้ป่วยโรค NCDs อย่างโรคเบาหวานให้ได้ตรงจุดมากที่สุด นั่นคือ การรณรงค์การปรับพฤติกรรมสุขภาพที่สามารถปรับได้เลยจากตัวเอง ไม่จำเป็นต้องพึ่งยารักษา โดยอาจมาในรูปแบบของ “นโยบายคนไทยห่างไกล NCDs” หรือ ชุมชนและท้องถิ่นทำงานเชิงรุก ให้คนในพื้นที่ได้มีผู้บริหารชุมชนและมีบุคลากรที่เล็งเห็นความสำคัญของประเด็นนี้ เพื่อให้เกิดกระแสเหนี่ยวนำ ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม
ทั้งนี้ มีความท้าทายที่เกิดขึ้น กล่าวคือ ความไม่ยั่งยืน ไม่ครอบคลุมของพื้นที่ในประเทศไทย เพราะยังมีอีกหลายแห่งที่ไม่มีแม้แต่การดำเนินงาน อาจเกิดจากความกังวลเรื่องรูปแบบที่หลากหลาย มาตรฐานการให้บริการ มีการเปรียบเทียบว่าการดูแลพฤติกรรมสุขภาพนั้นเทียบไม่ได้กับการได้รับบริการทางการแพทย์ มีการติดตามการดำเนินการต่อเนื่องและเป็นระยะเวลาที่นาน ชุมชนขาดแรงจูงใจในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ปัญหาระบบนิเวศชุมชน และการกำกับติดตามในพื้นที่ยังขาดการเชื่อมโยงกับส่วนกลาง
ในการเพิ่มความสามารถเพื่อให้ประชาชนดูแลสุขภาพและปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ได้มีข้อเสนอแนะคือ 1) ต่อหน่วยงานท้องถิ่นส่งเสริมและสนับสนุนให้ชุมชนเป็นเจ้าของ 2) กระทรวงสาธารณสุขและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพได้ 3) การมีสปสช. ที่สนับสนุนกลไกการจ่ายเงิน เพื่อผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 ที่สามารถเข้าสู่ระยะสงบ 4) การศึกษารูปแบบการให้บริการที่ไม่ใช่แค่ DM Remission แต่รวมถึง NCDs Remission ด้วย 5) share care plan 6) soft power แคมเปญ เพื่อให้ผู้ป่วยมีความรอบรู้ด้านสุขภาพมากยิ่งขึ้น 7) ปรับเปลี่ยนหลักสูตรการศึกษาให้ครอบคลุมเรื่องการดูแลสุขภาพและการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในเด็ก ลักษณะโรงเรียน ผู้ให้บริการทางการแพทย์ ผู้บริหาร และผู้กำหนดนโยบาย
หัวข้อย่อยที่ 4: “การป้องกันภาวะเปราะบางในสังคมผู้สูงวัย” โดยหน่วยวิจัยเพื่อขับเคลื่อนนโยบายสุขภาพ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
ประเทศไทยกำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงสำคัญทางประชากรศาสตร์เมื่อเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (aging society) ผู้สูงอายุที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันก็พบว่า กว่า 20% ของผู้สูงอายุในประเทศไทยกำลังประสบกับภาวะเปราะบาง (frailty) ซึ่งเป็นสัญญาณสำคัญของความเสี่ยงต่อสุขภาพ และอาจนำไปสู่การพึ่งพิง (disability) ในอนาคต การจำแนกภาวะสุขภาพของผู้สูงอายุแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มสำคัญ ประกอบด้วย 1) กลุ่มแข็งแรง (robust/fit) หรือผู้สูงอายุที่สามารถดูแลตัวเองได้ 2) กลุ่มเปราะบาง (frailty) หรือผู้สูงอายุที่สามารถดูแลตัวเองได้บ้าง แต่ถ้าเจ็บป่วยจะถดถอยได้ง่าย ฟื้นฟูตัวเองได้ช้า หรือไม่สามารถกลับไปแข็งแรงได้เท่าเดิม และ 3) กลุ่มพึ่งพิง (disability) หรือผู้สูงอายุที่มีภาวะทุพพลภาพและต้องได้รับการดูแล ซึ่งภาวะเปราะบางนั้นจะประเมินจากศักยภาพของผู้สูงอายุในหลาย ๆ ด้าน เช่น การรู้คิด การจดจำ การเคลื่อนไหว หรือการดูแลตนเอง
ด้วยสถิติที่แสดงให้เห็นว่าผู้สูงอายุยิ่งมีอายุมากขึ้น ยิ่งมีโอกาสเข้าสู่ภาวะเปราะบาง แนวทางการดูแลสุขภาพในอนาคตจึงไม่ควรมุ่งเน้นเฉพาะการดูแลกลุ่มพึ่งพิงเพียงอย่างเดียว แต่ควรให้ความสำคัญกับการป้องกันและการฟื้นฟูสุขภาพก่อนเข้าสู่สภาวะเปราะบาง เพื่อชะลอการเข้าสู่ภาวะพึ่งพิง เนื่องจาก 35% ของผู้สูงอายุมักมีอาการถดถอยบางอย่าง ซึ่งการดูแลที่เหมาะสม เช่น การเสริมโภชนาการ การส่งเสริมการเคลื่อนไหว สามารถทำให้ผู้สูงอายุในกลุ่มเปราะบางมีโอกาสฟื้นกลับมาแข็งแรงได้ถึง 85% อย่างไรก็ตาม ในบางกรณีอาจเกิดภาวะเปราะบางก่อนวัยที่เหมาะสม จากการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ทางร่างกาย ซึ่งถ้าหากไม่ได้รับการดูแล จึงทำให้เปราะบางมากขึ้นเมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุ การป้องกันภาวะเปราะบางจึงต้องใส่ใจตั้งแต่ก่อนวัยสูงอายุ และในแต่ละรายก็จะมีวิธีดูแลที่เหมาะสมแตกต่างกันไป เพราะเราต้องการให้ผู้สูงอายุพึ่งพาตัวเองได้อย่างยาวนานที่สุด ก่อนที่จะเข้าสู่ภาวะพึ่งพิงในเวลาที่เหมาะสม
ทว่าประเทศไทยยังต้องเผชิญกับความท้าทายหลายด้าน โดยเฉพาะเรื่องการขาดแคลนบุคลากร โดยประเทศไทยมีแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวราว 8,000 คน มีแพทย์เฉพาะทางด้านอายุรศาสตร์ผู้สูงอายุมีเพียง 108 คน และมีพยาบาลเฉพาะทางด้านผู้สูงอายุที่มีจำนวนไม่เพียงพอ เรื่องนี้จึงเป็นอุปสรรคสำคัญที่ต้องเร่งแก้ไข อีกทั้งนโยบายการดูแลผู้สูงอายุยังครอบคลุมเพียงระดับอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) หรือ “หมอคนที่ 1” และไม่มีโปรแกรมหรือการสนับสนุนเพิ่มเติมที่ชัดเจนหลังจากนั้น การพัฒนาชุดบริการจึงจำเป็นต้องตอบโจทย์ความท้าทายนี้ โดยเฉพาะการจัดทำเครื่องมือที่ช่วยให้ “หมอคนที่ 2” หรือ หมอสาธารณสุขที่ รพสต. สามารถนำไปใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และยังสามารถสนับสนุนการทำงานของหมอคนที่ 1 ด้วย เพราะกระบวนการคัดกรองในแต่ละด้านอาจมีความซับซ้อน จึงต้องพัฒนาเครื่องมือที่สามารถให้ความรู้และฝึกฝนทักษะให้กับเจ้าหน้าที่ ให้สามารถดูแลผู้สูงอายุได้อย่างเหมาะสม
ดังนั้น การให้ความรู้แก่ประชาชนเกี่ยวกับการสร้างเสริมสุขภาพผ่านอสม. จะช่วยป้องกันภาวะถดถอยก่อนเข้าสู่สภาวะเปราะบางได้ในระดับชุมชน ส่วนในระดับโรงพยาบาล ควรเพิ่มองค์ความรู้เกี่ยวกับภาวะเปราะบางให้กับบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงจัดหลักสูตรอบรมให้กับบุคลากรอื่น ๆ เช่น ผู้ดูแล (caregiver) หรือคนในชุมชน ปัญหาเหล่านี้ควรได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน เพราะผู้สูงอายุทุกคนล้วนมีความปรารถนาที่จะใช้ชีวิตอย่างมีความหมาย ซึ่งหมายถึงการเข้าถึงสิ่งจำเป็น การตัดสินใจด้วยตนเอง การมีความสัมพันธ์ที่ดี และการดำเนินกิจกรรมที่สร้างคุณค่า การพัฒนาระบบสุขภาพที่ตอบโจทย์เหล่านี้ไม่เพียงแต่ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุ แต่ยังช่วยลดภาระของระบบสาธารณสุขในระยะยาว
ก้าวต่อไปของการสร้างเสริมสุขภาพและการป้องกันโรคภายใต้หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของประเทศไทย
ภาพรวมที่สำคัญคือ การเสริมฐานของงานให้มีความเข้มแข็ง โดยอาศัยเรื่องการอภิบาลระบบเป็นหลัก ระบบการบริหารจัดการในภาพรวม การสร้างการมีส่วนร่วมของคนและชุมชน ต้องปรับทิศทางระบบสุขภาพให้เป็น ‘สร้างนำซ่อม’ โดยมองในมิติที่ครอบคลุมทั้งกาย จิตใจ สังคม และปัญญา ระบบสุขภาพควรลงทุนในคนเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรม จากนั้นจึงปรับทิศทางการเข้าถึงบริการการสร้างเสริมสุขภาพ โดยควรเริ่มต้นจากหน่วยบริการไปสู่ชุมชนหรือหน่วยบริการปฐมภูมิให้มากขึ้น เพราะการเข้าถึงบริการที่สะดวกจะทำให้ประชาชนเข้าถึงบริการได้ง่าย และในอนาคต ท้องถิ่นจะต้องเข้ามามีบทบาทในการสร้างเสริมสุขภาพอีกเป็นอย่างมาก
โดยแนวทางที่สำคัญนี้ ได้รับการสนับสนุนจาก สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) เพื่อให้ประเทศได้ใช้องค์ความรู้ทางวิชาการในการกำหนดนโยบายและมาตรการ งานวิจัยที่พึงสมควร ผลักดันและสร้างองค์ความรู้ เพื่อช่วยระบบสุขภาพของประชาชนไทยต่อไป
อ้างอิง
14 มกราคม 2568