logo


ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อฝ่ายสื่อสารองค์กร HITAP
HITAP ร่วมมือกับกรมการแพทย์ จัดการประชุมผู้เชี่ยวชาญและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ในโครงการ “การพัฒนาแนวทางการประเมินความคุ้มค่าฯ ปัญญาประดิษฐ์ทางการแพทย์ เพื่อบรรจุในชุดสิทธิประโยชน์ ในระบบประกันสุขภาพของประเทศไทย”

เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2567 ณ โรงแรมนิกโก้ กรุงเทพฯ โครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (HITAP) ร่วมกับสถาบันวิจัยและประเมินเทคโนโลยีทางการแพทย์ กรมการแพทย์ ได้จัดประชุมผู้เชี่ยวชาญและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียของโครงการ การพัฒนาแนวทางการประเมินความคุ้มค่าปัญญาประดิษฐ์ทางการแพทย์เพื่อบรรจุในชุดสิทธิประโยชน์ ในระบบประกันสุขภาพของประเทศไทยเพื่อเป็นเวทีเปิดรับความคิดเห็นจากมุมมองและประสบการณ์ที่หลากหลายของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากหลายภาคส่วน ในการพัฒนาแนวทางปรับปรุงชุดสิทธิประโยชน์ในระบบสุขภาพของประเทศไทย ซึ่งโครงการวิจัยนี้ได้รับทุนสนับสนุนจากสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.)

นพ.สกานต์ บุนนาค รองอธิบดีกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ประธานการประชุม ได้กล่าวเปิดงานถึงจุดมุ่งหมายที่มีร่วมกัน กล่าวคือ “ปัญญาประดิษฐ์ทางการแพทย์ในปัจจุบัน มีต้นทุนทั้งจากตัวบุคคลและอุปกรณ์ต่าง ๆ ด้วยการใช้งานที่แพร่หลาย จึงต้องพึงระวังการพัฒนาตามกระแสสังคม ถึงแม้ปัญญาประดิษฐ์จะเป็นสิ่งที่มีประโยชน์ในด้านของการช่วยวินิจฉัย วิเคราะห์ข้อมูล และแนะนำการรักษา แต่ควรคำนึงถึงการใช้งานที่ถูกวิธีเพื่อให้ได้ผลที่แม่นยำด้วย ท้ายนี้ ในฐานะบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข ควรเลือกปัญญาประดิษฐ์ที่ดีที่สุด ที่ประเมินแล้วมีความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ ในการบรรจุเข้าสู่ชุดสิทธิประโยชน์ ภายใต้ข้อจำกัดของงบประมาณปลายปิด แต่ความต้องการใช้งานเป็นปลายเปิด” ด้วยเหตุนี้ จึงเป็นที่มาของการเริ่มต้นสำรวจและระดมความคิดในการพัฒนาการประเมินความคุ้มค่าฯ ของปัญญาประดิษฐ์ให้เกิดขึ้นอย่างแท้จริง เพื่อเป็นประโยชน์ทั้งในแง่ผู้ให้บริการ ผู้รับบริการ และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วน

ภายในงาน นพ.กติกา อรรฆศิลป์ เริ่มต้นนำเสนอผลการสำรวจความคิดเห็นจากบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขกว่า 400 คน ในประเด็น การประเมินสถานการณ์เพื่อพัฒนาแนวทางการประเมินความคุ้มค่าฯ ของปัญญาประดิษฐ์ทางการแพทย์ โดยใช้แบบสอบถาม” ซึ่งผลการสำรวจส่วนใหญ่เกินกว่าร้อยละ 70 บุคลากรทางการแพทย์รู้จักและพอจะมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับปัญญาประดิษฐ์ทางการแพทย์ในระดับหนึ่ง และมีความคิดเห็นต่อปัญญาประดิษฐ์ในเชิงบวก ผลสำรวจจำนวน 185 คน เชื่อว่าผลการวิเคราะห์จากปัญญาประดิษฐ์สามารถนำไปใช้ในการแนะนำในการรักษาได้จริง และกว่า 200 คน เชื่อว่าปัญญาประดิษฐ์มีผลเสียต่อการจัดสรรเวลาในการให้คำปรึกษา หรือจำกัดการสื่อสารกับผู้ป่วย แต่เชื่อว่าอาจสร้างผลลัพธ์ที่ดีขึ้นในอนาคตได้

นอกจากนี้ ผลการตอบแบบสำรวจด้านความรู้และประสบการณ์การใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ทางการแพทย์ของบุคลากรทางการแพทย์ไทย แนวโน้มส่วนใหญ่เป็นไปในทาง “กำลังเพิ่มพูนอย่างต่อเนื่อง” เนื่องจากบุคลากรทางการแพทย์ส่วนใหญ่มีความต้องการใช้ปัญญาประดิษฐ์ เพื่อช่วยคัดกรองและวินิจฉัยผลทางคลินิก จึงความคิดเห็นเพิ่มเติมว่า บุคลากรทางการแพทย์ควรต้องมีประสบการณ์ในการใช้งานเพื่อให้สามารถใช้งานปัญญาประดิษฐ์ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด เฉกเช่นเดียวกันกับรังสีแพทย์ในปัจจุบันที่มีการใช้เครื่องมือทางการแพทย์ช่วยวินิจฉัยทรวงอก ซึ่งเป็นเครื่องที่มีการวิเคราะห์แบบ Heat map x-ray analysis เป็นต้น เสียงจากบุคลากรทางการแพทย์จึงมองว่า ปัญญาประดิษฐ์เป็นส่วนช่วยสำคัญให้กับบุคลากรทางการแพทย์ในการแปลผลและวินิจฉัยโรค และยังเป็นเครื่องมือที่ทุ่นเวลาเพื่อช่วยผู้ป่วยได้ดี ด้วยเหตุนี้ ทีมผู้วิจัยจึงเล็งเห็นความสำคัญของการประเมินความคุ้มค่าของปัญญาประดิษฐ์ทางการแพทย์ เพื่อให้ปัญญาประดิษฐ์ทางการแพทย์สามารถเข้าสู่ชุดสิทธิประโยชน์ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

ดร. นพ.ยศ ตีระวัฒนานนท์ เลขาธิการและนักวิจัยอาวุโส โครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (HITAP) ได้กล่าวเสริมในประเด็นนี้ว่า “HITAP มีการประเมินความคุ้มค่าฯ ของยามานานกว่า 10 ปี ยาที่ประเมินมีประสิทธิผลต่อโรคเหมือนเดิมตลอด แต่ในทางกลับกันระยะเวลา 10 ปี ปัญญาประดิษฐ์อาจมีความคุ้มค่าและมีประสิทธิผลที่เพิ่มขึ้น แตกต่างจากยา ปัญหาจึงอยู่ที่ว่า ‘จะมีแนวทางประเมินความคุ้มค่าฯ ปัญญาประดิษฐ์อย่างไร รวมถึง ปัญญาประดิษฐ์อาจทำได้มากกว่าการวินิจฉัยโรคเพียงแค่อย่างเดียว อนาคตอาจช่วยรักษาโรคก็เป็นได้” นี่คงเป็นวัตถุประสงค์หลักของการประชุม เพื่อร่วมกันหาจุดตัดของปัญญาประดิษฐ์ว่าแบบไหนถึงเรียกว่า เป็นปัญญาประดิษฐ์ที่มีความคุ้มค่าฯ หรือไม่มีความคุ้มค่าฯ และเราจะเป็นจุดเริ่มต้นของการหาข้อสรุปในประเด็นนี้เป็นประเทศแรก”

เพื่อให้การศึกษาค้นคว้าโครงการมีแนวทางการพัฒนาต่อไป ผู้ช่วยศาสตราจารย์ Wenjia Chen และ Yue Zhang นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ (NUS) นำเสนอผลการทบทวนวรรณกรรมจากทั่วโลก ในหัวข้อ “The net monetary benefit of artificial intelligence empowered precision medicine (AI-PM)” ที่ชี้ให้้เห็นประโยชน์ทางการเงินของการแพทย์ที่ใช้ปัญญาประดิษฐ์เพื่อสนับสนุนการแพทย์แม่นยำ เช่น Machine Learning ที่ใช้สำหรับการคาดการณ์ วิเคราะห์ และเพิ่มความแม่นยำการวินิจฉัยโดยการใช้ภาพ รวมถึงการใช้ภาษาในการสื่อสาร ควบรวมฟังก์ชันเพื่อนำมาผลิตเป็นเครื่องวินิจฉัยโรค

ในการประเมินความคุ้มค่าฯ ของปัญญาประดิษฐ์ จำเป็นต้องดูทั้งต้นทุนและผลลัพธ์ โดยควรต้องมีการประเมินระยะสั้น กล่าวคือ อาจเป็นระยะ 1 ปี 10 ปี หรือ ตลอดชีพ หลังจากเริ่มใช้งานปัญญาประดิษฐ์แล้ว วิธีดังกล่าว มีจุดประสงค์เพื่อใช้ติดตามและเพื่อให้ทราบถึงต้นทุนที่เกิดขึ้นระหว่างการใช้งาน หรือระหว่างการไม่ใช้งานปัญญาประดิษฐ์ เพื่อนำไปจัดทำข้อมูลสำหรับการเบิกจ่ายงบประมาณต่อไป ทั้งนี้ ปัจจัยที่ใช้ในการคำนวณต้นทุนและผลลัพธ์ในประเทศไทย อาจต้องคำนึงถึงปัจจัยทางต้นทุนของสังคม คนไข้ หรือผู้ให้บริการร่วมด้วย ไม่ใช่แค่จากปัจจัยของโรงพยาบาลเพียงอย่างเดียวเท่านั้น ด้วยการศึกษานี้ เป็นข้อมูลสำคัญในการสนับสนุนแนวทางการพัฒนาจุดตัดของการประเมินความคุ้มค่าฯ ของปัญญาประดิษฐ์ในประเด็นที่ต้องการได้

การบรรยายหัวข้อสุดท้าย นำเสนอโครงร่างการวิจัยเรื่อง “การประเมินความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ของการใช้ปัญญาประดิษฐ์ช่วยคัดกรองวัณโรคปอดช่วยคัดกรองกลุ่มเสี่ยงตามชุมชน” เนื่องจาก ประเทศไทยในปัจจุบัน มีการใช้ปัญญาประดิษฐ์ช่วยอ่านภาพถ่ายรังสีปอดเพื่อช่วยคัดกรองวัณโรคในหลายพื้นที่ แม้ว่า องค์การอนามัยโลก (WHO) จะมคำแนะนำในการใช้ซอฟต์แวร์ช่วยอ่านภาพถ่ายรังสีปอดเพื่อการคัดกรองวัณโรคโดยไม่จำเป็นต้องมีการยืนยันโดยแพทย์ แต่ราชวิทยาลัยรังสีแพทย์แห่งประเทศไทย แนะนำไว้ชัดเจนว่า พึงหลีกเลี่ยงการใช้ผลการวิเคราะห์จากปัญญาประดิษฐ์ โดยปราศจากความเห็นของแพทย์ในทุกกรณี

จากคำแนะนำดังกล่าว ทีมวิจัยจึงได้ร่างแบบจำลองทางเศรษฐศาสตร์เพื่อใช้ในการวิเคราะห์ความคุ้มค่าฯ ว่าระหว่างการวินิจฉัยแบบใช้ปัญญาประดิษฐ์อย่างเดียวโดยปราศจากความคิดเห็นของรังสีแพทย์ กับ การวินิจฉัยแบบใช้ปัญญาประดิษฐ์ร่วมกับความเห็นของแพทย์ทั่วไป เปรียบเทียบกับการวินิจฉัยจากรังสีแพทย์เพียงอย่างเดียว จะให้ผลลัพธ์ไปในทิศทางใด

ทั้งหมดนี้ ทีมวิจัยมีจุดประสงค์หลักเพื่อการศึกษาและร่วมกันพัฒนาแนวทางการประเมินความคุ้มค่าฯ ของปัญญาประดิษฐ์ทางการแพทย์ เพื่อนำไปต่อยอดและพัฒนาให้ถูกจุด จนสามารถบรรจุเป็นชุดสิทธิประโยชน์ในระบบประกันสุขภาพของประเทศไทยต่อไปได้

10 ตุลาคม 2567

Next post > HITAP จัดการประชุมผู้เชี่ยวชาญและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เพื่อก้าวที่สำคัญของการแพทย์ทางไกล (telemedicine) ในประเทศไทย

< Previous post สปสช. และ HITAP ขอเชิญท่านมาร่วมเป็นส่วนสำคัญในการยกระดับบริการสุขภาพของประเทศไทย ด้วยการตอบแบบสอบถามในหัวข้อ "การปฏิบัติงานตามนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว”

Related Posts