logo

HITAP ร่วมมือกับกรมการแพทย์ จัดการประชุมผู้เชี่ยวชาญและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ในโครงการ “การพัฒนาแนวทางการประเมินความคุ้มค่าฯ ปัญญาประดิษฐ์ทางการแพทย์ เพื่อบรรจุในชุดสิทธิประโยชน์ ในระบบประกันสุขภาพของประเทศไทย”

ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อฝ่ายสื่อสารองค์กร HITAP
นักวิจัย HITAP นำโครงการวิจัย “นโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ด้วยบัตรประชาชนใบเดียวในพื้นที่นำร่อง” คว้ารางวัลในงานมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2567

เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2567 ด้วยความมุ่งมั่นในการขับเคลื่อนระบบสาธารณสุขไทยให้แข็งแรง ประชาชนเข้าถึงได้อย่างยั่งยืน นักวิจัยจาก HITAP จึงนำทัพเสนอผลการวิจัยสู่การจัดแสดงในงาน “มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ ประจำปี 2567 หรือ Thailand Research Expo 2024” ภายใต้หัวข้อ “งานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อยกระดับสังคมอย่างยั่งยืน” โดย “โครงการวิจัยการประเมินผลเชิงพัฒนา นโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ด้วยบัตรประชาชนใบเดียวในพื้นที่นำร่อง”  ได้สร้างเกียรติภูมิด้วยการเป็น 1 ใน 6 ทีมที่ได้คว้ารางวัลประเภท Silver ซึ่งเป็นรางวัลที่รับถ้วยรางวัลจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เงินรางวัล 70,000 บาท พร้อมเกียรติบัตร เพื่อเชิดชูผลงานให้เป็นที่จารึกไว้แล้ว ณ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ

“30 บาทรักษาทุกที่ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว” หรือ ที่รู้จักกันในชื่อ “สิทธิบัตรทอง 30 บาท” นโยบายที่พัฒนาขึ้นเพื่อให้กับประชาชนผู้ใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเข้าถึงระบบทางการแพทย์ได้อย่างได้ไม่สะดุด  โครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (HITAP) และสำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ (IHPP) ได้รับมอบหมายจากกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้เป็นเจ้าภาพในภารกิจนี้ นำไปสู่การประเมินภายใต้ “โครงการวิจัยการประเมินผลเชิงพัฒนา นโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ด้วยบัตรประชาชนใบเดียวในพื้นที่นำร่อง”  ซึ่งเป็นงานวิจัยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) เพื่อแสวงหาข้อเสนอเชิงนโยบาย กับสิ่งที่ต้องพัฒนาต่อ

นโยบาย “30 บาทรักษาทุกที่ฯ” เริ่มนำร่องใน 4 จังหวัด ได้แก่ เพชรบุรี แพร่ ร้อยเอ็ด และนราธิวาส โดยเริ่มต้นปรับใช้นโยบาย7 ม.ค. 2567 นำมาสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในระบบบริการสุขภาพ ประชาชนผู้มีสิทธิบัตรทอง 30 บาท สามารถเข้ารับบริการได้ ณ หน่วยบริการปฐมภูมิ ทั้งในและนอกสังกัด รวมไปถึง “หน่วยบริการนวัตกรรม” ทั้ง 7 ประเภท ซึ่งเป็นคลินิกเอกชนและร้านยา ที่ลงทะเบียนเป็นหน่วยบริการภายใต้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)

นโยบายนี้ ได้รับการขยายความครอบคลุมพื้นที่การให้บริการออกไปเรื่อย ๆ โดยเมื่อวันที่ 17 มิ.ย. 2567 ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ประกาศเพิ่มพื้นที่นำร่องอีก “42 จังหวัด” รวมเป็น 46 จังหวัด ขณะที่รัฐบาลขีดเส้นว่า ภายในปี 2567 จะดำเนินการได้ครบทุกจังหวัดทั่วประเทศ

ดร. ภญ.ปฤษฐพร กิ่งแก้ว หัวหน้าฝ่ายวิจัย HITAP และหัวหน้าทีมวิจัยในโครงการวิจัยการประเมินผลเชิงพัฒนาฯ เล่าว่า งานวิจัยชิ้นนี้มีจุดประสงค์เพื่อวิเคราะห์และประเมินผลลัพธ์ของนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ฯ และพัฒนาข้อเสนอแนะในการปรับปรุงนโยบายให้เหมาะสมกับบริบทของประเทศ โดยมีหลักสำคัญคือการศึกษาปัจจัยที่เป็นผลสำเร็จ ปัญหา และอุปสรรค และผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจากนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ โดยใช้ “ทฤษฎีการเปลี่ยนแปลง” หรือ “Theory of Change: TOC” เป็นหนึ่งในเครื่องมือการมองเป้าหมายของนโยบาย และใช้การสำรวจและการสัมภาษณ์ประชาชน ผู้ให้บริการและภาคส่วนต่าง ๆ ในการวัดผลลัพธ์และปัจจัยความสำเร็จ

จากการดำเนินงานที่ผ่านมาพบว่า นโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ สามารถบรรลุวัตถุประสงค์การดำเนินงานในบางส่วน โดยเฉพาะการลดเวลารอคอย ลดการเดินทาง ลดค่าใช้จ่าย โดยเฉพาะ “ต้นทุนในการรับบริการ” ที่คำนวณจากค่าใช้จ่าย เช่น ค่าเดินทาง ค่าบริโภค ค่าที่พัก กรณีรับบริการต่างจังหวัด รวมไปถึงค่าเสียโอกาสจากขาดงานของผู้ป่วยและญาติ ฯลฯ

ทั้งนี้ จากการสำรวจประชากรทั้งในและนอกจังหวัดนำร่อง จำนวน 1,618 คน พบว่า ประชาชนในพื้นที่นำร่อง 30 บาทรักษาทุกที่ จะมีต้นทุนในการรับบริการอยู่ที่ 515 บาท ขณะที่ผู้ที่อยู่นอกพื้นที่จะอยู่ที่ 660 บาท ตรงนี้ถือว่านโยบายช่วยลดค่าใช้จ่ายลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ

มากไปกว่านั้น ยังพบว่าประชาชนในพื้นที่นำร่องมีทักษะและความรู้เรื่องของการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศมากกว่าประชาชนนอกพื้นที่นำร่อง ซึ่งอาจเป็นไปได้ว่า การที่นโยบายดังกล่าวเกี่ยวข้องกับการใช้เทคโนโลยี เปรียบเสมือนเป็นการกระตุ้นให้ประชาชนใช้เครื่องมือดิจิทัล เช่น การดาวน์โหลดแอปพลิเคชันหมอพร้อม การยืนยันตัวตน การวิดีโอคอล เป็นต้น

ขณะที่หน่วยบริการนวัตกรรมบางแห่งยังมีความกังวลเรื่อง “อัตราการจ่าย” ที่คุ้มทุนการทำงาน และที่มาของแหล่งเงินสนับสนุน รวมถึงระบบข้อมูลที่มีความหลากหลาย ทั้งระบบเบิกจ่าย และระบบบริหารจัดการ

จากข้อค้นพบที่ได้ นำมาสู่ข้อเสนอแนะเพื่อการพัฒนา เช่น  สธ. ควรปรับตัวชี้วัดในส่วนของการลงทะเบียนพิสูจน์ตัวตน ให้เหมาะสมกับบริบทพื้นที่ และแบ่งงานออกเป็นระยะเพื่อลดความกดดันของผู้ปฏิบัติ รวมถึงควรมีระยะเวลาที่เพียงพอต่อการให้ประชาชนเข้าใจ รู้ความสำคัญของการลงทะเบียน และเข้าถึงข้อมูลสุขภาพของตนเอง ซึ่งปัจจุบัน สธ. ได้ยกเลิกตัวชี้วัดนี้แล้ว เพื่อให้ผู้ปฏิบัติงานมีระยะเวลาเพียงพอที่จะสื่อสารนโยบายนี้อย่างครบถ้วน

รวมถึง สธ. ควรพัฒนารูปแบบการบริการ และตัวชี้วัดสำหรับการเข้าถึงข้อมูลสุขภาพที่เหมาะกับกลุ่มเปราะบาง เช่น เด็ก ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีปัญหาสัญชาติ หรือผู้ที่ไม่มีสมาร์ทโฟน

นอกจากนี้ ควรพิจารณาความพร้อม และความเสถียรของแพลตฟอร์มในการเก็บข้อมูลสุขภาพหากต้องมีการขยายบริการ และพื้นที่ดำเนินงาน ขณะเดียวกันยังเสนอให้มีการจัดทำตัวชี้วัดการเชื่อมโยงข้อมูล ให้สามารถเชื่อมกับหน่วยบริการนวัตกรรมนอกเหนือจากสังกัด สธ.ด้วยเช่นกัน

สำหรับงานวิจัยชิ้นนี้ ยังมีข้อเสนอต่อ สปสช. ในการสร้างแรงจูงใจต่อหน่วยบริการนวัตกรรมให้เหมาะสมและยั่งยืน ที่ไม่ใช่แค่การเบิกจ่าย แต่ยังรวมถึงการพัฒนาระบบการบันทึกที่ง่าย และเสนอให้ สปสช. ร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ ที่มีหน้าที่กำกับดูแลคุณภาพสถานบริการ มีระบบควบคุมคุณภาพ และตรวจสอบการใช้ทรัพยากรที่เหมาะสม

อย่างไรก็ตาม งานวิจัยชิ้นนี้ไม่ได้มีเฉพาะข้อเสนอถึงผู้กำหนดนโยบายเพียงเท่านั้น ซึ่ง ดร. ภญ.ปฤษฐพร ยังได้ระบุต่อไปอีกว่า ยังมีข้อเสนอถึงหน่วยบริการที่ “ยังไม่ร่วมโครงการ” ให้เตรียมพร้อมในระยะถัดไป ผ่านหลักการ  “SHARE” ที่ประกอบด้วย

S (Security) เตรียมความพร้อมมาตรฐานความปลอดภัยสารสนเทศของหน่วยบริการ เพื่อรองรับการเชื่อมโยงข้อมูลให้เป็นไปตามมาตรฐานที่ สธ. กำหนด

H (Health Electronics) เตรียมความพร้อมการให้บริการด้านอิเล็กทรอนิกส์ ทั้งระบบยา ระบบนัดหมาย ระบบคิวที่ควรต้องมีการวางแนวทางชัดเจน

A (Awareness) สร้างความตระหนักรู้ในพื้นที่ ทำป้ายประชาสัมพันธ์ อบรมผู้ปฏิบัติงานในโรงพยาบาล สำหรับสื่อสารนโยบายแก่ประชาชน

R (Registration) เตรียมความพร้อมการลงทะเบียนด้านอิเล็กทรอนิกส์สำหรับการลงทะเบียนพิสูจน์ตัวตน เช่น เครื่องอ่านบัตร ตู้คีออส (Kiosk) และ

E (Equipment) เพื่อการติดตามการสำรองยา และเวชภัณฑ์ โดยเฉพาะหน่วยบริการขนาดใหญ่ที่มีผู้มารับบริการเป็นจำนวนมาก

สำหรับสิ่งที่ได้กล่าวถึงในเบื้องต้น เป็นข้อค้นพบที่ได้จากการลงพื้นที่ศึกษาวิจัยที่เริ่มตั้งแต่ช่วงต้นปี 2567 เพื่อสะท้อนไปยังผู้กำหนดนโยบาย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยบางส่วนก็ได้มีการสะท้อนไปแล้วทั้งเรื่องข้อเสนอที่ควรปรับตัวชี้วัดในการลงทะเบียนพิสูจน์ยืนยันตัวตน และการดาวน์โหลดแอปฯ ที่สูงเกินไป ทำให้ช่วงหลังมานี้ สธ. มีการปรับตัวชี้วัดลง ทำให้ผู้ปฏิบัติงานมีโอกาสอธิบายถึงเหตุผล และความจำเป็นต่อประชาชนได้มากขึ้น

ท้ายที่สุดนี้ ทีมวิจัยกำลังศึกษา “การคำนวณต้นทุน” ของหน่วยบริการนวัตกรรม รวมถึงในขั้นต่อไปภายใต้งานวิจัยชิ้นนี้ จะเป็นการลงพื้นที่ศึกษาใน “กรุงเทพมหานคร” หรือ กทม. ซึ่งจะเป็นอีกหนึ่งพื้นที่การดำเนินนโยบายและยังเป็นพื้นที่ที่มีความซับซ้อน ทั้งประชากร หน่วยบริการ ตลอดจนการเบิกจ่ายอีกด้วย

มากไปกว่านั้น ดร. ภญ.ปฤษฐพร ยังเปิดเผยถึงแผนการศึกษา “สถาปัตยกรรมข้อมูล (Data Architecture)” ของประเทศไทยในด้านสาธารณสุขในอนาคต เพื่อใช้สำหรับการดูภาพรวม การเชื่อมฐานข้อมูลอื่นอีกด้วย

นี่คือผลลัพธ์และข้อเสนอแนะที่จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถและช่วยยกระดับ 30 บาทรักษาทุกที่ ให้ตอบโจทย์ประชาชน รวมทั้งช่วยอุดช่องโหว่-ถมช่องว่างให้กับจังหวัดอื่น ๆ ที่กำลังจะเข้าสู่การประกาศใช้นโยบายที่จะครอบคลุมทั่วทั้งประเทศภายใต้ปี 2567 นี้ ทั้งหมดคือภารกิจที่นักวิจัย HITAP มุ่งมั่นให้ความสำคัญและตั้งใจพัฒนาวิจัยเพื่อยกระดับสังคมอย่างยั่งยืน

5 กันยายน 2567

Next post > สปสช. และ HITAP ขอเชิญท่านมาร่วมเป็นส่วนสำคัญในการยกระดับบริการสุขภาพของประเทศไทย ด้วยการตอบแบบสอบถามในหัวข้อ "การปฏิบัติงานตามนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว”

< Previous post HITAP ขนทีมวิจัย 3 กองทัพ ลงสนามในงาน มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ Thailand Research Expo 2024

Related Posts

ข่าวที่เข้าชมมากที่สุด ในรอบ 3 เดือน

HITAP เป็นข่าว ล่าสุด