logo

ขอเชิญร่วมตอบแบบสอบถามเรื่อง “ต้นทุนต่อหน่วยบริการ ภายใต้โครงการวิจัยเรื่อง การประเมินผลเชิงพัฒนานโยบาย 30 บาท รักษาทุกที่ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว ในพื้นที่นําร่อง”

ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อฝ่ายสื่อสารองค์กร HITAP
กรมการแพทย์ดึงนักวิชาการหลายหน่วยงานร่วมหาแนวทางการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะ ดันเทคโนโลยีด้านสุขภาพให้เข้าถึงคนไทยทุกคน

เมื่อวันที่ 19 มิ.ย. 67 กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข จัดงานสัมมนาหัวข้อปัญหาทางการแพทย์และสาธารณสุขที่สำคัญระดับประเทศ (Shopping List) ณ โรงแรมแกรนด์ริชมอนด์ สไตลิช คอนเวนชั่น จังหวัดนนทบุรี โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อหาแนวทางการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะ (Policy Advocacy) ที่สามารถเสนอบรรจุเป็นชุดสิทธิประโยชน์และผลักดันเป็นนโยบายสาธารณสุขระดับประเทศต่อไป โดยในงานสัมมนานี้ นักวิจัยโครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (HITAP) กุมารี พัชนี และ ชนิดา เอกอัครรุ่งโรจน์ ได้รับเชิญเป็นวิทยากรบรรยายในหัวข้อ “ทำอย่างไรให้เทคโนโลยีด้านสุขภาพเข้าถึงคนไทยทุกคน” ร่วมกับคณะวิทยากรและบุคลากรจากหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง

ในการผลักดันการพัฒนาเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพของประเทศไทย ต้องอาศัยการประเมินและพิจารณาปัจจัยที่เกี่ยวข้องในเชิงลึกอย่างรอบด้าน นักวิจัย HITAP ได้นำเสนอและบรรยายความสำคัญของการประเมินเทคโนโลยีด้านสุขภาพ (Health Technology Assessment: HTA) ในกระบวนการพัฒนาชุดสิทธิประโยชน์ของระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (Universal Coverage Benefit Package: UCBP) หรืออีกชื่อที่หลายคนคุ้นเคยกันว่า “สิทธิบัตรทอง” เพื่อให้ผู้ที่ใช้สิทธิบัตรทองเข้าถึงบริการทางการแพทย์ที่เหมาะสมกับความต้องการทางสุขภาพและมีความคุ้มค่ามากที่สุด ซึ่งการประเมินหัวข้อปัญหาและเทคโนโลยีด้วย HTA เป็นขั้นตอนและเครื่องมือที่อาจเรียกได้ว่าเป็นหัวใจของกระบวนการนี้ เพราะช่วยให้แน่ใจได้ว่ากระบวนการตัดสินใจเพื่อพัฒนาชุดสิทธิประโยชน์เป็นไปโดยใช้หลักฐานเชิงวิชาการมาประกอบการพิจารณา ช่วยให้การใช้ทรัพยากรในระบบสุขภาพของประเทศเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นข้อมูลต่อการตัดสินใจเชิงนโยบายแก่ผู้กำหนดนโยบายต่อไปได้

นอกจากนี้ นายแพทย์กติกา อรรฆศิลป์ สถาบันวิจัยและประเมินเทคโนโลยีทางการแพทย์ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ได้ร่วมแบ่งปันประสบการณ์ทำโครงการประเมินเทคโนโลยีทางการแพทย์ร่วมกับ HITAP ในโครงการวิจัยเชิงทดลองแบบสุ่มชนิดมีกลุ่ม เพื่อประเมินประสิทธิผลของการเพิ่มกิจกรรมทางกายในที่ทำงานต่อการลดระยะเวลาของพฤติกรรมเนือยนิ่งในประชากรวัยทำงาน (ข้อมูลเพิ่มเติม https://www.hitap.net/research/180788) แม้งานวิจัยดังกล่าวจะพบว่ายังไม่มีหลักฐานเพียงพอในการลดพฤติกรรมเนืองนิ่ง หรือมีการส่งเสริมสุขภาพที่ดีขึ้นในกลุ่มผู้ร่วมวิจัย แต่ทีมผู้วิจัยจะวิเคราะห์กระบวนการเชิงลึกต่อไป และสนับสนุนให้ประเทศไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จัดทำโครงการวิจัยในประเด็นนี้เพิ่มมากขึ้น พร้อมเน้นย้ำถึงความสำคัญของการสร้างเครือข่ายภาคีต่าง ๆ เช่น ภาครัฐ ภาควิชาการ และภาคประชาสังคมให้มีความเข้มแข็ง การเปิดพื้นที่ให้แต่ละภาคส่วนในสังคมเข้ามามีส่วนร่วมเพื่อเรียนรู้กระบวนทัศน์ใหม่ร่วมกัน รวมถึงการมีกลยุทธ์การสื่อสารประเด็นสำคัญต่อสาธารณชนอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง จะช่วยให้การดำเนินงานขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะเป็นไปอย่างเหมาะสมและตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนต่อไป

26 มิถุนายน 2567

< Previous post ขอเชิญร่วมตอบแบบสอบถามเรื่อง “ต้นทุนต่อหน่วยบริการ ภายใต้โครงการวิจัยเรื่อง การประเมินผลเชิงพัฒนานโยบาย 30 บาท รักษาทุกที่ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว ในพื้นที่นําร่อง”

Related Posts

HITAP เป็นข่าว ล่าสุด