ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อฝ่ายสื่อสารองค์กร HITAP
HITAP-ISPH จัดประชุม Priorities 2024 แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ 45 ประเทศทั่วโลก สู่การจัดลำดับความสำคัญสุขภาพ ความท้าทายในการจัดสรรงบประมาณดูแลสุขภาพผู้ป่วยในระบบสุขภาพ ให้มีประสิทธิภาพสูงสุด
เมื่อเร็ว ๆ นี้กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) โดยโครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (Health Intervention Technology Assessment Thailand: HITAP) ร่วมมือกับ International Society for Priorities in Health หรือ ISPH เครือข่ายของนักวิจัยบุคลากรทางการแพทย์ และผู้กำหนดนโยบายที่ทำงานด้านการจัดลำดับความสำคัญด้านสุขภาพ จัด “Priorities 2024 Conference” งานประชุมวิชาการระดับนานาชาติ เพื่อการจัดลำดับความสำคัญด้านสุขภาพ (Priority Setting) ครั้งที่ 14 เป็นครั้งแรกในภาคพื้นทวีปเอเชีย โดยมีนักวิจัยและผู้กำหนดนโยบายมากประสบการณ์กว่า 320 คน จาก 45 ประเทศทั่วโลก เข้าร่วมแลกเปลี่ยน อภิปราย และบรรยายในหัวข้อต่าง ๆ
ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช ประธานคณะกรรมการมูลนิธิ HITAP กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้มีจุดมุ่งหมายศึกษาว่าการจัดลำดับความสำคัญด้านสุขภาพในอนาคตควรเป็นอย่างไร เพื่อให้ระบบสาธารณสุขพัฒนาขึ้นอย่างเข้มแข็ง สามารถทนต่อความท้าทายและอุปสรรคที่กระทบต่อระบบสาธารณสุขของไทยและทั่วโลก รวมทั้งนำองค์ความรู้ ข้อมูลต่าง ๆ ที่แลกเปลี่ยนกันในงานครั้งนี้มาพัฒนาระบบสุขภาพทั่วโลก ทั้งเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และปัญหาด้านเศรษฐกิจ เพื่อจัดสรรงบประมาณได้อย่างเหมาะสม
นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ขณะที่เราก้าวเข้าสู่ยุคที่สุขภาพมีความซับซ้อนขึ้น ทั้งการที่ปัญญาประดิษฐ์ (AI) เข้ามามีบทบาท การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ ขณะที่ยังมีความไม่เสมอภาค วิธีการใหม่ในการจัดลำดับความสำคัญด้านสุขภาพเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อให้มั่นใจได้ว่าผู้คนจะได้รับผลลัพธ์ด้านสุขภาพที่ดีที่สุดเท่าที่เป็นไปได้
นพ.จเด็จ กล่าวอีกว่า การประชุมครั้งนี้สำคัญมาก เพราะประเทศไทยเริ่มจากระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ไม่ได้มีงบประมาณมาก เมื่อมีการนำเข้าการรักษา ยา เทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้าสู่สิทธิประโยชน์ หากไม่มีงานวิจัยในการประเมินความคุ้มค่าจะยากมาก ไทยเป็นประเทศแรก ๆ ที่นำระบบการประเมินความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ เข้ามาผนวกกับระบบประกันสุขภาพฯ ด้วยข้อจำกัดของงบประมาณ ปัจจุบันทั่วโลกเห็นความสำคัญว่า การใช้เทคโนโลยีอย่างเหมาะสมเป็นสิ่งสำคัญ ทุกคนต้องได้อย่างเท่าเทียม สำหรับหัวข้อหลักในการประชุม เน้นย้ำว่า ต้องให้ความสำคัญกับอะไรในอนาคต ด้วยงบประมาณที่จำกัด งานครั้งนี้จึงเป็นการระดมสมองของนักวิชาการทั่วโลก เพื่อนำข้อเสนอต่าง ๆ มาผนวกกับระบบหลักประกันสุขภาพฯ
“ในประเทศไทยต้องมาพิจารณาว่า โรคที่สำคัญร้ายแรงราคาแพงเป็นกลุ่มหนึ่ง กับราคาถูกดูแลตนเองได้อีกกลุ่มหนึ่ง อาจต้องมองหาแนวทางลดค่าใช้จ่ายบางอย่าง นำเงินไปบริหารจัดการในโรคที่มีราคาแพง จัดสรรให้ทุกคนได้ ให้บริการที่เหมาะสมสำหรับทุกคน ส่วนประเด็นสุขภาพที่สำคัญของไทย มีทั้งเรื่องการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ เรื่องฝุ่น เริ่มเป็นเรื่องใกล้ตัวที่อาจจะต้องบูรณาการหลายหน่วยงาน ต้องเตรียมความพร้อมในการช่วยเหลือ” นพ.จเด็จ กล่าว
ดร.โจเซฟ มิลลัม ประธาน ISPH กล่าวว่า ในการตัดสินใจที่เหมาะสมในการจัดสรรทรัพยากรด้านสุขภาพ ต้องตอบคำถามยาก ๆ ทั้งในเชิงแนวคิดและเชิงวิชาการ ต้องใช้ความรู้เกี่ยวกับระบบสุขภาพ ต้องรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลเกี่ยวกับมาตรการทางการแพทย์ และต้องการความเข้าใจในแง่มุมด้านการเมืองของนโยบายสุขภาพ เหตุผลที่ International Society for Priorities in Health หรือ ISPH ก่อตั้งขึ้นคือ เพื่อเชื่อมโยงความเชี่ยวชาญจากหลากหลายสาขาเข้าด้วยกันและประสานผู้กำหนดนโยบายเข้ากับนักวิชาการ
ดร.นพ.ยศ ตีระวัฒนานนท์ ผู้ก่อตั้งโครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (HITAP) กล่าวว่า ประเด็นสำคัญในการประชุมครั้งนี้ มีเรื่องการใช้ปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI การใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยในทางการแพทย์ ซึ่งส่งผลให้บุคลากรทางการแพทย์ต้องปรับตัว รวมทั้งการดูแลประชาชนอย่างทั่วถึง นอกจากนี้ ยังมีปัญหาที่ท้าทายระบบสุขภาพทั่วโลก ทั้งปัญหาสภาพภูมิอากาศ ประเด็นต่าง ๆ เหล่านี้ HITAP จะสรุปรวบรวมให้ สปสช. ต่อไป
“เรื่องงบประมาณในด้านสาธารณสุขน่าจะถูกจำกัดมากขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องจากประเทศไทยมีการเติบโตของประชากรผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น ปีที่ผ่านมา ได้เงินเพิ่มขึ้นในระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า แต่หากเทียบกันแล้ว ความต้องการด้านการแพทย์ที่คนสูงวัยเพิ่มขึ้น คนเจ็บป่วยเยอะขึ้น น่าจะมีความตึงเครียดทั้งแพทย์ คนไข้ และระบบประกันสุขภาพมากขึ้น อีกเรื่องที่สำคัญ คือ ทำอย่างไรให้ระบบสุขภาพไทยตอบสนองปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อม ระบบสุขภาพหรือโรงพยาบาลของประเทศไทย ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 14% มากกว่าประเทศที่พัฒนาแล้วเป็นเท่าตัว เพราะการเดินทางของผู้ป่วยและญาติ ที่ไม่มีระบบขนส่งสาธารณะอย่างเพียงพอ” ดร.นพ.ยศ กล่าว
ขณะที่นายมายฟง มายซาย รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์สุขภาพ นครหลวงเวียงจันทน์ สปป.ลาว กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้มีความสำคัญอย่างมาก เพราะมีผู้เชี่ยวชาญจากทั่วโลกเกี่ยวกับเรื่องสุขภาพและสาธารณสุข มาแลกเปลี่ยนองค์ความรู้กัน โดยปัญหาสาธารณสุขใน สปป.ลาว ปัจจุบันกระทรวงสาธารณสุข กำลังปฏิบัติงานแผนปฏิรูปสาธารณสุข ระยะที่ 3 ระยะเวลา 2021-2025 เน้นปรับปรุงคุณภาพการให้บริการด้านสุขภาพภายในประเทศ เพื่อให้เทียบเคียงประเทศอื่น ๆ อีกทั้งรับประกันการเข้าถึงบริการสาธารณสุขอย่างครอบคลุม ส่วนระยะที่ 4 ช่วงปี 2026-2030 จะรับประกันเรื่องสาธารณสุขรอบด้าน รวมถึงการเป็นหมอคุ้มทุน จากที่รัฐบาลให้ความช่วยเหลือ จะเป็นหมอที่หาเงินคุ้มทุนด้วยตนเอง ซึ่งเรื่องนี้จะเป็นหัวข้อที่ตนได้เข้าร่วมนำเสนอในครั้งนี้ด้วย ที่ผ่านมา ได้ร่วมมือกับ HITAP ทางด้านวิชาการ อบรมบุคลากรในเรื่องของ HTA (Health Technology Assessment) และได้รับการช่วยเหลือในการก่อตั้งหน่วยงาน Unit for Health Evidence and Policy (UHEP) รวมถึงร่วมกันกำหนดเป้าหมายการแก้ไขปัญหาใน สปป.ลาว อีกทั้งมีโครงการที่จะดำเนินงานร่วมกันต่อไปในอนาคตด้วย
การประชุม Priorities 2024 Conference ในหัวข้อหลัก “Shaping the Future of Health Prioritization: Strategies for Sustainable Solutions” จัดขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์ให้ผู้เข้าร่วมมีความเข้าใจและสามารถต่อยอดการจัดลำดับความสำคัญสุขภาพได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ในหลากหลายประเด็นเกี่ยวกับงานวิจัยเพื่อการจัดลำดับความสำคัญด้านสุขภาพในอนาคต ทั้งการใช้ข้อมูลจากสถานการณ์จริงและปัญญาประดิษฐ์ในการจัดลำดับความสำคัญ การประเมินเทคโนโลยีในระยะพัฒนานวัตกรรม ความเป็นธรรมและจริยธรรมในการจัดลำดับความสำคัญ การจัดลำดับความสำคัญด้านสุขภาพเพื่อความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม
นอกจากนี้ นักวิจัยยังได้นำเสนอและเข้าชิงผลงานวิจัย โดยการนำเสนอด้วยวาจา (Oral Presentation) นายยาชิก้า ชุก จากประเทศอินเดีย ชนะเลิศด้วยหัวข้อ “การศึกษาเพดานความเต็มใจจ่ายเพื่อสนับสนุนการประเมินเทคโนโลยีด้านสุขภาพในอินเดีย” การนำเสนอด้วยโปสเตอร์ (Poster Presentation) ผู้ชนะเลิศ คือ นายอัฟราม เด็นเบิร์ก จากประเทศแคนาดา ในหัวข้อ “เพิ่มการเข้าถึงการรักษาแม่นยำที่มีประสิทธิภาพสูงสำหรับเด็ก: กรอบการประเมินที่เหมาะสมกับเด็กเพื่อศึกษาประโยชน์หากให้เบิกจ่าย”
เขียนโดย Hfocus
แหล่งที่มา https://www.hfocus.org/content/2024/05/30511
17 พฤษภาคม 2567