logo

HITAP ร่วมมือกับกรมการแพทย์ จัดการประชุมผู้เชี่ยวชาญและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ในโครงการ “การพัฒนาแนวทางการประเมินความคุ้มค่าฯ ปัญญาประดิษฐ์ทางการแพทย์ เพื่อบรรจุในชุดสิทธิประโยชน์ ในระบบประกันสุขภาพของประเทศไทย”

ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อฝ่ายสื่อสารองค์กร HITAP
5 ประเด็นสำคัญกำหนดอนาคต ‘ระบบสุขภาพ’ ที่นานาชาติร่วมถกใน ‘Priorities Conference’

ถือเป็นครั้งแรกที่การประชุมเชิงวิชาการระดับนานาชาติ ‘การจัดลำดับความสำคัญด้านสุขภาพ’ หรือ Priorities Conference ซึ่งถูกริเริ่มขึ้นโดยเครือข่ายนักวิจัย บุคลากรทางการแพทย์ และผู้กำหนดนโยบายที่เกี่ยวกับการจัดลำดับความสำคัญด้านสุขภาพ (International Society for Priorities in Health หรือ ISPH) นั้น ถูกจัดขึ้นในประเทศที่มีรายได้ต่ำและปานกลางอย่าง ‘ประเทศไทย’

อีกทั้งยังเป็นสร้างปรากฏการณ์ด้วยการมีผู้เข้าร่วมที่หลากหลายและมากที่สุดตั้งแต่มีการจัดมา 13 ครั้ง โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมกว่า 320 คนจาก 60 องค์กรใน 45 ประเทศทั่วโลก ที่ได้มาร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน 3 วัน เริ่มตั้งแต่วันที่ 8 – 10 พ.ค. 2567 ภายใต้ธีม ‘Shaping the Future of Health Prioritization: Strategies for Sustainable Solutions’

“The Coverage” ถือโอกาสนี้พูดคุยกับ ดร.นพ.ยศ ตีระวัฒนานนท์ แพทย์และนักเศรษฐศาสตร์ ผู้ก่อตั้งโครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (HITAP) หน่วยงานเจ้าภาพการจัดการประชุมในครั้งนี้

ทั้งนี้ เพื่อฉายภาพให้เห็นประเด็นสำคัญที่จะมีการพูดคุยกันระหว่างนักวิชาการทั่วโลก ซึ่งมีโอกาสที่จะกลายเป็นทิศทางในการกำหนดแนวทางการจัดสรรงบประมาณและทรัพยากรที่มีจำกัดของแต่ละประเทศในอนาคต ให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการสุขภาพได้อย่างทั่วถึงและเท่าเทียม ภายใต้บริบทความท้าทายปัจจุบัน


หาจุดเหมาะสม ‘ยาราคาแพง’ กำแพงที่ขัดขวางการเข้าถึง

ดร.นพ.ยศ เริ่มด้วยการกล่าวถึงประเด็น ‘ยาราคาแพง’ ที่เกิดจากการจดสิทธิบัตร ภายใต้การลงนามในสนธิสัญญาขององค์กรการค้าโลก (WTO) ซึ่งทำให้ยาที่ถูกคิดค้นขึ้นมาใหม่จะได้รับการคุ้มครอง และให้สิทธิผู้คิดค้นสามารถจัดจำหน่ายได้เพียงผู้เดียวเป็นเวลา 20 ปี หากมีใครผลิตเลียนแบบจะสามารถฟ้องเรียกร้องค่าเสียหายได้

ทว่า กฎเกณฑ์ที่เกิดขึ้นนี้เป็นเหตุให้เครื่องมือแพทย์ และยาใหม่ๆ ราคาพุ่งสูงมาก ทั้งที่ต้นทุนอาจจะไม่ถึง 1% “คุณรู้ไหมยาราคาแพงที่สุดในโลกราคาเท่าไหร่” ดร.นพ.ยศ เปิดประโยคขึ้นแล้วกล่าวต่อไปว่า “3 ปีที่แล้วยาที่ราคาแพงที่สุดในโลกคือ ราคา 72 ล้านบาท ขึ้นทะเบียนในประเทศไทยแล้ว เป็นยารักษาโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงในเด็ก ปีที่แล้วยาราคาแพงที่สุดในโลก ราคา 120 ล้านบาท เป็นยารักษาโรคเลือดฮีโมฟีเลีย ปีนี้ทำลายสถิติอีก ยาที่แพงที่สุด ราคา 155 ล้านบาท เป็นยารักษาโรคเกี่ยวกับสมอง และทั้งหมดนี้เป็นการรักษาแค่คนไข้คนเดียว ครั้งเดียว”

ดังนั้น ในการประชุมครั้งนี้ จึงมีอยู่เวทีหนึ่งที่จะมีการวิเคราะห์กันในเรื่องนี้ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเหมาะสมแล้วหรือไม่ ด้วยตามกฎเกณฑ์ที่ให้สิทธิผู้คิดค้น เพราะต้องการสร้างแรงจูงใจให้เกิดการพัฒนาต่อ แต่ปัจจุบันสิทธิเหล่านี้อาจถูกใช้มากเกินไป จนทำให้มีคนส่วนใหญ่ที่จะได้ประโยชน์จากการคิดค้นยาใหม่ๆ ‘เข้าไม่ถึงยา’

“ลองคิดดูว่าโลกมันกลับกันไหม สมมติผมคิดอะไรบางอย่างขึ้นมาที่จะได้ประโยชน์ต่อมนุษยชาติมากเลย แต่สุดท้ายไม่มีใครได้เข้าถึง ตกลงอันนี้เราออกกฎมาเพื่ออะไร ฉะนั้นกฎนี้ไม่ได้มีประโยชน์สิ ดังนั้นก็เลยเกิดปัญหาที่เขาจะคุยกันว่าแค่ไหนถึงพอดี สิทธิที่คนพัฒนานวัตกรรมจะได้รับ” ผู้ก่อตั้ง HITAP อธิบายให้เห็นภาพมากขึ้น

ไม่เพียงเท่านั้น ในเรื่องยาแพงนี้ยังมีอีกเวทีที่จะคุยกันด้วยว่าทุกวันนี้ไทยเรายอมให้ราคายาในบัญชี จ(2) หรือ บัญชียาราคาแพง ของบัญชียาหลักแห่งชาติ ที่โรงพยาบาลสามารถเบิกได้จากระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) สูงเกินประโยชน์ที่เกิดขึ้นจริงหรือไม่ ซึ่งจะมีการวิเคราะห์โดยการเปรียบเทียบกันผ่านงานวิจัยจาก 2 ประเทศ ระหว่าง สหราชอาณาจักร กับ ไทย

ดร.นพ.ยศ เปิดเผยถึงผลการศึกษาส่วนหนึ่งว่า HITAP พบว่าบริษัทยาใช้ผลกำไรที่ได้ไม่ถึง 20% ในการลงทุนพัฒนานวัตกรรมต่อ และอีก 20% ทำการตลาด ที่เหลืออีกประมาณ 60% จัดสรรให้กับผู้ถือหุ้น และพอดูเปรียบเทียบไทยกับสหราชอาณาจักร ยังพบอีกว่ายาบางตัวที่มีการจัดซื้อไป ประโยชน์ไปเกิดขึ้นกับบริษัทยามากกว่าสังคม เพราะยาบางตัวที่จัดซื้อมามีราคาแพง แต่รักษาคนได้น้อยกว่ายาบางตัวที่ไม่ได้จัดซื้อ เนื่องจากงบประมาณมีจำกัด

“ถ้าเราเจอข้อมูลแบบนี้เยอะๆ ไทยเราก็จะสามารถคิดได้อย่างรอบคอบมากขึ้นในการตัดสินใจต่อรองกับบริษัทยาว่าแค่ไหนคือจุดพอดี ซึ่งเวทีที่บอกไปนี้จะเราเชิญบริษัทยามาด้วย เพราะอยากดูว่าเขาจะคิดยังไง” ดร.นพ.ยศ ระบุ

นอกจากนี้ จะมีการพูดคุยถึงการรวมกันต่อรองราคายาของแต่ละประเทศ เพราะมีการไปเจอปัญหาว่าประเทศเล็กๆ ไม่มีกำลังในการต่อรองราคายา รวมถึงการเข้าไม่ถึงยาแม้จะมีงบประมาณมากพอที่จะจัดซื้อ เช่น ประเทศบรูไน กับ ภูฏาน ที่มีประชากรไม่ถึง 1 ล้านคน แล้วบริษัทยาไม่ขายยาให้ เพราะค่าใช้จ่ายในกระบวนการต่างๆ บริษัทยาเห็นว่าไม่มีความคุ้มค่า

“จะมีการพูดกันไปถึงประเด็นว่า ถึงเวลาแล้วหรือยังที่อาเซียนเราจะมาซื้อยาหรือวัคซีนร่วมกันด้วย เพื่อจะได้มีกำลังต่อรองราคาที่ดีขึ้น โดยเฉพาะพวกยาที่แพงแบบ 70 – 80 ล้านบาท ถ้าต่อรองให้เหลือได้ซัก 30 ล้านบาท ก็มีงบประมาณเหลือไปจัดซื้อยาตัวอื่นได้อีกเยอะแล้ว เพราะตอนนี้ถ้านำประชากรในอาเซียนมาร่วมกันคือมีมากว่า 600 ล้านคนนะ ถ้าเทียบกับประชากรทั่วโลก 7 พันล้าน ก็เกือบ 10%” แพทย์และนักเศรษฐศาสตร์ ผู้ก่อตั้ง HITAP กล่าว

AI ทางการแพทย์ ที่จะเปลี่ยนแปลง บุคลากร-งบประมาณ

ประเด็นต่อมาที่ ดร.นพ.ยศ เห็นว่าสำคัญก็คือ ‘การใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI) ในทางการแพทย์’ ซึ่งทั่วโลกกำลังให้ความสนใจ เพราะตอนนี้ AI มีความก้าวหน้าขึ้นอย่างมาก เช่น AI สามารถสอบใบประกอบโรคศิลป์ได้แล้ว รวมถึงได้คะแนนสอบดีกว่าคนอีกด้วย ดังนั้นจะเป็นไปได้ไหมที่มีการนำ AI มาช่วยให้การรักษาเบื้องต้น หรือหากมีการเพิ่มเข้ามาใช้ในระบบสุขภาพแล้วคนจะเข้าถึงหรือไม่

เขา กล่าวยกตัวอย่างสถานการณ์จริงให้เห็นสิ่งที่ต้องคำนึงถึงเมื่อมีการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ว่า อย่างกรณีนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว ที่มีการเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพของผู้ป่วยระหว่างหน่วยบริการผ่านระบบหมอพร้อม ทาง HITAP ก็ได้ช่วยทางกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ในการประเมินอยู่ และพบว่าประชาชนในจังหวัดนำร่องเฟสแรก 4 จังหวัด คือ แพร่ เพชรบุรี ร้อยเอ็ด และนราธิวาส กว่า 10% ที่ยังไม่ได้ยืนยันตัวตนผ่านแอปพลิเคชันหมอพร้อม

“หรืออย่างกรณีของเกาหลีใต้ เมื่อประมาณ 3 เดือนที่แล้ว ที่มีการประท้วงใหญ่ของหมอทั้งเกาหลี มีคนไข้เสียชีวิตเยอะเลยเพราะหมอไม่ยอมไปทำงาน โดยส่วนใหญ่ที่เขาประท้วงคือเรื่องไม่ให้รัฐบาลผลิตแพทย์เพิ่ม เพราะกลัวว่าพอมี Supply เพิ่มขึ้น ก็จะทำให้รายได้ตนเองลดลง ขณะที่รัฐบาลต้องการผลิตเพิ่มเพราะหมอมีน้อย และทำให้ต้องจ้างหมอแพง และถ้าไม่จ้างแพงหมอก็ไม่ทำงาน” ดร.นพ.ยศ. ชี้ให้เห็นอีกปัญหาที่ AI อาจไม่ได้นำไปใช้ในบางประเทศ

ด้วยสิ่งที่จะเกิดขึ้นเหล่านี้ เขาจึงมองว่า ‘การปรับตัวของบุคลากรทางการแพทย์’ จะเป็นประเด็นที่น่าจับตาดู เพราะอนาคตบุคลากรทางการแพทย์จำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีมากขึ้น สำหรับประเทศไทยจะเห็นได้จากโครงการ 30 บาทรักษาทุกที่ฯ ซึ่งขับเน้นให้บุคลากรทางการแพทย์ไทยต้องปรับตัวกันครั้งใหญ่ เพราะนอกจากฝั่งประชาชนที่ต้องยืนยันตัวตนเข้าสู่ระบบแล้ว ฝั่งแพทย์ก็ต้องทำด้วยเช่นกัน โดยในอนาคตสิ่งที่เกิดขึ้นนี้อาจเป็นการนำไปสู่การตรวจสอบการให้การรักษาผู้ป่วยของแพทย์ว่ามีความเหมาะสม หรือเกินความจำเป็นทางการแพทย์หรือไม่ด้วย

อีกทั้งจากที่กล่าวมา ปฏิเสธไม่ได้ว่าทิศทางทุกอย่างจะเดินหน้าต่อไปได้ ต้องอาศัยงบประมาณจำนวนไม่น้อย แต่ในความเป็นจริงที่ในอนาคตหลายประเทศนั้น ‘เม็ดเงินลงทุนด้านสาธารณสุขจะถูกจำกัดมากขึ้นเรื่อยๆ’ เรื่องนี้จึงจะเป็นปัญหาที่รุนแรงมากขึ้น ที่ทั่วโลกกำลังหาวิธีว่าจะจัดลำดับความสำคัญอย่างไรให้การพัฒนาระบบบริการสาธารณสุขรุดหน้าต่อไปได้ภายใต้สถานการณ์นี้

“อย่างประเทศไทยถ้าเราไม่สามารถเติบโตทางเศรษฐกิจได้เยอะ และมีการเติบโตของประชากรสูงอายุเพิ่มขึ้น ผมคิดว่าเราจะต้องการงบประมาณมากขึ้น แต่งบประมาณจะจำกัด จะเห็นว่าปีที่ผ่านมาเราได้เงินเพิ่มขึ้นในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ประมาณ 7,000 ล้านบาท แต่ถ้าเทียบกับความต้องการด้านการแพทย์ที่เรามีผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้น การเจ็บป่วยเพิ่มมากขึ้น มันน่าจะไม่พอ ประกอบกับเทคโนโลยีอะไรมาใหม่ ซึ่งน่าจะทำให้เกิดแรงตึงเครียดมากขึ้นระหว่างแพทย์ คนไข้ และระบบหลักประกันสุขภาพฯ” ดร.นพ.ยศ กล่าว

ความรับผิดชอบของระบบสุขภาพ กับปัญหาสิ่งแวดล้อม-โลกร้อน

สำหรับเรื่องสุดท้ายที่ ดร.นพ.ยศ ยกให้เป็นเรื่องใหญ่ไม่แพ้เรื่องอื่นก็คือ ‘การทำให้ระบบสุขภาพตอบสนองปัญหาสิ่งแวดล้อม’ โดยหลายประเทศมีการทำวิจัยแล้วพบว่าระบบสุขภาพมีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อน อยู่ที่ประมาณ 7% จากการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ทั้งประเทศ

อย่างไรก็ตาม เขาบอกว่า ทาง HITAP มีการทำวิจัยและมีการนำเสนอในงานนี้ด้วย ผลออกมาว่าระบบสุขภาพไทยปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศพัฒนาแล้วเป็นเท่าตัว หรือก็คือคิดเป็น 14% ของการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ทั้งประเทศ

สำหรับสาเหตุที่ทำให้ระบบสุขภาพไทยปล่อยก๊าซคอร์บอนไดออกไซด์มาก ดร.นพ.ยศ เผยว่า สิ่งนั้นก็คือการเดินทางมาที่โรงพยาบาลของผู้ป่วยและญาติ ซึ่งหากลงลึกไปก็จะพบว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่สร้างโรงพยาบาลโดยไม่สนใจระบบขนส่งสาธารณะ

“คุณไปดูต่างจังหวัดนะ อย่างผมอยู่โรงพยาบาลปงที่พะเยา ถ้าขับมาที่แยกหนึ่ง เลี้ยวขวาไปที่ว่าการอำเภอ ฝั่งเดียวกันจะเป็นสถานีรถขนส่ง สถานีตำรวจ อยู่ตรงนี้หมดเลย แต่ถ้าเลี้ยวซ้ายไปอีกฝั่งเป็นทุ่งนา เป็นโรงพยาบาล พอประชาชนจะมาโรงพยาบาลที่นึงก็ต้องเหมารถ หรือขับรถมาเอง และจะเห็นได้ว่าทุกโรงพยาบาลเริ่มเจอปัญหาเรื่องที่จอดรถไม่พอ ซึ่งตรงนี้ทำให้เกิดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากโรงพยาบาลเยอะ เพราะคนไทยไม่สามารถอาศัยขนส่งสาธารณะไปถึง” ดร.นพ.ยศ ขยายความ

ทั้งหมดนี้คือประเด็นใหญ่ๆ ที่ทั้งไทยและนานาชาติจะมาร่วมกันหาทางออกในการประชุม Priorities Conference 2024 ในครั้งนี้ โดยภายหลังจบงาน HITAP ซึ่งเป็นหัวเรือหลักในครั้งนี้ จะทำการสรุปประเด็น และนำไปเสนอให้กับทางสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สำหรับประกอบการพิจารณาว่าเรื่องไหนที่ไทยจะสามารถนำมาพัฒนาต่อได้

เขียนโดย The Coverage
แหล่งที่มา https://www.thecoverage.info/news/content/6689

 

15 พฤษภาคม 2567

Next post > ประชุม"จัดลำดับความสำคัญสุขภาพ" ร่วมถกปัญหาภูมิอากาศ-ทรัพยากรจำกัด-AI

< Previous post ระดมสมอง จัดการระบบสุขภาพท่ามกลางทรัพยากรจำกัด

Related Posts

ข่าวที่เข้าชมมากที่สุด ในรอบ 3 เดือน

HITAP เป็นข่าว ล่าสุด