logo

HITAP ร่วมมือกับกรมการแพทย์ จัดการประชุมผู้เชี่ยวชาญและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ในโครงการ “การพัฒนาแนวทางการประเมินความคุ้มค่าฯ ปัญญาประดิษฐ์ทางการแพทย์ เพื่อบรรจุในชุดสิทธิประโยชน์ ในระบบประกันสุขภาพของประเทศไทย”

ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อฝ่ายสื่อสารองค์กร HITAP
‘Priorities Conference’ 160 องค์กรจาก 45 ชาติ ร่วมวงถกสุขภาพที่ ‘ไทย’ เป็นเจ้าภาพ

HITAP จับมือ เครือข่าย ISPH จัดการประชุมระดับนานาชาติ ‘Priorities Conference 2024’ เชิญ 160 องค์กรจาก 45 ประเทศทั่วโลก ร่วมถกประเด็น ‘อนาคตการจัดลำดับความสำคัญด้านสุขภาพ – กลยุทธ์เพื่อสร้างระบบสุขภาพที่ยั่งยืน’

เมื่อวันที่ 8 พ.ค. 2567 โครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (HITAP) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ร่วมกับ เครือข่ายนักวิจัย บุคลากรทางการแพทย์ และผู้กำหนดนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการจัดลำดับความสำคัญด้านสุขภาพ (International Society for Priorities in Health หรือ ISPH) เปิดงานการประชุมเชิงวิชาการระดับนานาชาติ “การจัดลำดับความสำคัญด้านสุขภาพ ครั้งที่ 14 (Priorities Conference 2024 Conference : 14th International Society for Priorities in Health Conference) ภายใต้ธีม “Shaping the Future of Health Prioritization: Strategies for Sustainable Solutions” โดยมี นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เป็นประธานในพิธี ซึ่งภายในงานมีผู้เข้าร่วมประชุมมากกว่า 320 คน จาก 160 องค์กรใน 45 ประเทศทั่วโลก

สำหรับการประชุมการจัดลำดับความสำคัญด้านสุขภาพจัดขึ้นเพื่อเปิดพื้นที่ให้กับนักวิจัย ผู้กำหนดนโยบายที่มีความสนใจ และผู้ที่ทำงานด้านการจัดลำดับความสำคัญด้านสุขภาพจากทั่วโลก ได้มาร่วมแลกเปลี่ยนความรู้เกี่ยวกับแนวทาง วิธีการ และงานวิจัย ที่จะนำไปสู่การพัฒนาระบบสุขภาพให้เกิดความยั่งยืน โดยในครั้งที่ 14 นี้ถือเป็นครั้งแรกที่การประชุมดังกล่าวถูกจัดขึ้นในประเทศที่มีรายได้ต่ำและปานกลางอย่างประเทศไทย

ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช ประธานกรรมการมูลนิธิเพื่อการประเมินโครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (HITAP Foundation) กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อสำรวจว่าทิศทางการจัดลำดับความสำคัญด้านสุขภาพจะเป็นอย่างไรต่อไปในอนาคต ตลอดจนนำข้อมูลและองค์ความรู้ที่ได้จากนานาประเทศไปพัฒนาระบบสุขภาพให้มีความเข้มแข็ง สามารถยืนหยัดต้านความท้าทายและภัยคุกคามด้านสุขภาพที่สำคัญในอนาคตได้ ซึ่งไม่ใช่แค่สำหรับระบบสุขภาพของประเทศไทยเท่านั้น แต่หมายรวมถึงระบบสุขภาพของทั่วโลกด้วย

ศ.นพ.วิจารณ์ กล่าวต่อไปว่า ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ การชะลอตัวของอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจทั่วโลก และอื่นๆ อีกมากมาย เหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยที่จะสร้างความกดดันให้กับการจัดสรรงบประมาณของแต่ะละประเทศที่มีอยู่อย่างจำกัด และท้าทายต่อความยืดหยุ่นของระบบสุขภาพในภาวะวิกฤต แต่ไม่ว่าจะเผชิญกับปัญหาอะไร เชื่อว่าทุกคนจะสามารถค้นหาวิธีรับมือความท้าทายต่างๆ ร่วมกันได้

“นี่ถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของ ISPH ที่การประชุมนี้ถูกจัดขึ้นในภูมิภาคเอเชีย ซึ่งในฐานะผู้จัดงานเราหวังว่าจะนำพันธมิตรจากทั่วทุกมุมโลกมาแบ่งปันประสบการณ์และสนับสนุนการขับเคลื่อนของเราให้ไปสู่การพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าสำหรับทุกคน ดังนั้นการจัดประชุมใหญ่ขนาดนี้ไม่ใช่เรื่องเล็กๆ จึงอยากจะใช้โอกาสนี้ขอบคุณทุกคนที่เกี่ยวข้อง ทั้งคณะกรรมการบริหารของ ISPH คณะกรรมการด้านวิทยาศาสตร์ คณะกรรมการวิชาการ ผู้บริจาค และทุกท่านสำหรับการสนับสนุนและทำให้การประชุมครั้งนี้เกิดขึ้นมาได้” ศ.นพ.วิจารณ์ ระบุ

ศ.ดร.โจเซฟ มิลลัม (Joseph Millum) ประธาน ISPH กล่าวว่า การตัดสินใจอย่างสมเหตุสมผลเกี่ยวกับการการลำดับความสำคัญในการจัดสรรบริการสุขภาพในบริบทที่ทุกประเทศมีงบประมาณ และทรัพยากรที่ไม่เพียงพอสำหรับทุกคน จนนำไปสู่การทำให้คนจำนวนไม่น้อยไม่ได้รับบริการสุขภาพ ถือเป็นปัญหาสำคัญที่หลายประเทศต้องเผชิญ และเป็นปัญหาที่พูดง่ายแต่แก้ได้ยาก เนื่องจากจำเป็นต้องใช้ความรู้หลากหลายด้านมาวิเคราะห์ ทั้งที่เกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ แง่มุมทางการเมือง จริยธรรม ความยุติธรรม ฯลฯ

ดังนั้น เหตุผลสำคัญที่ ISPH ริเริ่มจัดการประชุมในลักษณะนี้ขึ้นก็เพื่อเชื่อมโยงผู้เชี่ยวชาญทุกสาขาอาชีพที่เผชิญกับความท้าทายที่คล้ายกันทั่วโลกมารวมกัน ไม่ว่าจะผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายแพทย์ นักเศรษฐศาสตร์ นักจริยธรรม นักปรัชญา นักสังคมศาสตร์ และอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง และหวังให้พวกเขาใช้โอกาสนี้ในการเรียนรู้จากผู้คนจากประเทศต่างๆ จากสาขาวิชาที่แตกต่างกัน จากมุมมองที่ต่างกัน และสร้างความสัมพันธ์ใหม่ ตลอดจนสร้างความก้าวหน้าในการหาแนวทางเพื่อรับมือกับความท้าทายที่ทุกคนกำลังเผชิญ

ด้าน นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า การประชุมในครั้งนี้มีความสำคัญอย่างมากต่อระบบสุขภาพของไทย เนื่องจากไทยเป็นประเทศแรกๆ ที่มีการใช้ระบบการประเมินความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์มาผนวกเข้ากับระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า จนทำให้ภายใต้ข้อจำกัดด้านงบประมาณที่มีไม่มาก สามารถทำให้ประชาชนทุกคนเข้าถึงบริการสุขภาพ ยา หรือเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่จำเป็นได้อย่างทั่วถึง

นอกจากนี้ ปัจจุบันด้วยระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของไทยที่ครอบคลุมบริการทุกอย่าง จึงกำลังเผชิญความท้าท้ายในด้านการลำดับความสำคัญด้านสุขภาพที่ต้องการแนวทางมาช่วยสนับสนุนในการพิจารณาการดำเนินการหลังจากนี้ เช่น การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ หรือการบริหารจัดการระหว่างการเพิ่มบริการเพื่อรักษาโรคที่มีความร้ายแรงแต่ค่าใช้จ่ายสูง กับโรคที่การรักษาราคาไม่แพงแต่สามารถดูแลตัวเองได้ ฯลฯ

“เราจะรอดูอีก 3 วันหลังจบกิจกรรม น่าจะได้อะไรบางอย่างที่อาจจะทรงพลังมาก เพราะนี่เป็นการระดมสมองกันของนักวิชาการทั่วโลก ซึ่งทาง HITAP คงสรุปออกมาให้ สปสช. ว่าในภาพใหญ่ด้านการประเมินความคุ้มค่า และการจัดลำดับความสำคัญด้านสุขภาพจะเดินไปทิศทางไหน แล้วระบบหลักประกันสุขภาพฯ ของไทย จะสามารถนำสิ่งเหล่านั้นมาพัฒนาในส่วนไหนเพิ่มได้อีก และผมคิดว่านอกจากการประชุมในครั้งนี้จะทำให้เราได้ประโยชน์แล้ว อาจจะช่วยให้ต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศยากจนสามารถบรรลุการสร้างระบบหลักประกันสุขภาพฯ ได้มากขึ้นด้วย

“ผมยืนยันว่าระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเป็นจุดเด่นของไทย เราจะสามารถแก้ปัญหาความท้าท้ายที่เป็นทิศทางใหญ่ๆ ระดับโลกได้หมด ทั้งความเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ โรคระบาด สงครามระหว่างประเทศ แต่จะบริหารจัดการอย่างไรให้เกิดความชาญฉลาดและความเหมาะสมกับบริบทบ้านเรา ไม่มากไปไม่น้อยไป” นพ.จเด็จ กล่าว

อนึ่ง การประชุมในครั้งนี้ จะมีกิจกรรมทั้งหมด 3 วันด้วยกัน เริ่มตั้งแต่วันที่ 8 – 10 พ.ค. 2567 ซึ่งภายในงานจะมีทั้งการจัดเวทีเสวนาโดยผู้เชี่ยวชาญระดับนานาชาติ การนำเสนอผลงานวิจัยและเวิร์กชอปเกี่ยวกับการจัดลำดับความสำคัญด้านสุขภาพ รวมถึงเวทีอภิปรายในประเด็นต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น การใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI) และข้อมูลจากสถานการณ์จริง มาประกอบการจัดลำดับความสำคัญ รวมถึงการสมดุลระหว่างความเป็นธรรม และผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมกับการจัดลำดับความสำคัญด้านสุขภาพในสภาวะวิกฤต

 

เขียนโดย The Coverage

แหล่งที่มา https://www.thecoverage.info/news/content/6678

15 พฤษภาคม 2567

Next post > ระดมสมอง จัดการระบบสุขภาพท่ามกลางทรัพยากรจำกัด

< Previous post เพราะโลกของเรามี ‘ทรัพยากรจำกัด’ การให้ ‘บริการสุขภาพ’ จึงต้อง ‘ลำดับความสำคัญ’

Related Posts