logo

HITAP ร่วมมือกับกรมการแพทย์ จัดการประชุมผู้เชี่ยวชาญและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ในโครงการ “การพัฒนาแนวทางการประเมินความคุ้มค่าฯ ปัญญาประดิษฐ์ทางการแพทย์ เพื่อบรรจุในชุดสิทธิประโยชน์ ในระบบประกันสุขภาพของประเทศไทย”

สปสช. และ HITAP ขอเชิญท่านมาร่วมเป็นส่วนสำคัญในการยกระดับบริการสุขภาพของประเทศไทย ด้วยการตอบแบบสอบถามในหัวข้อ “การปฏิบัติงานตามนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว”

ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อฝ่ายสื่อสารองค์กร HITAP
เพราะโลกของเรามี ‘ทรัพยากรจำกัด’ การให้ ‘บริการสุขภาพ’ จึงต้อง ‘ลำดับความสำคัญ’

“เมื่อถึงปี 2573 จะมีประชากรกว่า 5,000 ล้านคนทั่วโลกที่เข้าไม่ถึงการรักษาพยาบาล ถ้าแต่ละประเทศไม่เพิ่มงบลงทุนด้านการสาธารณสุขมูลฐานอย่างน้อย 1% ของ GDP” คือการคาดการณ์ของ องค์การอนามัยโลก (WHO) ในปี 2562

แม้คนจำนวนไม่น้อยอาจมองว่าสิ่งนี้ไม่ยากเกินกว่าที่ 193 ประเทศทั่วโลกจะทำได้ แต่ในความเป็นจริงการจะบรรลุจุดหมายดังกล่าวได้ซับซ้อนกว่านั้นมาก เช่น ปัญหาหลักๆ ในเรื่องรายได้ของแต่ประเทศที่ต้องยอมรับว่ากลุ่มประเทศที่มีรายได้ต่ำ หรือปานกลางอาจไม่สามารถเดินตามแนวทางนี้ได้ แม้จะต้องการก็ตาม

ไม่เพียงเท่านั้น ด้วยทรัพยากรทุกสิ่งทุกอย่างบนโลกใบนี้ที่ล้วนมีอยู่อย่างจำกัด ทั้งในทางความเป็นจริง และในเชิงเศรษฐศาสตร์ อย่างหนึ่งเลยก็คือ กำลังคน เห็นได้จากที่ Tedros Adhamon Ghebreyesus ผู้อำนวยการใหญ่ WHO เปิดเผยในปีที่แล้ว (2566) ว่า แม้ในปี 2565 กำลังคนด้านสุขภาพทั่วโลกจะเพิ่มขึ้นจากปี 2559 ถึง 29% โดยมีอยู่ราว 65 ล้านคนนั้น ทว่า หากมองไปถึง 7 ปีข้างหน้า (2573) เป็นไปได้ว่ายังขาดแคลนอีกกว่า 10 ล้านคน

ขณะเดียวกันทิศทางความเจ็บป่วยของผู้คนทั่วโลกก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นด้วย จากเงื่อนไขต่างๆ เหล่านี้ แต่ละประเทศจึงไม่สามารถให้บริการสุขภาพทุกอย่างแก่ผู้ป่วยทุกคนได้ในทันที และต้องมีการเลือกว่าบริการไหนควรมีการให้บริการก่อน หรือผู้ป่วยคนไหนควรได้รับบริการเร่งด่วน หรือก็คือ “การจัดลำดับความสำคัญด้านสุขภาพ” ซึ่งเป็นความท้าทายที่ทุกประเทศต้องเผชิญ ไม่เว้นแม้แต่ประเทศที่มีระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า

International Society for Priorities in Health หรือ ISPH เครือข่ายของนักวิจัยด้านสุขภาพ บุคลากรทางการแพทย์ และผู้กำหนดนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการจัดลำดับความสำคัญด้านสุขภาพ ทั้งกลุ่มที่เชี่ยวชาญด้านการแพทย์และสาธารณสุข เศรษฐศาสตร์ การบริหารจัดการ และสังคมศาสตร์ ที่ก่อตั้งขึ้นในปี 2539 จึงได้มีการจัดการประชุมเชิงวิชาการที่ชื่อว่า “Priorities Conference”

เพื่อเป็นเวทีให้นักวิจัยและผู้กำหนดนโยบายที่มีความสนใจ และผู้ที่ทำงานด้านการจัดลำดับความสำคัญด้านสุขภาพแลกเปลี่ยนความรู้และหารือเกี่ยวกับการพัฒนาแนวทาง วิธี และงานวิจัยด้านการจัดลำดับความสำคัญด้านสุขภาพ ที่จะนำไปสู่การเกิดผลลัพธ์ด้านสุขภาพที่ดียิ่งขึ้น โดยครั้งแรกจัดขึ้นที่สตอกโฮล์ม ประเทศสวีเดน และต่อมาจะหมุนเวียนประเทศเจ้าภาพไปในแต่ละครั้ง

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาการจัดการประชุมเชิงวิชาการดังกล่าว ซึ่งมีมาแล้วถึง 13 ครั้ง จะเกิดขึ้นในประเทศที่มีรายได้สูงเท่านั้น แต่ในครั้งที่ 14 ที่กำลังจะเกิดขึ้นในเดือน พ.ค. 2567 นี้ ถือเป็นครั้งแรกที่ Priorities Conference จะจัดขึ้นในประเทศที่มีรายได้ต่ำและปานกลางอย่าง “ประเทศไทย” โดยมี โครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (HITAP) หน่วยงานวิจัยภายใต้ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เป็นหัวเรือหลัก

เนื่องจาก HITAP มีความเชี่ยวชาญด้านการประเมินเทคโนโลยีด้านสุขภาพ (health technology assessment: HTA) ซึ่งเป็นหนึ่งในเครื่องมือที่สำคัญในการจัดลำดับความสำคัญด้านสุขภาพ รวมถึงมีเครือข่ายด้าน HTA ในต่างประเทศกว่า 20 ประเทศ และมีประสบการณ์ในการจัดงานประชุมวิชาการนานาชาติ HTAsiaLink ซึ่งมีลักษณะคล้ายคลึงกับ Priorities Conference มาแล้ว 3 ครั้ง จึงถือได้ว่ามีต้นทุนและประสบการณ์ในการจัดการประชุมวิชาการให้ประสบความสำเร็จ

สำหรับภายในการประชุมจะมีทั้งการจัดเวทีเสวนาโดยผู้เชี่ยวชาญระดับนานาชาติ และการนำเสนอผลงานวิจัยและเวิร์กชอปเกี่ยวกับการจัดลำดับความสำคัญด้านสุขภาพที่น่าสนใจมากมาย ภายใต้ธีมหลัก “Shaping the Future of Health Prioritization: Strategies for Sustainable Solutions” รวมถึงการจัดเวทีอภิปรายในหัวข้อต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการจัดลำดับความสำคัญด้านสุขภาพ เช่น การใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI) และข้อมูลจากสถานการณ์จริง (real-world evidence) ประกอบการจัดลำดับความสำคัญ การประเมินเทคโนโลยีด้านสุขภาพในระยะพัฒนานวัตกรรม (early HTA) การหาสมดุลระหว่างประสิทธิภาพและความเป็นธรรม ผลกระทบของภาคส่วนสุขภาพต่อสิ่งแวดล้อม และการจัดลำดับความสำคัญในสภาวะวิกฤติ

จากหลากหลายวิทยากรที่เป็นผู้เชี่ยวชาญทั้งจากในประเทศรายได้ต่ำและปานกลาง รวมถึงประเทศรายได้สูง อาทิ ดร.ภูษิต ประคองสาย โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล, ดร.มณีรัตน์ เอกพงศ์ไพสิฐ หน่วยวิจัยโรคเขตร้อน คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล, ดร.สราวุธ เทพานนท์ มหาวิทยาลัยมหิดล Dr.Rifat Atun Harvard University สหรัฐอเมริกา Dr.Jasmine Pwu Fu-jen Catholic University ไต้หวัน Prof.jeffrey Hoch University of California Davis สหรัฐอเมริกา Asst. Prof.Wenjia Chen Nation University of Singapore สิงคโปร์ Dr.Wang Yi Swee Hock School of Public Health, National University of Singapore Ole Frithjof Norhiem University of Bergen นอร์เวย์ Dr.Sitanshu Sekhar Kar Jawaharlal Insitute of Postgraduate Medical Education anf research อินเดีย เป็นต้น

 

เขียนโดย The Coverage

แหล่งที่มา https://www.thecoverage.info/news/content/6366

9 มีนาคม 2567

Next post > ‘Priorities Conference’ 160 องค์กรจาก 45 ชาติ ร่วมวงถกสุขภาพที่ ‘ไทย’ เป็นเจ้าภาพ

< Previous post ขอเชิญร่วมตอบแบบสำรวจเพื่อระบุระดับการหลีกเลี่ยงความไม่เสมอภาค (Health Inequity Aversion) ในการเข้ารับบริการทางสุขภาพของประชาชนทั่วไปในประเทศไทย

Related Posts