ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อฝ่ายสื่อสารองค์กร HITAP
โครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ Health Intervention and Technology Assessment Program (HITAP) จัดการเสวนาวิชาการในหัวข้อ “การแพทย์ทางไกล: กระแสชั่วคราวหรือยืนยาวตลอดไป” ในวันจันทร์ที่ 21 สิงหาคม 2566 โดยได้รับการสนับสนุนจาก สำนักดิจิทัลสุขภาพ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข และองค์การอนามัยโลก การเสวนาวิชาการนี้เป็นส่วนหนึ่งของการอบรมบุคลากรพัฒนาศักยภาพบุคลากรในการรองรับระบบสุขภาพดิจิทัล (Convergence Workshop on Digital Health System Development) ระหว่างวันที่ 21 – 22 สิงหาคม 2566 ณ โรงแรม แกรนด์ ริชมอนด์ สไตลิช คอนเวนชั่น โฮเทลจังหวัดนนทบุรี
นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้เป็นประธานเปิดการประชุมและบรรยายในหัวข้อ “การยกระดับบริการสุขภาพด้วยดิจิทัล เพื่อคนไทยสุขภาพดี” ในภาคเช้าของการอบรม โดยกล่าวถึงสถานการณ์และแนวทางการพัฒนาระบบสุขภาพดิจิทัลในประเทศไทย
นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้กล่าวว่า
“ภายหลังสถานการณ์โควิด 19 ระบบบริการสุขภาพดิจิทัลต้องออกแบบให้สามารถบริการประชาชนได้ทุกที่ และใช้เทคโนโลยี เช่น หุ่นยนต์ ปัญญาประดิษฐ์ (AI) เข้ามาช่วยบริการและสร้างความเข้มแข็งให้ระบบ รวมทั้งนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อขับเคลื่อนระบบสุขภาพดิจิทัลให้มีประสิทธิภาพ โดยมุ่งเน้น 6 ประเด็น ได้แก่ (1) การสร้างเสริมธรรมาภิบาลระบบสุขภาพดิจิทัล (2) การดำเนินการด้านกฎหมาย พ.ร.บ. ที่เกี่ยวข้องและจริยธรรม (3) การพัฒนาแพลตฟอร์มระบบสุขภาพดิจิทัลระดับชาติและระบบนิเวศสุขภาพดิจิทัล (4) การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลและระบบรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ของระบบสุขภาพดิจิทัล (5) การส่งเสริมเทคโนโลยีดิจิทัล ระบบสารสนเทศที่ทันสมัย นวัตกรรมและปัญญาประดิษฐ์ทางการแพทย์ และ (6) การพัฒนาคนให้พร้อมเปลี่ยนผ่านสู่ระบบสุขภาพดิจิทัลอย่างยั่งยืน
และต่อเนื่องกันได้มีการอภิปราย เรื่อง “ทิศทางระบบสาธารณสุขกับระบบดิจิทัลสุขภาพ” จากตัวแทนทั้ง 3 ด้านจาก โดย นพ. พงษ์เกษม ไข่มุกต์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข นพ. อนวัช เสริมสวรรค์ คณะแพทยศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และ นพ. ธนกฤต จินตวร รองผู้อำนวยการสถาบันข้อมูลขนาดใหญ่ (องค์การมหาชน)
การอบรมภาคบ่ายแบ่งเป็นหลายห้องย่อย โดย HITAP จัดการเสวนาวิชาการในหัวข้อ “การแพทย์ทางไกล: กระแสชั่วคราวหรือยืนยาวตลอดไป” โดยมีวิทยากรและผู้บรรยายจากหลายภาคส่วนในแต่ละมุมมองของระบบสุขภาพ ได้แก่ มุมมองผู้สนับสนุนการจ่าย มุมมองผู้ให้บริการ มุมมองผู้รับบริการ เป็นต้น มาแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ถอดบทเรียนและความท้าทายของการแพทย์ทางไกลในบริบทประเทศไทย และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในคำถามที่ว่า การแพทย์ทางไกลจะเป็นเพียงกระแสนิยมชั่วคราวหรือจะคงอยู่และยืนยาวตลอดไป
นพ. โสภณ เมฆธน ประธานคณะอนุกรรมการกำกับทิศแผนงาน Convergence of Digital Health Platforms and Health Information Systems (HIS) Implementation in Thailand ภายใต้ยุทธศาสตร์ความร่วมมือของประเทศไทยภายใต้กรอบองค์การอนามัยโลก (WHO Country Cooperation Strategies: WHO-CCS) ประจำปี ค.ศ 2022-2026 ได้กล่าวถึงภาพรวมของสุขภาพดิจิทัล จากกรณีศึกษาการแพทย์ทางไกลทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ
คุณรุ่งนิภา อมาตคง นักวิชาการคอมพิวเตอร์ชำนาญการ ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ได้บรรยายถึงสถานการณ์และแนวโน้มการใช้บริการแพทย์ทางไกลในประเทศไทย
คุณปิยพร ปิยะจันทร์ ผู้เชี่ยวชาญพิเศษ กลุ่มการสนับสนุนงานบริการปฐมภูมิและการสร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรค ได้ชี้ให้เห็นถึงความท้าทายในมุมมองของผู้สนับสนุนการจ่าย ของบริการการแพทย์ทางไกล
และในการอภิปรายนี้ได้มีการถอดจุดแข็งและความท้าทายของบริการการแพทย์ทางไกล จากมุมมองของผู้ให้บริการเฉพาะโรคโดย คุณเทพนันท์ เสงี่ยมจิตร ผู้แทนจากสมาคมฟ้าสีรุ้งแห่งประเทศไทย มุมมองผู้ให้บริการโรงพยาบาลโดย นพ. มารุต สิริวัฒนเดชากุล ผู้ช่วยผู้อำนวยการโรงพยาบาลกรุงเทพ มุมมองผู้ให้บริการสตาร์ทอัพและคลินิกเอกชน โดย พญ. พิรญาณ์ ธำรงธีระกุล ผู้ก่อตั้งบริษัท ชีวีบริรักษ์ จำกัด และ แอปพลิเคชันหมอดี ที่แลกเปลี่ยนถึงปัจจัยสนับสนุน อุปสรรคที่พบจากการดำเนินงานการแพทย์ทางไกล และในมุมมองของผู้รับบริการ โดย คุณธนพลธ์ ดอกแก้ว นายกสมาคมเพื่อนโรคไตแห่งประเทศไทย ที่บอกเล่าถึงประโยชน์และอุปสรรคของการรับบริการการแพทย์ทางไกลในมุมมองของผู้รับบริการ
คุณวิลาวรรณ ล้วนคงสมจิตร นักวิจัย โครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ ได้นำเสนอผลการศึกษาจากทีมวิจัยของโครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ ในมุมมองนักวิจัย ผ่านงานวิจัยการจัดทำข้อเสนอแนะเพื่อสนับสนุนการพัฒนาแนวปฏิบัติและแนวทางการติดตามประเมินผลของระบบการแพทย์ทางไกล ผ่านการถอดบทเรียนในบริบทไทยและบริบทโลกในช่วงท้ายของการเสวนาวิชาการ
ภาพรวมงานเสวนาวิชาการในครั้งซึ่งจัดโดย HITAP ได้มีการนำเสนอและเปลี่ยนความคิดแนวคิด ทัศนคติ และ เทคโนโลยีด้านการแพทย์ทางไกลซึ่งเป็นหัวข้อที่สำคัญและมีผลต่อระบบสุขภาพของไทยในอนาคตอันใกล้ ผู้เข้าร่วมการเสวนา ผู้บรรยาย และวิทยากรได้แบ่งปันประสบการณ์จากหลายมุมมอง ทั้งจากฝั่งของผู้ให้บริการ ผู้รับบริการ และผู้สนับสนุนการจ่าย การแพทย์ทางไกลเป็นเครื่องมือหนึ่งที่มีศักยภาพ เป็นส่วนหนึ่งในการร่วมกันผลักดันให้กระทรวงสาธารณสุขก้าวไปสู่กระทรวงแห่งสุขภาพดิจิทัลของประชาชน และพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ เพื่อให้ประชาชนมีสุขภาพดี และเข้าถึงบริการได้อย่างสะดวกรวดเร็ว และสามารถเป็นต้นแบบให้แก่หลายๆ ประเทศได้ในอนาคต โดยที่ยังต้องมีการพิจารณาและเตรียมความพร้อมอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้บริการได้อย่างมีประสิทธิภาพ และทุกฝ่ายร่วมมือกันเพื่อสร้างสังคมสุขภาวะที่ยั่งยืน
26 สิงหาคม 2566