ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อฝ่ายสื่อสารองค์กร HITAP
ฉบับวันที่: 18 สิงหาคม 2023
วันที่ 7 – 11 สิงหาคม 2566 โครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (Health Intervention and Technology Assessment Program: HITAP) เข้าร่วมมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ เวทีระดับชาติที่นำเสนอความก้าวหน้าของผลงานวิจัย เทคโนโลยี และนวัตกรรมที่มีคุณภาพ เพื่อเชื่อมโยงบูรณาการองค์ความรู้ไปสู่การใช้ประโยชน์ในการพัฒนาประเทศ จัดโดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยปี 2566 นี้จัดขึ้นเป็นปีที่ 18
ในปีนี้ HITAP ได้นำงานวิจัยที่มีคุณภาพและมีผลกระทบต่อนโยบายของประเทศชาติมานำเสนอ โดยเน้นไปที่ 3 ประเด็นหลัก ได้แก่ ระบบสุขภาพหลังโควิด 19 ประสิทธิผลของการใช้แชตบอตในการเพิ่มความเชื่อมั่นในวัคซีนโควิด 19 และการประเมินเทคโนโลยีด้านสุขภาพในระยะพัฒนานวัตกรรม (Early Health Technology Assessment: Early HTA) เพื่อตอบสนองต่อสถานการณ์ที่ได้เกิดขึ้น และ นำเสนอความเป็นไปได้และอนาคตของนวัตกรรมด้านสุขภาพ
มีประเด็นท้าทายอะไรรออยู่ในระบบสาธารณสุขยุคใหม่ภายหลังการระบาดโควิด 19
โครงการวิจัยเพื่อจัดทำชุดข้อเสนอเชิงนโยบายและขับเคลื่อนระบบสาธารณสุขยุคใหม่ภายหลังการระบาดโรคโควิด-19 ศึกษาประเด็นท้าทาย 5 ประเด็นที่ประเทศไทยต้องเตรียมรับมือและพัฒนา เพื่อให้ระบบสาธารณสุขไทยเข้มแข็ง ยั่งยืน และพร้อมรับหากมีวิกฤติสุขภาพในภายหน้า โดย 5 ประเด็นดังกล่าวได้แก่
1. การเงินการคลังสุขภาพเพื่อตอบสนองการแพร่ระบาดโควิด 19 ในประเทศไทย
2. การศึกษาความเพียงพอของทรัพยากรและงบประมาณของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) เพื่อจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในการถ่ายโอนสู่ท้องถิ่นอย่างยั่งยืน
3. การประเมินการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของสถานพยาบาลในประเทศไทย
4. การศึกษาความเป็นไปได้ของการขยายบริการระบบการติดตามผลการรักษาทางไกลสำหรับผู้ป่วยที่ได้รับเครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจชนิดฝัง
5. การแพทย์ทางไกล (telemedicine)
1. การเงินการคลังสุขภาพเพื่อตอบสนองการแพร่ระบาดโควิด 19 ในประเทศไทย
ทีมวิจัยจาก มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยนเรศวร มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ และ สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับ HITAP ได้นำถอดบทเรียนและจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายจากการเงินการคลังเพื่อรับมือโควิด-19 ซึ่งมีการใช้งบประมาณจำนวนมหาศาลในการจัดการภาวะโรคระบาดนี้ผ่านมาตรการหลากหลาย ซึ่งเน้นย้ำถึงความสำคัญของการมีความยืดหยุ่นและรวดเร็วในกลไกการตัดสินใจและการใช้งบประมาณเพื่อตอบสนองต่อวิกฤติการณ์ด้านสุขภาพ
รับฟังข้อมูลเพิ่มเติมจากทีมวิจัย : Thailand Research Expo – การเงินการคลังสุขภาพเพื่อตอบสนองการแพร่ระบาดโควิด-19 ในประเทศไทย
ข้อมูลโครงการวิจัย : https://www.hitap.net/research/185717
2. การศึกษาความเพียงพอของทรัพยากรและงบประมาณของ รพ.สต. เพื่อจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในการถ่ายโอนสู่ท้องถิ่นอย่างยั่งยืน
ในหัวข้องานวิจัยนี้ นักวิจัย HITAP ได้ดำเนินการศึกษาความเพียงพอของทรัพยากรและงบประมาณของ รพ. สต. ในช่วงปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 – 2565 ซึ่งเป็นระยะเวลาการเปลี่ยนผ่านก่อนการถ่ายโอน รพ. สต. จำนวนมากไปสังกัดองค์การบริหารส่วนท้องจังหวัด (อบจ.) รวมถึงยังมีการสำรวจความคิดเห็นของบุคลากรและผู้รับบริการใน รพ.สต. ที่ถ่ายโอนแล้วด้วย ว่าการถ่ายโอนมีผลต่อการให้และรับบริการหรือไม่ อย่างไร
รับฟังข้อมูลเพิ่มเติมจากทีมวิจัย : Thailand Research Expo – โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล
ข้อมูลโครงการวิจัย : https://www.hitap.net/research/186064 3. การประเมินการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของสถานพยาบาลในประเทศไทย
การศึกษาชิ้นนี้โดย สถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับ HITAP ประเมินการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของการให้บริการสาธารณสุขในระดับต่าง ๆ ทั้งปฐมภูมิ ทุติยภูมิ ตติยภูมิ การศึกษานี้พบว่าการเดินทางของผู้ป่วยมีส่วนสำคัญในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และหากลดการเดินทางของผู้ป่วย เช่น โดยการเพิ่มการให้บริการการแพทย์ทางไกล อาจช่วยลดก๊าซเรือนกระจกได้อย่างมีนัยสำคัญ
รับฟังข้อมูลเพิ่มเติมจากทีมวิจัย : Thailand Research Expo – การประเมินการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของสถานพยาบาลในประเทศไทย
ข้อมูลโครงการวิจัย : https://www.hitap.net/research/185717
4. การศึกษาความเป็นไปได้ของการขยายบริการระบบการติดตามผลการรักษาทางไกลสำหรับผู้ป่วยที่ได้รับเครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจชนิดฝัง
เทคโนโลยีดิจิทัลด้านสุขภาพประเภท Internet of Medical Things (IoMT) กำลังเข้ามามีบทบาทหนึ่งในการติดตามผู้ป่วยที่ช่วยอำนวยความสะดวกให้แก่ทั้งผู้ป่วยและสถานพยาบาล โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุที่เผชิญความยากลำบากในการมารับบริการที่โรงพยาบาล รวมถึงผู้ป่วยที่ใช้เครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจชนิดฝัง ซึ่งเป็นตัวช่วยสำคัญในการติดตามอาการของผู้ป่วยจากทางไกล แต่ก็ยังพบปัญหาในหลากหลายประเด็น ทั้งในเชิงระบบ อุปกรณ์ ความพร้อมของบุคลากร และผู้ป่วย
รับฟังข้อมูลเพิ่มเติมจากทีมวิจัย : Thailand Research Expo – เครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจชนิดฝัง
ข้อมูลโครงการวิจัย : https://www.hitap.net/research/185300
5. การแพทย์ทางไกล (telemedicine)
การศึกษาชิ้นนี้ นักวิจัย HITAP ได้สำรวจแนวโน้มและผลกระทบของการใช้บริการการแพทย์ทางไกลในช่วงการระบาดของโควิด 19 โดยใช้ข้อมูลจากการเบิกจ่ายค่าบริการการแพทย์ทางไกลของสำนักหลักงานประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) พบว่าประชาชนจากหลากหลายกลุ่มอายุและกลุ่มโรครับบริการผ่านการแพทย์ทางไกลในช่วงที่โควิด 19 ระบาด โดยมีการรับบริการสูงสุดในช่วงที่ระบาดรุนแรง การศึกษานี้เสนอแนะให้มีการศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับการขยายขอบเขตการให้บริการและประสิทธิภาพของการแพทย์ทางไกลเพิ่มเติม
รับฟังข้อมูลเพิ่มเติมจากทีมวิจัย : Thailand Research Expo – การแพทย์ทางไกล
ข้อมูลโครงการวิจัย : https://www.hitap.net/research/185717
แชตบอตมีประโยชน์มากน้อยเพียงใดในการสร้างความเชื่อมั่นในวัคซีนโควิด 19
แชตบอตเป็นที่นิยมขึ้นเรื่อย ๆ และมีการนำมาใช้ในการให้ข้อมูลในหลาย ๆ ด้าน รวมถึงใช้ในการตอบคำถาม เพื่อเพิ่มความเชื่อมั่นในวัคซีนโควิด-19 ในช่วงที่มีการระบาดของโควิด-19 ด้วย เช่น ChatSure ที่ใช้บน Facebook Messenger ของไทย แต่ประเทศไทยไม่ใช่ประเทศเดียวที่มีการใช้แชตบอตเพื่อการนี้ ประเทศอื่น ๆ เช่น ฮ่องกง และสิงคโปร์ ก็มีการใช้แชตบอตเพื่อวัตถุประสงค์เดียวกัน การศึกษาพบว่าการใช้แชตบอตมีประสิทธิผลแตกต่างกันในคนแต่ละกลุ่ม รวมถึงในแต่ละประเทศก็ให้ผลไม่เหมือนกัน ข้อค้นพบนี้จะเป็นประโยชน์ต่อผู้พัฒนาแชตบอตในการคัดเลือกกลุ่มเป้าหมายของแชตบอตต่อไป
รับฟังข้อมูลเพิ่มเติมจากทีมวิจัย : Thailand Research Expo – วัคซีนโควิด-19 Chatbot
ข้อมูลโครงการวิจัย : https://www.hitap.net/en/research/183748
การประเมินเทคโนโลยีด้านสุขภาพในระยะพัฒนานวัตกรรม: เครื่องมือที่จะช่วยให้การพัฒนานวัตกรรมไม่สูญเปล่า
การประเมินเทคโนโลยีด้านสุขภาพในระยะพัฒนานวัตกรรม หรือ early HTA สามารถช่วยเพิ่มโอกาสสำเร็จในการพัฒนานวัตกรรม โดยจะทำให้ผู้ลงทุนและผู้พัฒนานวัตกรรมทราบเป้าหมายคุณลักษณะหรือคุณสมบัติของเทคโนโลยีที่ต้องพัฒนาขึ้นเพื่อให้เทคโนโลยีนั้น ๆ เป็นที่ต้องการสูงสุดของตลาด โดยมูลนิธิเพื่อการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (HITAF) ร่วมกับมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ จัดตั้งทีมงานที่มีความเชี่ยวชาญด้าน early HTA เพื่อสนับสนุนผู้พัฒนานวัตกรรมทั้งในไทยและต่างประเทศ
ข้อมูลเพิ่มเติม : https://www.midas-health.com/th/home-page-th/
ทั้งนี้ HITAP ยังคงมุ่นมั่นที่จะนำเสนอความผลงานวิจัย เทคโนโลยี และนวัตกรรมที่มีคุณภาพ ให้ข้อเสนอแนะต่อผู้กำหนดนโยบาย มีส่วนร่วมและรับผิดชอบต่อสังคม เพื่อเชื่อมโยงบูรณาการองค์ความรู้และศักยภาพไปสู่การใช้ประโยชน์ในการพัฒนาประเทศต่อไป
17 สิงหาคม 2566