logo

HITAP ร่วมมือกับกรมการแพทย์ จัดการประชุมผู้เชี่ยวชาญและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ในโครงการ “การพัฒนาแนวทางการประเมินความคุ้มค่าฯ ปัญญาประดิษฐ์ทางการแพทย์ เพื่อบรรจุในชุดสิทธิประโยชน์ ในระบบประกันสุขภาพของประเทศไทย”

สปสช. และ HITAP ขอเชิญท่านมาร่วมเป็นส่วนสำคัญในการยกระดับบริการสุขภาพของประเทศไทย ด้วยการตอบแบบสอบถามในหัวข้อ “การปฏิบัติงานตามนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว”

ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อฝ่ายสื่อสารองค์กร HITAP
[ข่าวประชาสัมพันธ์] ผสานพลัง 5 หน่วยงาน สนับสนุนการวิจัยและประเมินเทคโนโลยีด้านสุขภาพ ในระยะพัฒนานวัตกรรมในประเทศไทย

เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2566 มูลนิธิเพื่อการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (Health Intervention and Technology Assessment Program Foundation: HITAP Foundation) ร่วมกับสำนักวิชาสาธารณสุขศาสตร์ซอว์สวีฮก มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ (Saw Swee Hock School of Public Health, National University of Singapore) จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการในหัวข้อ “วิจัยไม่สูญเปล่า: พัฒนานวัตกรรมสุขภาพอย่างไรให้คุ้มค่า” พร้อมจับมือหน่วยงานพันธมิตร ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์  (องค์การมหาชน) หรือ TCELS และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลง (MOU) ว่าด้วยความร่วมมือด้านการจัดลำดับความสำคัญและการประเมินเทคโนโลยีเพื่อสนับสนุนการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมด้านสุขภาพในประเทศไทย โดยมีบุคลากรทางการแพทย์ นักวิจัย และนักพัฒนานวัตกรรมจากภาครัฐและเอกชนเข้าร่วมงาน ณ โรงแรม เดอะ สุโกศล กรุงเทพฯ

ในการประชุมเชิงปฏิบัติการในหัวข้อ “วิจัยไม่สูญเปล่า: พัฒนานวัตกรรมสุขภาพอย่างไรให้คุ้มค่า” ดร. นพ.ยศ ตีระวัฒนานนท์ เลขาธิการมูลนิธิเพื่อการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ และผศ. ดร. หวัง อี้ (Wang Yi) อาจารย์ประจำสำนักวิชาสาธารณสุขศาสตร์ซอว์สวีฮก มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ ได้ร่วมให้ข้อคิดเห็นในประเด็นที่ว่า นวัตกรรมด้านสุขภาพต้องดีเพียงใดจึงจะเป็นที่ต้องการของผู้ใช้หรือสามารถขายได้ และทำอย่างไรจึงจะรู้ได้ว่าควรลงทุนวิจัยและพัฒนานวัตกรรมนั้นหรือไม่ พร้อมถ่ายทอดองค์ความรู้และประสบการณ์เกี่ยวกับ “การประเมินเทคโนโลยีด้านสุขภาพในระยะพัฒนานวัตกรรม” หรือ early Heath Technology Assessment (early HTA) ให้แก่ผู้เข้าร่วมการประชุมฯ

ดร. นพ.ยศ กล่าวว่า “early HTA เป็นงานวิจัยแขนงใหม่ที่ปัจจุบันยังไม่เป็นที่รู้จักแพร่หลาย แต่เมื่อผู้พัฒนานวัตกรรมได้รู้จักและเข้าใจแนวคิดเรื่อง early HTA แล้ว กว่าครึ่งสนใจ และมองว่าจะมีประโยชน์อย่างมากต่อการพัฒนานวัตกรรมด้านสุขภาพ เพราะ early HTA สามารถให้ข้อมูลและแนวทางได้ตั้งแต่ในช่วงของการวิจัยและพัฒนาว่าจะต้องพัฒนานวัตกรรมให้ดีแค่ไหน ในด้านไหน เพื่อให้ตอบโจทย์ของตลาดหรือระบบหลักประกันสุขภาพ ข้อมูลนี้จะช่วยเพิ่มโอกาสประสบความสำเร็จของการพัฒนานวัตกรรมได้อย่างชัดเจน

ที่ผ่านมาประเทศไทยยังไม่ประสบความสำเร็จในการพัฒนานวัตกรรมทางการแพทย์เท่าที่ควร นวัตกรรมที่พัฒนาขึ้นในประเทศจำนวนมากไม่ได้ถูกนำไปต่อยอดจนกลายเป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนและจำหน่ายในท้องตลาด ซึ่งเกิดขึ้นจากหลายปัจจัย และหนึ่งในปัจจัยที่สำคัญคือการขาดการประเมินเทคโนโลยีในระยะพัฒนานวัตกรรม หรือ early HTA ซึ่งเป็นกระบวนการประเมินผลกระทบล่วงหน้าที่อาจเกิดขึ้นจากการนำเทคโนโลยีไปใช้ประโยชน์ในเวชปฏิบัติหรือชีวิตประจำวันของประชาชน ภายใต้เงื่อนไขคุณลักษณะหรือคุณสมบัติของเทคโนโลยีในรูปแบบต่าง ๆ ซึ่งการประเมินที่ว่านี้จะทำให้ผู้ลงทุนและผู้พัฒนานวัตกรรมทราบเป้าหมายคุณลักษณะหรือคุณสมบัติของเทคโนโลยีที่ต้องพัฒนาขึ้นเพื่อให้เทคโนโลยีนั้น ๆ เป็นที่ต้องการสูงสุดของตลาด

ปัจจุบันองค์การอนามัยโลก (World Health Organization: WHO) ได้ใช้กลไกนี้ในการผลักดันนวัตกรรมด้านสุขภาพเพื่อตอบสนองความต้องการของระบบสุขภาพในระดับโลก เช่น กำหนดคุณสมบัติของเครื่องมือตรวจคัดกรอง ยาและวัคซีนสำหรับโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 ตั้งแต่ในช่วงต้นของการแพร่ระบาด นำมาซึ่งการพัฒนานวัตกรรมเหล่านั้นจนได้รับการอนุมัติจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) หรือองค์กรใกล้เคียงในทุกประเทศทั่วโลก ทำให้สามารถควบคุมและลดความสูญเสียจากการแพร่ระบาดของโรคได้ในเวลาอันรวดเร็ว ในฐานะที่ผมเป็นหนึ่งในผู้เชี่ยวชาญของ WHO ในการกำหนดคุณสมบัติของวัคซีนโควิดตั้งแต่เดือนเมษายน 2563 ก่อนที่จะมีวัคซีนออกสู่ท้องตลาดในปลายปี ผมได้เห็นประโยชน์ของการดำเนินงานในลักษณะนี้ จึงอยากนำมาประยุกต์เพื่อสนับสนุนการพัฒนานวัตกรรมทางการแพทย์ของประเทศไทย”

ด้วยเล็งเห็นถึงความสำคัญของ early HTA มูลนิธิเพื่อการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพและสำนักวิชาสาธารณสุขศาสตร์ซอว์สวีฮก มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ จึงได้ผสานพลังกับ สกสว. TCELS และ สปสช. ซึ่งเป็นองค์กรชั้นนำของไทยในด้านนวัตกรรม การวิจัยและประเมินเทคโนโลยีด้านสุขภาพ และนโยบายด้านสุขภาพ เพื่อริเริ่มความร่วมมือในด้าน early HTA ในประเทศไทย และได้จัดพิธีลงนามฯ ในครั้งนี้ เพื่อประกาศจุดเริ่มต้นอย่างเป็นทางการของความร่วมมือของทั้ง 5 หน่วยงาน

ในช่วงพิธีลงนามฯ ผู้แทนจากแต่ละหน่วยงานภาคีได้กล่าวสุนทรพจน์ โดยรองศาสตราจารย์ ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) กล่าวว่า สกสว. มีบทบาทหน้าที่และความรับผิดชอบในการส่งเสริมและขับเคลื่อนระบบวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรมของประเทศ รวมถึงการสร้างองค์ความรู้ การพัฒนานโยบายสาธารณะ ตลอดจนสนับสนุนการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ โดยมีเป้าหมายในการพัฒนาประเทศอย่างสมดุลและยั่งยืน

ปัจจุบันงบประมาณลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ก่อนออกสู่ตลาดมีมูลค่ามาก ซึ่งการประเมินความคุ้มค่าของเทคโนโลยีด้านสุขภาพในปัจจุบันเป็นการประเมินหลังจากที่ผลิตภัณฑ์ได้ออกสู่ตลาดแล้ว และหากผลการประเมินออกมาไม่ดี เท่ากับว่าสูญเสียงบประมาณที่ลงทุนไปเป็นจำนวนมาก ดังนั้น หากมีเครื่องมือที่จะมาช่วยในการประเมินความคุ้มค่าของเทคโนโลยีในช่วงต้นของการลงทุนวิจัยและพัฒนา จะสามารถช่วยลดความเสี่ยงของภาครัฐและเอกชนในการลงทุนการวิจัย และช่วยเพิ่มความมั่นใจในการลงทุนมากขึ้น สกสว. จึงยินดีที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือด้าน early HTA ในครั้งนี้ เพราะจะเป็นประโยชน์ในการช่วยภาครัฐและเอกชนตัดสินใจเรื่องการลงทุนในอนาคต

ดร. จิตติ์พร ธรรมจินดา ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) กล่าวว่า ในฐานะหน่วยงานในกำกับของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) TCELS มีพันธกิจในการขับเคลื่อนนวัตกรรม รวมถึงกระตุ้นและเชื่อมโยงเครือข่ายพันธมิตรที่เกี่ยวข้องกับด้านการแพทย์และสุขภาพ โดยครอบคลุมตั้งแต่ด้านการวินิจฉัย การรักษา ไปจนถึงการป้องกันโรค อีกทั้งสนับสนุนและส่งเสริมงานวิจัยและนวัตกรรมด้านชีววิทยาศาสตร์ให้เชื่อมโยงสู่เชิงพาณิชย์ด้วยการร่วมมือกับทุกภาคส่วน เพื่อบรรลุวิสัยทัศน์ในการขับเคลื่อนให้อุตสาหกรรมชีววิทยาศาสตร์เป็นหนึ่งในสิบอุตสาหกรรมหลักที่สามารถเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียม

และจากบทบาทของ TCELS ในการเป็นหน่วยบริหารจัดการทุนวิจัยและนวัตกรรมเพื่อส่งเสริมงานวิจัยและนวัตกรรมด้านการแพทย์และสุขภาพในช่วงปลายน้ำ โดยสนับสนุนการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการด้านการแพทย์และสุขภาพ และผลักดันผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปสู่การใช้ประโยชน์ได้จริงในเชิงพาณิชย์ หรือ Research Utilization (RU) ความร่วมมือด้าน early HTA ในครั้งนี้จึงมีความสำคัญอย่างมาก เนื่องจากจะช่วยให้ TCELS มีข้อมูลประกอบการตัดสินใจ และมีความมั่นใจในการขับเคลื่อนนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ผ่านการประเมินในระยะพัฒนานวัตกรรมมาก่อนแล้ว ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการจัดสรรงบประมาณวิจัยทางด้านการแพทย์และสุขภาพได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ทันตแพทย์อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า สปสช. มีบทบาทในการเก็บ รวบรวม และวิเคราะห์ข้อมูลเกี่ยวกับการดำเนินงานด้านการบริการสาธารณสุข ตลอดจนการสร้างการเข้าถึงบริการสุขภาพที่มีคุณภาพและมาตรฐานให้กับประชาชน และการบริหารจัดการกองทุนที่รวมถึงค่าใช้จ่ายเพื่อการบริการสาธารณสุขให้แก่หน่วยบริการและเครือข่ายหน่วยบริการภายใต้สิทธิประโยชน์ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งมีเพิ่มขึ้นทุกปี ดังนั้น การประเมินเทคโนโลยีเพื่อสนับสนุนการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมด้านสุขภาพจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยเพิ่มความคุ้มค่าและประสิทธิภาพของสิทธิประโยชน์

สปสช. จึงยินดีอย่างยิ่งที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือในครั้งนี้ และจะให้การสนับสนุนในด้านต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งรวมไปถึงการผลักดันเข้าสู่สิทธิประโยชน์ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าทั้ง 5 หน่วยงานจะร่วมกันส่งเสริมการประเมินเทคโนโลยีด้านสุขภาพในระยะพัฒนานวัตกรรม โดยจะใช้จุดแข็งของทั้งห้าหน่วยงานมาร่วมกันเพื่อให้เกิดประโยชน์กับประเทศไทยและประชาชนไทยต่อไป

ศาสตราจารย์เตียว อิ๊กอิง (Teo Yik Ying) คณบดีสำนักวิชาสาธารณสุขศาสตร์ซอว์สวีฮก มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ กล่าวว่า ปัจจุบันมีกระแสด้านการดูแลสุขภาพ ซึ่งเป็นโอกาสสำคัญสำหรับระบบสุขภาพ โรงพยาบาล คลินิกปฐมภูมิ และประชาชนทั่วไป แต่กระแสนี้ก็อาจเป็นอุปสรรคต่อการใช้จ่ายด้านสุขภาพที่ยั่งยืนและมีความรับผิดชอบ ความร่วมมือด้าน early HTA นี้มุ่งหวังจะทำให้เกิดการใช้จ่ายด้านสุขภาพที่ยั่งยืนและมีความรับผิดชอบ โดยพิจารณาว่าเทคโนโลยีใดมีประสิทธิผลและคุ้มค่า เทคโนโลยีใดอาจจะคุ้มค่า และจะมีผลกระทบด้านงบประมาณอย่างไร ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพที่สูงขึ้นเป็นปัญหาใหญ่ที่หลายประเทศทั่วโลกเผชิญ โดยเฉพาะเมื่อมีเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าใหม่ ๆ เพิ่มขึ้น early HTA ไม่เพียงแต่จะเป็นแนวทางให้แก่ผู้กำหนดนโยบาย แต่ที่สำคัญ early HTA ยังให้แนวทางกับผู้พัฒนานวัตกรรม โดยเฉพาะในเรื่องการกำหนดขอบเขตและความครอบคลุมภายใต้ระบบประกันสุขภาพของประเทศ

นอกจากนี้ ความร่วมมือระหว่างนักวิชาการและผู้กำหนดนโยบาย ยังช่วยให้มั่นใจว่าจะมีข้อมูลเชิงวิชาการเพื่อสนับสนุนการกำหนดนโยบาย และนักวิชาการทำวิจัยในหัวข้อที่เป็นที่ต้องการ ในภาวะที่ไม่มีวิกฤต ความร่วมมือนี้จะสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ และรูปแบบการร่วมกันทำงานและหารือในความเป็นจริง ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในยามที่เกิดภาวะวิกฤติด้านสุขภาพ นอกจากนี้ ในสถานการณ์ปัจจุบันที่ความร่วมมือแบบพหุภาคีระส่ำระสาย และแนวคิดชาตินิยมเพิ่มสูงขึ้น ความร่วมมือระหว่างสิงคโปร์และไทยในฐานะพันธมิตรจึงมีความสำคัญอย่างมาก ยิ่งไปกว่านั้น ความร่วมมือนี้ยังอาจขยายไปสู่ประเทศอื่น ๆ ในอาเซียน เพื่อเป็นแนวทางในการจัดลำดับความสำคัญและประเมินเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่อยู่ระหว่างการพัฒนาด้วย early HTA

รศ. ดร.วรรณฤดี อิสรานุวัฒน์ชัย หัวหน้าโครงการและนักวิจัยอาวุโส มูลนิธิเพื่อการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ กล่าวว่า early HTA เป็นแขนงใหม่ของงานวิจัย HTA ซึ่งหลายประเทศเริ่มให้ความสนใจ เนื่องจากการขาดแคลนทรัพยากรด้านการบริการสุขภาพ การเพิ่มขึ้นของค่าใช้จ่ายด้านการบริการสุขภาพที่ไม่สามารถควบคุมได้ และความจำเป็นในการปรับปรุงระบบบริการสุขภาพที่เห็นได้ชัดจากการระบาดใหญ่ของโควิด-19 โดยในปัจจุบันมีองค์กรที่ทำงานด้าน early HTA อีกเพียง 2 แห่งทั่วโลก

ในฐานะองค์กรที่มีความเชี่ยวชาญด้านงานวิจัย HTA มูลนิธิฯ ถือเป็นเกียรติที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการบุกเบิกการทำงานด้าน early HTA ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก เพื่อเสริมศักยภาพการพัฒนานวัตกรรมสุขภาพให้สามารถนำนวัตกรรมไปต่อยอดได้จริง ทั้งในประเทศไทยและในต่างประเทศ ในการนี้ มูลนิธิฯ ได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ จัดตั้งทีมงาน Medical Innovation Development and Assessment Support หรือ MIDAS ภายใต้มูลนิธิฯ โดยทีมงานนี้มีความเชี่ยวชาญในด้าน early HTA และจะมุ่งมั่นทำงานวิจัยเพื่อให้ข้อมูลสนับสนุนผู้ผลิตนวัตกรรม เพื่อให้มีโอกาสสำเร็จสูงสุดต่อไป และเพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงนวัตกรรมใหม่ ๆ ที่มีประสิทธิภาพได้อย่างทันท่วงทีในอนาคต

ด้วยการผสานพลังของผู้เชี่ยวชาญด้านนวัตกรรม การวิจัยและการประเมินเทคโนโลยีด้านสุขภาพ และนโยบายด้านสุขภาพของไทยและสิงคโปร์ บวกกับความมุ่งมั่นและเป้าหมายร่วมกันในการสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกให้กับวงการนวัตกรรมทางการแพทย์และระบบการบริการสุขภาพ ทั้ง 5 หน่วยงานเชื่อมั่นอย่างยิ่งว่าความร่วมมือด้าน early HTA ในครั้งนี้จะนำไปสู่ความเสมอภาค ประสิทธิภาพ และความยั่งยืนในระบบบริการสุขภาพจนเป็นที่ประจักษ์ชัดได้อย่างแน่นอน

 

คลิกที่นี่ เพื่อรับชมพิธีลงนามในบันทึกข้อตกลง (MOU) ว่าด้วยความร่วมมือด้านการจัดลำดับความสำคัญและการประเมินเทคโนโลยีเพื่อสนับสนุนการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมด้านสุขภาพในประเทศไทย

 

*********************************

เกี่ยวกับ HITAP Foundation

มูลนิธิเพื่อการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ หรือ HITAP Foundation ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2550 เป็นองค์กรวิจัย มีพันธกิจหลัก คือ ศึกษาผลกระทบทั้งบวกและลบที่เกิดจากการใช้เทคโนโลยีหรือนโยบายด้านสุขภาพ และนำข้อมูลที่ได้จากการศึกษาวิจัยไปนำเสนอหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง เช่น คณะอนุกรรมการพัฒนาบัญชียาหลักแห่งชาติ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และหน่วยงานต่าง ๆ ภายใต้กระทรวงสาธารณสุข เพื่อใช้ในการตัดสินใจด้านนโยบายของภาครัฐ

นอกจากนี้ HITAP Foundation ยังทำงานในระดับนานาชาติ โดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนา โดยเน้นการเข้าไปสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพให้ประเทศเหล่านั้นสามารถทำการประเมินเทคโนโลยีด้านสุขภาพได้ด้วยตนเอง

20 มิถุนายน 2566

Next post > [ข่าวประชาสัมพันธ์] ระบบติดตามการพิจารณายาในบัญชียาหลักแห่งชาติ รอบปี พ.ศ. 2566 – 2567

< Previous post [ข่าวประชาสัมพันธ์] ขอเชิญเข้าร่วมการประชุมการประชุมเชิงปฏิบัติการ หัวข้อ "การวิจัยไม่สูญเปล่า: พัฒนานวัตกรรมสุขภาพอย่างไรให้คุ้มค่า"

Related Posts