logo


ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อฝ่ายสื่อสารองค์กร HITAP

ฉบับวันที่: 12 พฤษภาคม 2023

[ข่าวประชาสัมพันธ์] นักวิจัย HITAP หารือ 11 หน่วยงานรัฐ เอกชนและภาคประชาชน ประเด็นผลกระทบการเพิ่มเพดานความคุ้มค่ากับการตัดสินใจคัดเลือกยาเข้าสู่บัญชียาหลักแห่งชาติ

เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 27 เมษายน 2566 เวลา 8.30-13.00 น. ณ ห้องประชุม Jasper โรงแรมแกรนด์ริชมอนด์ อำเภอเมือง จังหวัดนนทบุรี โครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (HITAP) ได้มีการจัดประชุมเพื่อนำเสนอผลการศึกษาโครงการวิจัย “ผลกระทบของการเพิ่มเพดานความคุ้มค่าในอดีตที่ผ่านมาที่มีต่อการเปลี่ยนแปลงของราคายา การตัดสินใจคัดเลือกยาเข้าบัญชียาหลักแห่งชาติ และภาระงบประมาณของเจ้าภาพกองทุนต่าง ๆ” ร่วมกับหน่วยงานรัฐ เอกชนและภาคประชาชน ดังนี้ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา, องค์กรเภสัชกรรม, กรมบัญชีกลาง, สำนักงานประกันสังคม, สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ, สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข, สมาคมผู้วิจัยและผลิตเภสัชภัณฑ์ และ ภาคประชาชน

     “นโยบายการเพิ่มเพดานความคุ้มค่านี้ขึ้นอยู่กับนโยบายของภาครัฐที่จะมองตรงนี้อย่างไร มองเป็นส่วนเพิ่มเติม หรือเป็นส่วนสำคัญจำเป็น ในประเทศอื่น เวียดนาม มาเลเซีย สิงคโปร์ จะเห็นได้ว่านโยบายเขาชัดเจน เพราะฉะนั้นนโยบายมันจะขับเคลื่อนได้ มันก็ขึ้นอยู่ที่ วิสัยทัศน์มาบวกกับ การใช้หลักฐานเชิงประจักษ์ จึงทำให้เกิดการลงทุน” ศาสตราจารย์ กิตติคุณ นายแพทย์ เกรียง ตั้งสง่า ประธานคณะอนุกรรมการพัฒนาบัญชียาหลักแห่งชาติ รอบปี พ.ศ. 2562-2564 กล่าวในช่วงเปิดการประชุม

เพดานความคุ้มค่า (cost-effectiveness threshold: (CET)) คือ ความเต็มใจจ่ายของผู้กำหนดนโยบายสำหรับการลงทุนด้านสุขภาพ การประเมินความคุ้มค่าเป็นการคำนวณต้นทุนและผลลัพธ์ที่เพิ่มขึ้นจากยาใหม่เมื่อเปรียบเทียบกับยาเดิม ผลการประเมินความคุ้มค่าจะแสดงในรูปแบบของ อัตราส่วนต้นทุนประสิทธิผลส่วนเพิ่ม (incremental cost-effectiveness ratio: (ICER)) มีหน่วยเป็น บาท/ปีสุขภาวะ การประเมินความคุ้มค่าเป็นข้อมูลหนึ่งที่ใช้ประกอบการตัดสินใจเชิงนโยบายในการจัดสรรทรัพยากรด้านสุขภาพที่เหมาะสม การตัดสินใจว่ายาใหม่มีความคุ้มค่า พิจารณาจากกรณี ICER มีค่าต่ำกว่า CET โดยภาครัฐมีแนวโน้มจะลงทุนในเทคโนโลยีและนโยบายที่คุ้มค่าก่อน การตัดสินใจในกระบวนการพัฒนาบัญชียาหลักแห่งชาติก็เช่นกัน เพดานความคุ้มค่าใช้เป็นเกณฑ์หนึ่งที่สำคัญใช้พิจารณาว่ายารายการใดควรบรรจุไว้ในบัญชียาหลักแห่งชาติ ทั้งนี้ การกำหนดเพดานความคุ้มค่าที่สูงอาจส่งผลให้รายการยาที่มีความคุ้มค่ามีจำนวนมากขึ้นและเพิ่มภาระงบประมาณด้านสุขภาพของประเทศมากขึ้น แต่การกำหนดเพดานความคุ้มค่าที่ต่ำเกินไปอาจส่งผลให้การเข้าถึงยาของประชาชนลดลง

สหราชอาณาจักรและประเทศไทยเป็นตัวอย่างของประเทศที่มีการกำหนดเพดานความคุ้มค่าไว้อย่างชัดเจนเพื่อใช้ประกอบการตัดสินใจเชิงนโยบาย โดยหน่วยงาน National Institute for Health and Care Excellence (NICE) ของสหราชอาณาจักร ได้กำหนดเพดานความคุ้มค่าไว้ที่ 20,000 – 30,000 ปอนด์ (ประมาณ 854,000 – 1,280,000 บาท) ต่อปีสุขภาวะ ตั้งแต่ปี 1999 และไม่เคยมีการเปลี่ยนแปลงเพดานความคุ้มค่าแม้แต่ครั้งเดียว ขณะที่ประเทศไทยมีการปรับเพิ่มเพดานความคุ้มค่า 2 ครั้ง โดยปรับจาก 100,000 บาท/ปีสุขภาวะ ในช่วง พ.ศ. 2551 – 2553 เป็น 120,000 บาท/ปีสุขภาวะ ในช่วง พ.ศ. 2553 – 2556 และปรับเพิ่มอีกครั้งล่าสุดเป็น 160,000 บาท/ปีสุขภาวะ ในช่วงปี พ.ศ. 2556 จนถึงปัจจุบัน อนึ่ง จากการทบทวนวรรณกรรมประเทศไทยเป็นประเทศแรกและประเทศเดียวในโลกที่มีการปรับเพิ่มเพดานความคุ้มค่า

คณะอนุกรรมการพัฒนาบัญชียาหลักแห่งชาติ (รอบปี พ.ศ. 2562 – 2564) ได้รับคำถามจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในภาคส่วนต่างๆ เรื่องการเพิ่มเพดานความคุ้มค่ามีผลกระทบต่อการตัดสินใจของการเลือกยาเข้าบัญชียาหลักแห่งชาติ จึงมีมติเห็นชอบให้คณะทำงานด้านเศรษฐศาสตร์สาธารณสุขทบทวนผลกระทบการปรับเพิ่มเพดานความคุ้มค่าจาก 2 ครั้งที่ผ่านมา จึงเป็นที่มาของงานวิจัยครั้งนี้ ทีมวิจัย HITAP ร่วมกับนักวิจัยจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา, Dr. Ryota Nakamura จากมหาวิทยาลัย Hitotsubashi และ Dr. Hwee Lin Wee และ Dr. Yi Wang จากมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ โดยมีคำถามในงานวิจัย คือ การปรับเพิ่มเพดานความคุ้มค่ามีผลกระทบต่อราคายาที่ใช้ในการศึกษาความคุ้มค่า การตัดสินใจของคณะอนุกรรมการพัฒนาบัญชียาหลักแห่งชาติ และภาระงบประมาณของระบบประกันสุขภาพหรือไม่

ทีมวิจัยได้วิเคราะห์ข้อมูลจากรายงานการประเมินความคุ้มค่าของยาที่เสนอเข้าสู่บัญชียาหลักแห่งชาติและได้รับการพิจารณาโดยคณะอนุกรรมการฯ จนมีการตัดสินใจขั้นสุดท้าย ระหว่างปี พ.ศ. 2551-2563 การวิเคราะห์เพื่อตอบคำถามใช้วิธี Difference-in-difference (DID) และใช้สถิติเชิงพรรณา เพื่อหาผลกระทบของการปรับเพิ่มเพดานความคุ้มค่า ผลการทดสอบนัยสำคัญทางสถิติเมื่อ p-value ≤ 0.05 ผลการศึกษาพบว่า การปรับเพิ่มเพดานความคุ้มค่า 1) มีผลกระทบต่อราคายาที่ใช้ในการศึกษาความคุ้มค่าอย่างไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ 2) มีผลกระทบต่อการตัดสินใจของคณะอนุกรรมการฯ ในการบรรจุยาใหม่เข้าบัญชียาหลักแห่งชาติอย่างไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ 3) แต่ไม่สามารถตอบในประเด็นว่ามีผลกระทบต่อภาระงบประมาณของระบบประกันสุขภาพหรือไม่เนื่องจากข้อมูลไม่เพียงพอจากผลการศึกษา ทีมวิจัยมีข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย คือ ยังไม่มีความจำเป็นต้องปรับเพิ่มเพดานความคุ้มค่าในประเทศไทยในขณะนี้ เนื่องจากยังไม่มีหลักฐานว่าการปรับเพิ่มจะมีผลต่อการตัดสินใจของคณะอนุกรรมการบัญชียาหลักแห่งชาติในการบรรจุยาใหม่ และจากงานวิจัยนี้ยังพบว่ามีปัจจัยอื่นๆ อีกหลายด้านที่มีผลต่อราคายาและโอกาสที่ยาจะเข้าสู่บัญชียาหลักแห่งชาติ ได้แก่ ยารักษาโรคหายาก ยาที่มีสิทธิบัตร

อย่างไรก็ตาม หากมีกลุ่มตัวอย่างของชุดข้อมูลที่นำมาวิเคราะห์เพิ่มขึ้นอาจส่งผลต่อข้อสรุปของงานวิจัยนี้ในอนาคต จึงควรมีการเก็บข้อมูลของผลการศึกษาความคุ้มค่าของยาใหม่, ผลการตัดสินใจของคณะอนุกรรมการพัฒนาบัญชียาหลักแห่งชาติ และข้อมูลการเบิกจ่ายยาของทั้ง 3 กองทุน ได้แก่ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ, สำนักงานประกันสังคม และกรมบัญชีกลาง สำหรับใช้ในการศึกษาวิจัยต่อไปในอนาคต

ในการประชุมนี้ยังมีการเปิดเวทีอภิปรายและให้ข้อเสนอแนะจากภาคส่วนต่างๆ โดย ดร. กรวิกา พิมุขมนัสกิจ จากสมาคมผู้วิจัยและผลิตเภสัชภัณฑ์ได้ให้ความคิดเห็นว่า ควรมีการเพิ่มเติมมุมมองการวิเคราะห์อื่น ๆ เข้ามาเพื่อให้มีคำอธิบายในส่วนของผลลัพธ์ที่ครอบคลุมมากขึ้น

รศ.ดร.วรรณฤดี อิสรานุวัฒน์ชัย หัวหน้าโครงการ และนักวิจัยอาวุโส จาก HITAP ได้กล่าวในประเด็นการปรับเพิ่มเพดานความคุ้มค่านี้ว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีกรณีการเพิ่มเพดานความคุ้มค่านี้เพียงประเทศเดียว และหากเป็นไปได้อยากพัฒนาให้ข้อมูลนี้เข้าถึงได้แบบสาธารณะ เพื่อให้ผู้ที่สนใจจากกลุ่มต่าง ๆ สามารถนำข้อมูลชุดนี้ไปใช้ศึกษามากขึ้น

คุณเอกวัฒน์ สุวันทโรจน์ และ คุณบุญ พุฒิพงศ์ธนโชติ ตัวแทนภาคประชาชนจากเครือข่ายผู้ป่วยฮีโมฟีเลียและโรคหายาก กล่าวถึงนโยบายเกี่ยวกับโรคหายากมีการเปิดกว้างมากขึ้นกว่าในอดีตมาก มีการพัฒนาทั้งนโยบายและการเงินการคลังที่ทำให้ผู้ป่วยเข้าสู่ระบบการรักษามากขึ้น ดังนั้นการกำหนดค่า ICER และการปรับ

เพิ่มเพดานความคุ้มค่าจึงไม่ใช่ปัจจัยเดียวที่นำมาใช้ในการตัดสินใจคัดเลือกยาสำหรับโรคหายาก แต่ยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่มาเกื้อกูลให้เกิดขึ้นได้ สำหรับการต่อยอดจากงานวิจัยนี้ควรมีตัวแทนกลุ่มผู้ป่วยเข้ามาร่วมในการศึกษาเชิงคุณภาพในอนาคตร่วมด้วยถึงแม้ว่าประเทศไทยจะไม่ใช่ประเทศแรกที่ใช้ข้อมูลความคุ้มค่าในการพัฒนาชุดสิทธิประโยชน์ แต่จนถึงปัจจุบันมีเพียงประเทศไทยเท่านั้นที่ปรับเพิ่มเพดานความคุ้มค่า ดังนั้นการศึกษาวิจัยและผลการศึกษานี้ถือเป็นความรู้ที่สำคัญของโลก

โดยลำดับขั้นตอนของงานวิจัย ทีมวิจัยจะมีการเพิ่มเติมคำอธิบายผลของการศึกษาในหลาย ๆ ประการ และเพิ่มการสื่อสารแก่กลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่หลากหลาย รวมทั้งต่อยอดทำการศึกษาเชิงคุณภาพเพื่อตอบคำถามในประเด็นต่าง ๆ ที่ได้รับคำแนะนำจากการประชุมครั้งนี้ต่อไป


ผู้สนใจสามารถดูข้อมูลโครงการวิจัยนี้ได้ที่

https://www.hitap.net/research/182789

12 พฤษภาคม 2566

Next post > [ข่าวประชาสัมพันธ์] ขอเชิญเข้าร่วมการประชุมการประชุมเชิงปฏิบัติการ หัวข้อ "การวิจัยไม่สูญเปล่า: พัฒนานวัตกรรมสุขภาพอย่างไรให้คุ้มค่า"

< Previous post [Press Release] ร่วมเรียนรู้บทบาทนักวิจัย HTA สู่การนำผลงานไปใช้ในการกำหนดนโยบายสุขภาพ

Related Posts