logo


ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อฝ่ายสื่อสารองค์กร HITAP
HITAP ชูบทบาทผู้นำด้านสาธารณสุขของประเทศไทยร่วมเป็นเจ้าภาพจัดงานประชุมวิชาการประเมินเทคโนโลยีด้านสุขภาพ (HTA) ระดับภูมิภาค

HITAP ชูบทบาทผู้นำด้านสาธารณสุขของประเทศไทยร่วมเป็นเจ้าภาพจัดงานประชุมวิชาการประเมินเทคโนโลยีด้านสุขภาพ (HTA) ระดับภูมิภาค ระดมนักวิชาการกว่า 300 คนจาก 20 ประเทศ เสนองานวิจัย สร้างเครือข่ายพัฒนาข้อเสนอเชิงนโยบายแก่ผู้บริหารระดับสูง และกำหนดมาตรการสาธารณสุขที่มีประสิทธิภาพ

มูลนิธิเพื่อการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ ร่วมกับ กระทรวงสาธารณสุข สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข องค์การอนามัยโลก ศูนย์วิจัยพัฒนาสุขภาพแห่งชาติจีน (China National Health Development Research Center) และภาคส่วนต่างๆ  ร่วมเป็นเจ้าภาพ จัดการประชุมวิชาการประจำปีHTAsialink (HTAsiaLink Annual Conference) ครั้งที่ 10 ประจำปี 2565 ขึ้นเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน– 2 ธันวาคม 2565 ที่พัทยา จ.ชลบุรี ภายใต้แนวคิด บทบาทของ HTA ใน New normal” (The Role of HTA in the New Normal : driving the post-COVID health system through evidence-informed decisions) การประชุมระดับภูมิภาคและนานาชาติครั้งนี้ มีนักวิชาการและนักวิจัยทั่วโลกกว่า 300 คนจาก 20 ประเทศเข้าร่วม เพื่อนำเสนอผลงานวิจัยและรับข้อเสนอแนะจากผู้เชี่ยวชาญนานาชาติ และร่วมอภิปรายในหัวข้อที่น่าสนใจในสถานการณ์สุขภาพปัจจุบัน

 

ช่วงพิธีเปิดงานประชุม

ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช ประธานกรรมการมูลนิธิเพื่อการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ ให้เกียรติเป็นประธานในพิธีเปิดกล่าวว่า “โควิด-19 ได้สอนเราอย่างหนึ่ง ว่าระบบสุขภาพของเราต้องสามารถรับมือกับความท้าทายทั้งที่คาดได้และไม่คาดคิด และเราต้องสร้างสรรค์ในการให้บริการด้านสาธารณสุข มีการนำเทคโนโลยีและวิธีการให้บริการด้านสาธารณสุขใหม่ ๆ มาใช้ในช่วงที่มีการระบาดของโควิด-19 และยังคงมีการใช้ต่อไป เช่น การแพทย์ทางไกล ปัญญาประดิษฐ์และเทคโนโลยีใหม่ ๆ ด้านสุขภาพก็มีการพัฒนาอย่างก้าวกระโดด นักวิจัยด้าน HTA ต้องติดตามความก้าวหน้าให้ทัน หรือกระทั่งต้องก้าวนำหน้าการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้”

นพ.รุ่งเรือง กิจผาติ หัวหน้าที่ปรึกษาระดับกระทรวง (นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ ระดับ 11 และโฆษกกระทรวงสาธารณสุข) ให้เกียรติบรรยายพิเศษกล่าวว่า “ในฐานะประธานคณะกรรมการประมวลสถานการณ์ COVID-19 กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งให้คำแนะนำที่มีฐานจากงานวิชาการแก่ผู้กำหนดนโยบายระดับสูงในประเทศไทย การให้ข้อมูลที่ทันการณ์และความร่วมมือของเครือข่าย HTA ในประเทศไทย นำโดยโครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (HITAP) และระดับนานาชาติผ่านเครือข่าย HTAsiaLink เป็นปัจจัยสำคัญที่ขาดไม่ได้”

การประชุมวิชาการประจำปี HTAsialink (HTAsiaLink Annual Conference) เป็นการประชุมรายปีที่มีวัตถุประสงค์เพื่อเปิดพื้นที่ให้นักวิจัยสามารถนำเสนอผลงานวิจัย และรับข้อเสนอแนะจากผู้เชี่ยวชาญจากนานาชาติ และร่วมอภิปรายในหัวข้อที่กำหนดไว้ในการสัมมนา การประชุมนี้ถือเป็นการให้โอกาสแก่นักวิจัยรุ่นใหม่ที่เพิ่งเริ่มต้นในเส้นทางงานวิจัยด้านการประเมินเทคโนโลยีด้านสุขภาพ (health technology assessment หรือ HTA) ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้กับนักวิจัยท่านอื่น ๆ นอกจากนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความเข้มแข็งของเครือข่ายการประเมินเทคโนโลยีด้านสุขภาพในทวีปเอเชีย พัฒนาขีดความสามารถด้านวิชาการแก่นักวิจัย สนับสนุนแลกเปลี่ยนเรียนรู้และการมีสัมพันธภาพที่ดีระหว่างผู้เข้าร่วมประชุมจากประเทศที่เป็นสมาชิกและประเทศอื่น ๆ โดยรูปแบบการประชุมประกอบด้วย การประชุมเชิงปฏิบัติการ การบรรยาย การอบรมพัฒนาทักษะด้านการวิจัย แลกเปลี่ยนประสบการณ์ การนำเสนอและประกวดผลงานวิจัย และนิทรรศการจากเครือข่ายร่วมจัดแสดงด้วย โดยไม่มีค่าใช้จ่ายในการเข้าร่วม

“ตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา เครือข่าย HTAsiaLink ได้ทำให้หลายสิ่งเกิดขึ้นและประสบความสำเร็จ นอกจากนี้ HTA ยังเกิดขึ้นในอีกหลาย ๆ ประเทศในภูมิภาค” ดร.อิซซูน มัดลา โมฮาเหม็ด กาซาลี รองประธานเครือข่าย HTAsiaLink ปี 2564-2565 กล่าว “โดยประเทศเจ้าภาพจะได้รับผลประโยชน์จากการสร้างศักยภาพและการตระหนักรู้ด้าน HTA ของรัฐบาลและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เพื่อให้เห็นถึงความสำคัญของ HTA และก่อตั้งสถาบัน HTA ให้มากยิ่งขึ้น หน่วยงานด้าน HTA ได้รับการสนับสนุนจากการทำงานร่วมกันของผู้เชี่ยวชาญทั้งหมดในภูมิภาค

 

แชร์ประสบการณ์จากงานประชุม HTAsiaLink

ในการประชุมครั้งนี้ มีการอภิปรายในหัวข้อ “พลิกโฉมระบบสาธารณสุขและ HTA หลังโควิด-19” “เพิ่มการใช้หลักฐานวิชาการจากสถานการณ์จริง (real-world evidence) ในแวดวง HTA ทั่วโลก” และ “ค้นหาคำตอบสุดท้ายในระบบสุขภาพ เทคโนโลยีล้ำยุคคือคำตอบหรือไม่” โดยมีผู้เชี่ยวชาญจากนานาประเทศร่วมอภิปราย อาทิ อินเดีย ไต้หวัน สิงคโปร์ สหราชอาณาจักร ไทย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย เกาหลีใต้ และออสเตรเลีย นอกจากนี้ ยังมีผู้ส่งงานวิจัยเข้าประกวดและนำเสนอ (oral presentation) ทั้งสิ้น 57 เรื่อง และประกวดโปสเตอร์ (poster presentation) 22 เรื่อง

“นี่เป็นครั้งแรกที่ฉันได้เข้าร่วมการประชุมนานาชาติ HTAsiaLink ค่ะ เป็นโอกาสที่ดีมากในการสร้างเครือข่ายและอภิปรายในประเด็นต่าง ๆ ฉันได้อภิปรายเรื่องความเป็นธรรมด้านสุขภาพในที่ประชุม แต่ยังมีอีกหลายประเด็นที่เราควรทำงานร่วมกัน การประชุมนี้จึงเป็นโอกาสชั้นเยี่ยมสำหรับนักวิจัยรุ่นเยาว์ค่ะ” เคียวโกะ ชิมาโมโตะ จากมหาวิทยาลัยเคโอ ประเทศญี่ปุ่น กล่าว

นอกจากนี้ ยังมีนักวิจัย ฝ่ายเลขานุการ และคณะทำงานที่สนับสนุนการพัฒนาบัญชียาหลักแห่งชาติของไทยเข้าร่วมในงานประชุมครั้งนี้ด้วย ภญ.ธนิศา ทาทอง ฝ่ายเลขานุการ คณะอนุกรรมการบัญชียาหลักแห่งชาติ กล่าวว่า “HTAsiaLink เป็นเครือข่ายที่ทำให้ได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างประเทศไทยและประเทศอื่น ๆ เป็นประโยชน์อย่างมากที่จะได้นำสิ่งที่ได้จากการบรรยาย และจากการพูดคุยจากคนแต่ละประเทศมาใช้ในการพัฒนางานและประกอบการตัดสินใจในการคัดเลือกยา เพื่อให้เกิดความรวดเร็ว มีประสิทธิภาพ และเป็นที่ยอมรับมากยิ่งขึ้น” ภญ.อัญชลี จิตรักนที สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (งานบัญชียาหลักแห่งชาติ) เห็นไปในทิศทางเดียวกัน “เรื่องของ HTA เรื่องของเทคโนโลยีเป็นสิ่งที่สำคัญที่อาจจะไม่ได้ใช้เฉพาะแค่เรื่องยาอย่างเดียว แต่อาจใช้ในด้านเครื่องมือแพทย์ การที่มีนักวิจัยใหม่ ๆ เกิดขึ้นได้ มันก็จะเป็นโอกาสของการนำมาใช้ในการตัดสินใจเชิงนโยบาย หรือการผลักดันในด้านต่าง ๆ ให้เกิดความคุ้มค่า”

“ถ้า HTAsiaLink ขยายมากขึ้นเรื่อย ๆ ก็จะเกิดการแลกเปลี่ยนในวงกว้างมากขึ้น ระบบสุขภาพของโลกจะมีการพัฒนา มีการใช้ หลักฐานวิชาการในประกอบการกำหนดนโยบายอย่างเป็นระบบแข็งแรงมากขึ้นในอนาคต” ผศ. ดร.กุลจิรา อุดมอักษร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ สมาชิกคณะทำงาน คณะอนุกรรมการพัฒนาบัญชียาหลักแห่งชาติ กล่าว

 

ช่วงพิธีปิดงานประชุม

ในช่วงพิธีปิด นพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ คณะกรรมการมูลนิธิเพื่อการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ สรุปว่า ในงานนี้มีการอภิปรายหลายประเด็น แต่มีอีกหลายคำถามที่ยังควอยู่ ทั้งประเด็นว่าควรทำ HTA อย่างไรต่อไป ควรเป็นการทำ HTA แบบเร่งกระบวนการ (rapid HTA) หรือไม่ หลักฐานวิชาการจากสถานการณ์จริงกับการทดลองทางคลินิกที่ใช้ระยะเวลาสั้นและต้นทุนต่ำลง อะไรกันแน่คือสิ่งที่เป็นอนาคต และเทคโนโลยีใหม่ ๆ เช่น ปัญญาประดิษฐ์ การแพทย์ทางไกล จะช่วยพัฒนาสุขภาพของผู้คน หรือเพียงแค่เปลี่ยนการรักษาพยาบาลโดยไม่ช่วยยกระดับความเป็นธรรมด้านสุขภาพ บริการที่ผู้ป่วยได้รับ และการปฏิบัติงานของบุคลากร

“ผมมั่นใจว่าพวกคุณคงมีคำถามอื่นอีก และเราจะหาคำตอบและเรียนรู้จากกันไปพร้อมกัน”

การประชุมวิชาการนานาชาติ HTAsiaLink ในปี 2566 จะจัดขึ้นที่ปูตราจายา ประเทศมาเลเซีย ภายใต้แนวคิด “Reshaping and Reshifting HTA in Navigating Future Landscape”

 

เกี่ยวกับ  HTAsiaLink

HTAsiaLink คือ เครือข่ายภูมิภาคของ Health Technology Assessment (HTA) หรือชื่อไทยว่า “การประเมินเทคโนโลยีด้านสุขภาพ” หมายถึงการวิเคราะห์อย่างเป็นระบบเพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลหรือผลวิจัย ที่จะนำไปสนับสนุนการตัดสินใจเชิงนโยบาย โดยคำนึงถึงหลายปัจจัย เช่น ความปลอดภัย ประสิทธิผล ต้นทุน ความคุ้มค่า ผลกระทบต่อองค์กร สังคม และจริยธรรม ที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้เทคโนโลยีทางการแพทย์นั้น ๆ เพื่อในท้ายที่สุดแล้วให้เกิดการเลือกใช้เทคโนโลยีทางสุขภาพได้อย่างเหมาะสมของสังคม โดย HTAsiaLink ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ.2554 ปัจจุบันมีสมาชิกจำนวน 34 องค์กรใน14 ประเทศในภูมิภาค และมีพารทเนอร์จากประเทศอังกฤษ ออสเตรเลีย และแคนาดา https://htasialink.com หรือ HTAsiaLink Playlists บน Youtube

HTAsiaLink Playlists:

28 ธันวาคม 2565

Next post > [Press Release] ดร. นพ.พงศธร พอกเพิ่มดี ชื่นชม HITAP ย้ำสร้างความร่วมมือ ใช้ประโยชน์เทคโนโลยี และสื่อสารงานสู่สาธารณะ

< Previous post [Press Release] เสริมสร้างความแข็งแกร่งพร้อมรับมือโรคระบาด ผ่านการสร้างแบบจำลองโรคติดเชื้อ

Related Posts