ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อฝ่ายสื่อสารองค์กร HITAP
เมื่อวันที่ 2 – 5 กรกฎาคม 2562 โครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (HITAP) จัดอบรม “การวิเคราะห์ต้นทุนทางการแพทย์และสาธารณสุขครั้งที่ 1” ณ โรงแรมริชมอนด์ สไตล์ลิช คอนเวนชั่น จ.นนทบุรี โดยมีบุคลากรในแวดวงการแพทย์และสาธารณสุข ทั้งจากสถานพยาบาล มหาวิทยาลัย และหน่วยงานอื่น ๆ เข้าร่วมอบรมรวม 2 หลักสูตรมากกว่า 130 ท่าน
การอบรมดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้เข้าร่วมอบรมได้มีความรู้ ทักษะในการวิเคราะห์ และเข้าใจเครื่องมือที่ใช้ในการวิเคราะห์ต้นทุนทางการแพทย์และสาธารณสุข ตลอดจนสามารถนำองค์ความรู้ไปใช้ในการวางแผนบริหารจัดการ ควบคุมค่าใช้จ่ายในหน่วยบริการ ซึ่งจะส่งผลต่อการสร้างเสริมศักยภาพด้านการวิจัยเพื่อพัฒนาระบบสาธารณสุขของประเทศในอนาคต
ดร. ภญ. พัทธรา ลีฬหวรงค์
ดร. ภญ. พัทธรา ลีฬหวรงค์ หัวหน้าโครงการฯ กล่าวเปิดงาน โดยเผยถึงเบื้องหลังการจัดอบรมหลักสูตรนี้ที่จัดขึ้นเพื่อตอบสนองความต้องการของบุคลากรทางการแพทย์ที่สนใจเรื่องต้นทุน ทำให้การอบรมนี้ได้รับความสนใจเหนือความคาดหมาย
ทางด้าน รศ. ดร. ภก. อาทร ริ้วไพบูลย์ อาจารย์ประจำภาพวิชาเภสัชกรรม มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้เชี่ยวชาญด้านการวิเคราะห์ต้นทุนทางการแพทย์และสาธารณสุข ในฐานะผู้ร่วมออกแบบหลักสูตรกล่าวถึงความสำคัญของการวิเคราะห์ต้นทุนที่จะช่วยให้การทำงานระดับโรงพยาบาลและระดับนโยบายมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
รศ. ดร. ภก. อาทร ริ้วไพบูลย์
โดยผู้เข้าร่วมอบรมได้รับความรู้พื้นฐานตลอดจนการฝึกปฏิบัติจริงในการวิเคราะห์ต้นทุน โดยมีทีมนักวิจัย HITAP และเครือข่ายคอยให้คำแนะนำอย่างใกล้ชิดผ่านการอบรมที่จัดเป็น 2 หลักสูตรได้แก่
หลักสูตร 1 แนวคิดพื้นฐานของการวิเคราะห์ต้นทุน มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ทราบถึงความสำคัญ วิธีการ และขั้นตอนของการวิเคราะห์ต้นทุนต่อหน่วย และต้นทุนของเครื่องมือแพทย์ราคาสูง ตลอดจนการนำผลการวิเคราะห์ไปใช้ในโรงพยาบาลหรือหน่วยงานอื่น ๆ ที่จำเป็นต้องใช้ข้อมูลต้นทุนเพื่อบริหารจัดการงบประมาณสำหรับการให้บริการทางการแพทย์
หลักสูตร 2 การวิเคราะห์ต้นทุนความเจ็บป่วยและต้นทุนของมาตรการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคมีจุดเด่นที่การฝึกทำแบบฝึกหัดที่เกี่ยวข้องกับการวิเคราะห์ต้นทุนความเจ็บป่วยจากปัจจัยเสี่ยง และต้นทุนของมาตรการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค
ทันตแพทย์หญิง วรมน อัครสุต สำนักทันตสาธารณสุข กรมอนามัย เผยในฐานะผู้เข้าอบรมว่า การอบรมนี้ช่วยในการเลือกวิธีการรักษาที่ทั้งได้ผล และมีต้นทุนที่เหมาะสมซึ่งเป็นประโยชน์กับทั้งผู้ให้บริการกับผู้รับบริการ
ขณะที่ อ.นพ.กิตติศักดิ์ ศรีพงษ์ ผู้ช่วยคณบดี ฝ่ายโรงพยาบาล คณะแพทยศาสตร์ ม.สงขลานครินทร์ ในฐานะผู้เข้าร่วมอบรมเผยว่า หลักสูตรนี้เหมาะกับบุคลากรทางการแพทย์ตั้งแต่ระดับปฏิบัติการจนถึงผู้บริหาร
31 กรกฎาคม 2562