logo

HITAP ร่วมมือกับกรมการแพทย์ จัดการประชุมผู้เชี่ยวชาญและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ในโครงการ “การพัฒนาแนวทางการประเมินความคุ้มค่าฯ ปัญญาประดิษฐ์ทางการแพทย์ เพื่อบรรจุในชุดสิทธิประโยชน์ ในระบบประกันสุขภาพของประเทศไทย”

ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อฝ่ายสื่อสารองค์กร HITAP
ปี 63 กองทุนบัตรทองเริ่มสิทธิ ตรวจหาดีเอ็นเอเชื้อ HPV เพิ่มประสิทธิภาพคัดกรองมะเร็งปากมดลูก

ปี 63 กองทุนบัตรทอง เริ่มสิทธิประโยชน์ “เอชพีวี ดีเอ็นเอ เทสท์” ตรวจหาดีเอ็นเอของเชื้อไวรัสเอชพีวีที่ก่อให้เกิดมะเร็งปากมดลูก เพิ่มประสิทธิภาพคัดกรองมะเร็งปากมดลูก ดูแลหญิงไทยเข้าถึงการรักษาระยะแรกเริ่ม ลดอัตราป่วยลุกลาม เสียชีวิต พร้อมประสาน สธ. ราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์ฯ พัฒนาศักยภาพ ขยายบริการรองรับ

นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า มะเร็งปากมดลูกเป็นปัญหาสาธารณสุขของประเทศไทย โดยสถิติเป็นมะเร็งที่พบเป็นอันดับ 2 ในผู้หญิงไทยและมีอัตราการเสียชีวิตที่สูงมาก แต่รักษาให้หายได้หากพบในระยะแรกเริ่ม และเพื่อลดจำนวนหญิงไทยที่เจ็บป่วยด้วยโรคนี้ การคัดกรองมะเร็งปากมดลูกระยะแรกเริ่มเพื่อนำไปสู่การรักษาจึงเป็นมาตรการสำคัญ โดยบรรจุเป็นสิทธิประโยชน์กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ดำเนินการร่วมกับหน่วยบริการ บริการตรวจคัดกรองด้วยวิธีแปปสเมียร์ (Pap smear/conventional cytology :CC) ซึ่งเป็นวิธีที่แพร่หลายและใช้โดยทั่วไปในประเทศไทยมากว่า 70 ปี หรือวิธีวีไอเอที่เป็นการตรวจโดยชโลมปากมดลูกด้วยน้ำส้มสายชู 3-5 % (Visual Inspection with Acetic acid : VIA) มาอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิผลของบริการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกและเป็นไปตามข้อแนะนำ (Guideline) การคัดกรองมะเร็งปากมดลูกฉบับปรับปรุงเดือนกันยายน 2561 ของราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย ในการประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ที่ผ่านมาได้เห็นชอบให้เริ่มดำเนินการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกด้วยเอชพีวี ดีเอ็นเอ เทสต์ (HPV DNA test) แทนการตรวจด้วยแปปสเมียร์หรือวีไอเอในปี 2563 ตามรูปแบบบริการการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกที่ปรับปรุงและงบประมาณดำเนินการ โดยหน่วยบริการสามารถเลือกที่จะให้บริการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกได้ทั้ง 3 รูปแบบ ทั้งแปปสเมียร์, วีไอเอ และเอชพีวี ดีเอ็นเอ เทสท์

นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวว่า การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกด้วยเอชพีวี ดีเอ็นเอ เทสท์ เป็นการตรวจหาดีเอ็นเอของเชื้อไวรัสเอชพีวีที่ก่อให้เกิดมะเร็งปากมดลูก วิธีนี้มีความไวในการตรวจหาเซลล์ผิดปกติสูงมาก แต่มีข้อจำกัดที่ต้องควบคุมคุณภาพอย่างเข้มงวด ราคาค่อนข้างแพงและการใช้จำกัดอยู่ในสถานพยาบาลที่มีห้องปฏิบัติการขนาดใหญ่ ปัจจุบันได้มีการพัฒนาเครื่องและชุดตรวจเอชพีวี ดีเอ็นเอ เทสท์ ให้ใช้งานง่ายและราคาถูกลงมาก ประกอบกับผลการศึกษาการประเมินความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ โดยโครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (HITAP) ระบุว่า เอชพีวี ดีเอ็นเอ เทสท์ เป็นวิธีการตรวจมะเร็งปากมดลูกที่มีประสิทธิภาพและคุ้มค่า ทำให้สามารถตรวจพบผู้ป่วยในระยะแรกเริ่มเพิ่มขึ้นและเข้าสู่การรักษาได้โดยเร็วก่อนลุกลาม ช่วยให้อุบัติการณ์และการเสียชีวิตจากมะเร็งปากมดลูกลดลงเมื่อเทียบกับวิธีคัดกรองในปัจจุบัน ทั้งยังมีต้นทุนค่าใช้จ่ายที่ใกล้เคียงกัน

ส่วนรูปแบบของบริการคัดกรองมะเร็งปากมดลูกด้วยเอชพีวี ดีเอ็นเอ เทสท์ จะเป็นวิธีคัดกรองมะเร็งปากมดลูกลำดับแรกในกลุ่มประชากรอายุ 30-59 ปี กรณีที่ผลการตรวจไม่พบเชื้อจะเข้าสู่กระบวนการคัดกรองทุก 5 ปี และในกรณีที่ตรวจพบเชื้อจะทำการตรวจยืนยันซ้ำและเข้าสู่กระบวนการรักษาต่อไป

อย่างไรก็ตามการตรวจด้วยวิธีเอชพีวี ดีเอ็นเอ เทสท์ มีประเด็นพิจารณาทั้งในเรื่องของบุคลากรที่จะดูแลและอ่านผลจากเครื่องเอชพีวี ดีเอ็นเอ ที่ต้องเพิ่มในทุกเขต และมีปริมาณงานที่เพิ่มขึ้น สปสช.จะประสานการดำเนินงานอย่างใกล้ชิดกับสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข กรมการแพทย์ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย ในการพัฒนาและขยายศักยภาพของทุกหน่วยบริการเพื่อรองรับการตรวจเอชพีวี ดีเอ็นเอ เทสท์ และการจัดระบบบริการรองรับการเข้าถึงบริการรักษาต่อเนื่องหลังจากผลการตรวจคัดกรองเป็นบวก ทั้งการตรวจปากมดลูกด้วยกล้อง (Colposcopy) เพื่อยืนยันและการรักษามะเร็งตามจำเป็น

“การดำเนินกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาตินั้น สิทธิประโยชน์ต่างๆ ทั้งการรักษาและบริการสาธารณสุข ที่ผ่านมาได้มีการปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ผู้ป่วยและประชาชนผู้มีสิทธิได้รับการดูแลอย่างมีคุณภาพและมาตรฐาน เช่นเดียวกับกรณีการเริ่มสิทธิประโยชน์เอชพีวี ดีเอ็นเอ เทสท์ ในปี 2563 เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการคัดกรองมะเร็งปากมดลูก ที่นับเป็นอีกก้าวหนึ่งในการพัฒนาของกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ” เลขาธิการ สปสช. กล่าว

30 กรกฎาคม 2562

Next post > HITAP จัดอบรม “วิเคราะห์ต้นทุนทางการแพทย์” ครั้งที่ 1 ผู้เข้าร่วมเผยมีประโยชน์ ใช้ได้จริง ทุกคนควรเข้าร่วม

< Previous post HITAP จัดประชุมรายงานผลวิจัย ทบทวนชุดสิทธิประโยชน์ภายใต้บัตรประกันสุขภาพคนต่างด้าว

Related Posts

ข่าวที่เข้าชมมากที่สุด ในรอบ 3 เดือน

HITAP เป็นข่าว ล่าสุด