ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อฝ่ายสื่อสารองค์กร HITAP
โครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (HITAP) วิจัยพบหลังมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า คนไทยมีรายจ่ายด้านสุขภาพที่ต้องจ่ายเองเป็นสัดส่วนที่ลดลง โดยในรายจ่ายด้านสุขภาพพบว่ามีการจ่ายค่ายาและเวชภัณฑ์ในส่วนของ “อาหารเสริม ยาบำรุงและวิตามิน” เพิ่มสูงขึ้นกว่า 10 เท่า เสนอแนะรัฐบาลควรพิจารณาเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลคุณประโยชน์และโทษของอาหารเสริม ยาบำรุงและวิตามินมากขึ้น
ในอดีตค่าใช้จ้ายด้านสุขภาพถือเป็นรายจ่ายสำคัญที่ทำให้หลายครอบครัวเกิดภาวะล้มละลายจากค่ารักษาพยาบาล ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง, ประกันสังคม, สิทธิ์ราชการ) จึงเกิดขึ้นเพื่อเป้าหมายที่จะให้ประชากรไทยทุกคนเข้าถึงบริการด้านสุขภาพ และลดรายจ่ายด้านสุขภาพที่ประชาชนหรือครัวเรือนต้องจ่ายเอง และที่ผ่านมาก็มีหลักฐานว่าสัดส่วนรายจ่ายด้านสุขภาพที่ประชากรไทยจ่ายเองลดลงเมื่อเทียบกับรายจ่ายอื่น
สุรเดช ดวงทิพย์สิริกุล นักวิจัย HITAP
สุรเดช ดวงทิพย์สิริกุล นักวิจัย HITAP นักวิจัยโครงการ “การค้นหาข้อเท็จจริงที่เกี่ยวกับรายจ่ายสุขภาพที่ประชาชนต้องจ่ายด้วยตนเองในประเทศไทย” กล่าวว่า มีผลการศึกษาหลายชิ้นชี้ว่าหลังจากประเทศไทยมีหลักประกันสุขภาพถ้วน ครัวเรือนไทยที่ล้มละลายจากรายจ่ายด้านสุขภาพลดลงอย่างต่อเนื่อง แต่ก็ยังมีข้อสงสัยว่ารายจ่ายด้านสุขภาพของคนไทยเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร จากการศึกษาข้อมูลพบว่ารายจ่ายด้านสุขภาพของคนไทยหากนับเป็นตัวเงินจะยังคงจำนวนเท่าเดิม แต่หากเทียบกับค่าใช้จ่ายทั้งหมดของครัวเรือนพบว่ามีสัดส่วนที่ลดลง และมีตัวเลขในหมวด “อาหารเสริม ยาบำรุงและวิตามิน” ที่เพิ่มขึ้นอย่างน่าตกใจ
“ถ้าเราดูรายจ่ายด้านสุขภาพมันจะแบ่งออกเป็น 2 ก้อนใหญ่คือค่ารักษาพยาบาล และค่ายาและเวชภัณฑ์ ซึ่งเมื่อเราดูตัวเลข จะพบว่า สัดส่วนค่ารักษาพยาบาลลดลง แต่ค่ายาและเวชภัณฑ์กลับมีแนวโน่มที่เพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะหมวดของอาหารเสริม ยาบำรุงและวิตามินซึ่งในอดีตไม่ค่อยเยอะ แต่ในช่วงประมาณ 5 ปีหลังกลับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องมากกว่า 10 เท่า”
รายจ่ายที่ครัวเรือนจ่ายเองเพื่อซื้ออาหารเสริม ยาบำรุงและวิตามินเพิ่มจาก 465 ล้านบาทของรายจ่ายด้านยาและเวชภัณฑ์ในปี พ.ศ. 2545 เป็น 7.7 พันล้านบาทในปี พ.ศ. 2558 ทั้งนี้ นักวิจัยมองว่า ตัวเลขรายจ่ายค่าในหมวดอาหารเสริม ยาบำรุงและวิตามินที่เพิ่มขึ้นอย่างมากสะท้อนให้เห็นว่าครัวเรือนไทยนิยมบริโภคอาหารเสริม ยาบำรุงและวิตามินมากขึ้น ภาครัฐจึงควรให้ความสำคัญเฝ้าระวังประเด็นนี้เพราะอาหารเสริมอาจส่งผลต่อชีวิตได้
“เรื่องอาหารเสริมถือเป็นตัวเลขที่ค่อนข้างน่าตกใจ เพราะในอดีตมันค่อนข้างน้อย แสดงให้เห็นว่าครัวเรือนไทยหันมานิยมบริโภคอาหารเสริม ยาบำรุงและวิตามินมากขึ้น เราไม่ได้จ่ายค่ารักษาพยาบาล แต่เอาเงินมาซื้อยาซื้ออาหารเสริมทานเอง ฉะนั้นภาครัฐควรจะหันมาดูเรื่องนี้ว่าอะไรทำให้คนเราไปซื้อยามากยิ่งขึ้น และมีมาตรการมาควบคุมส่วนตรงนี้ เพราะการทานอาหารเสริมมันก็ส่งผลต่อชีวิตดังที่มีเกิดเป็นข่าวในหลายกรณี”
อ่านรายละเอียดเกี่ยวกับโครงการวิจัย “การค้นหาข้อเท็จจริงที่เกี่ยวกับรายจ่ายสุขภาพที่ประชาชนต้องจ่ายด้วยตนเองในประเทศไทย” เพิ่มเติมได้ที่นี่ https://www.hitap.net/research/167967 อ่านข้อเสนอแนะเชิงนโยบายได้ที่นี่ https://www.hitap.net/documents/172913
26 ธันวาคม 2561