logo
ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อฝ่ายสื่อสารองค์กร HITAP
หลักประกันสุขภาพ ไทยถึงจนแต่ก็ภูมิใจ

หนังสือพิมพ์: www.thairath.co.th

ฉบับวันที่: 5 กันยายน 2561

“ไทยเป็นตัวอย่างประเทศกำลังพัฒนาที่ใช้ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเป็นเครื่องมือสำคัญในการลดความยากจนได้อย่างสำเร็จ แม้ว่าได้ริเริ่มระบบท่ามกลางข้อทักท้วงจากธนาคารโลกเกี่ยวกับความยั่งยืนเรื่องระบบการเงินการคลัง… แต่…ผลสำเร็จวันนี้ได้เป็นข้อพิสูจน์ว่า ไทยได้ตัดสินใจอย่างกล้าหาญที่จะสร้างระบบหลักประกันสุขภาพให้เกิดกับคนไทยทุกคนอย่างถ้วนหน้า และวันนี้โลกก็ได้เรียนรู้ความสำเร็จจากไทยเป็นต้นแบบ” คำกล่าวของ นายแพทย์จิม ยอง คิม ประธานธนาคารโลก เคยพูดไว้หลายปีล่วงมาแล้ว

ปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา พญ.ซอมญ่า สะวามินาทาน (Dr.Soumya Swaminathan) รองผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก (WHO) เดินทางมาศึกษาดูงานการจัดระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ที่ สปสช. ศูนย์ราชการถนนแจ้งวัฒนะ สะท้อนมุมมองไว้น่าสนใจ
พญ.ซอมญ่า บอกว่า จากที่ไปดูงานที่ขอนแก่น มองเห็นศักยภาพ ของไทยในการนำระบบหลักประกันสุขภาพจากส่วนกลาง…ผ่านไปถึงอำเภอ และลงไปถึงระดับท้องถิ่น ระดับชุมชน โดยการดูแลรักษาภายใต้นโยบายก็เป็นการรักษาที่เรียกได้ว่ามีคุณภาพสูง บุคลากรในระบบทุกระดับมีความพอใจ
“ไม่เพียงเท่านั้น…นโยบายหลักประกันสุขภาพยังเป็นนโยบายที่ชุมชนมีส่วนร่วมในการกำหนดเป้าหมาย และมีส่วนร่วมในการนำไปปฏิบัติจริง”
นอกจากนี้ จากที่ไปขอนแก่น ยังได้เห็นการจัดการศูนย์ดูแลสุขภาพผู้สูงอายุ การจัดกิจกรรมเพื่อดูแลผู้สูงอายุ และการฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ ที่รัฐบาลท้องถิ่นนำนโยบายไปปฏิบัติเป็นอย่างดี ซึ่งทาง WHO เองก็ประทับใจในการทำงานของ สปสช. ซึ่งเป็นผู้กำหนดนโยบาย
และ…เห็นปลายทางที่นำนโยบายไปปฏิบัติได้จริงและเห็นผล

โดยส่วนตัวคิดว่า “จุดแข็ง” ของระบบหลักประกันสุขภาพไทย คือ ไม่ได้จำกัดอยู่ที่การรักษาเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงการสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน เพื่อสร้างระบบให้ยั่งยืนต่อไป ถามต่อไปอีกว่า…อะไรที่ประเทศไทยจะเป็นบทเรียนให้ทั่วโลกได้?
“ที่เห็นชัดอย่างแรกคือ…การจัดการสุขภาพในระบบปฐมภูมิ” พญ.ซอมญ่า ว่า
“สปสช.มีการบริหารจัดการที่ดี โดยเฉพาะในมุมของการจัดการทรัพยากรบุคคล การสร้างระบบฝึกอบรม รวมถึงการจัดการเจ้าหน้าที่ในระบบทุกระดับ ซึ่งมีจำนวนมหาศาล ให้ทำงานสอดคล้องกับนโยบาย และขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมายเดียวกันได้”
ประเด็นต่อมา…“ระบบหลักประกันสุขภาพไทย” มีความโดดเด่นในเรื่องการจัดการต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพ ประเทศไทยมีการตั้งหน่วยงานที่ดูแลเรื่องข้อมูลและการวิเคราะห์ข้อมูล เพื่อให้ครอบคลุมสิทธิประโยชน์ต่างๆในระบบหลักประกันสุขภาพ น่าสนใจว่า…“สปสช.” ทำมานาน และถือว่าได้ผลเป็นอย่างดี

ขณะเดียวกัน ประเทศไทยยังมีหน่วยงานในระบบสุขภาพที่หลากหลาย และทำงานต่างหน้าที่กัน อย่าง สช. (IHPP) อย่าง…โครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (HITAP) และ สปสช. แต่ทุกหน่วยงานมีเป้าหมายเดียวกัน คือการทำให้สิทธิประโยชน์ต่างๆ ในระบบหลักประกันสุขภาพลงไปถึงประชาชนได้อย่างแท้จริง

ตอกย้ำใน ประเด็นที่สาม…ระบบหลักประกันสุขภาพของไทย ไม่ได้ทำหน้าที่เพียงรักษาโรคเท่านั้น แต่ยังทำหน้าที่ป้องกัน…สร้างเสริมสุขภาพได้อย่างเข้มแข็ง
โดยใช้สัดส่วนราว 10% ของงบประมาณกองทุนหลักประกันสุขภาพ เพื่อส่งเสริม…ป้องกันโรค ซึ่งก็น่าสนใจที่ประเทศไทยสามารถขยายขอบเขตงานออกจากหน้าที่หลักไปได้เรื่อยๆภายใต้งบที่จำกัด

ถึงตรงนี้น่าจะต้องใคร่รู้ต่อไปด้วยว่า “WHO”…จะร่วมมืออะไรกับไทย ในการพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพในอนาคตบ้าง คำถามนี้ พญ.ซอมญ่า บอกว่า ที่ผ่านมาเราได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีกับ สปสช. ในการเป็นหน่วยงานตัวอย่างให้กับประเทศอื่นๆทั่วโลก ในการสร้างระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า
องค์การอนามัยโลกสนับสนุนให้ประเทศสมาชิกสร้างระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าตามแผนพัฒนาอย่างยั่งยืน หรือ Sustainable Development Goal (SDG) ซึ่งในอีก 12-14 ปีข้างหน้า เราต้องการ ที่จะมั่นใจว่า WHO…สามารถขยายระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าออกไปให้ครอบคลุมประเทศสมาชิกทั้งหมด
แน่นอนว่า…จะเป็นเรื่องท้าทายที่สำคัญ และเป็นโอกาสที่เราจะได้เรียนรู้ตัวอย่างจากประเทศไทย เพื่อถ่ายทอดให้กับประเทศอื่นๆ ซึ่งอาจจะมีสถานการณ์ที่คล้ายกัน และเป็นประเทศรายได้ปานกลางถึงต่ำ ในขณะเริ่มโครงการเหมือนกันได้เรียนรู้ต่อไป… “WHO จะเป็นตัวกลาง ที่จะเชื่อมประสานทุกประเทศให้เข้ามาเรียนรู้บทเรียนจากประเทศไทย และถ่ายทอดความรู้ไปยังประเทศอื่นๆ เพื่อสร้างระบบหลักประกันสุขภาพให้เกิดขึ้นได้จริงตามเป้าหมาย ตามแผนพัฒนาอย่างยั่งยืน”

ความท้าทายสำคัญของกลุ่มประเทศเหล่านี้…จะทำอย่างไรให้นโยบายนี้ยั่งยืน เมื่อต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก และประเทศกำลังเคลื่อนตัวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์
เมื่อมีผู้สูงอายุมากขึ้น โรคเรื้อรังก็เพิ่มมากขึ้น แต่โดยส่วนตัวคิดว่า… ต้องคงไว้ซึ่งประสิทธิภาพของระบบการรักษาและระบบสาธารณสุข สำหรับ ประเทศไทยใช้งบประมาณเพียงแค่ 4% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ (GDP) ซึ่งต้องไฮไลต์ไว้เลยว่า…ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของไทย คือ…ระบบที่มีประสิทธิภาพสูงสุดประเทศหนึ่งของโลก
ถัดมา…ต้องเพิ่มจุดแข็งในการสร้างระบบ “ป้องกัน”…“สร้างเสริมสุขภาพ” อันเป็นเรื่องซับซ้อน เพราะต้องเกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงาน ไม่ใช่เพียงกระทรวงสาธารณสุขเท่านั้น…ซึ่งในช่วงที่มีโอกาสได้เข้าพบ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พญ.ซอมญ่า บอกว่า ท่านนายกฯก็เห็นความสำคัญเกี่ยวกับเรื่องการป้องกันสร้างเสริมสุขภาพ ว่าจะทำอย่างไรที่จะเพิ่มความเข้มแข็งในเรื่องนี้ต่อไป

สำหรับประเทศไทย เคยมีตัวอย่างความสำเร็จมาแล้วในเรื่องการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี ซึ่งทุกภาคส่วนในสังคมเข้ามามีส่วนร่วมในการป้องกัน
“ตัวอย่างในการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี น่าจะเป็นบทเรียนสำคัญในการสร้างกลไกการมีส่วนร่วมของทุกองคาพยพ เพื่อสร้างกลไกป้องกันโรคไม่ติดต่ออื่นๆ หรือโรคร้ายแรงอื่นๆในอนาคตต่อไป” พญ.ซอมญ่า ว่า

นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เสริมว่า องค์การอนามัยโลกเป็นองค์กรระดับสากล ดูแลทั้งโลกในด้านสุขภาพอนามัย มีนโยบายที่เน้นการสร้างความมั่นคงด้านสุขภาพให้กับประชาชน และมองว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่โดดเด่นในการดำเนินระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า

“ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพจะต้องเพิ่มขึ้นเพราะคนอายุมากขึ้น…อายุยิ่งมาก ยิ่งใช้เงินมากขึ้น เจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรังโดยธรรมชาติ แล้วเทคโนโลยีทางการแพทย์ก็พัฒนาขึ้นไปอยู่เรื่อยๆ”
การไม่หยุดอยู่กับที่ของ “ระบบหลักประกันสุขภาพไทย” ทำให้ระบบเดินต่อไปได้อย่างไม่เหนื่อยมาก…จะช่วยบรรเทาปัญหา “ลดความเหลื่อมล้ำ” ไม่ให้เกิดช่องว่างมากขึ้น โดยเฉพาะสวัสดิการที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตของทุกชีวิต.

21 กันยายน 2561

Next post > เช็คสต็อกหนังสือ โดย กาสะลอง

< Previous post HITAP ร่วมส่งผลงานประกวด “THAILAND RESEARCH EXPO 2018”

Related Posts

ข่าวที่เข้าชมมากที่สุด ในรอบ 3 เดือน

HITAP เป็นข่าว ล่าสุด