logo

HITAP ร่วมมือกับกรมการแพทย์ จัดการประชุมผู้เชี่ยวชาญและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ในโครงการ “การพัฒนาแนวทางการประเมินความคุ้มค่าฯ ปัญญาประดิษฐ์ทางการแพทย์ เพื่อบรรจุในชุดสิทธิประโยชน์ ในระบบประกันสุขภาพของประเทศไทย”

ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อฝ่ายสื่อสารองค์กร HITAP

หนังสือพิมพ์: MGR Online

ฉบับวันที่: 29 กรกฎาคม 2018

10 ปี มีไม่ถึง 200 คน “นักวิจัย” ประเมินงานสร้างเสริมสุขภาพเชิงเศรษฐศาสตร์

เว็บไซต์ MGR Online: https://mgronline.com/qol/detail/9610000075257

12 องค์กร ผนึกความร่วมมือพัฒนาเครือข่ายนักวิจัยประเมินงานสร้างเสริมสุขภาพเชิงเศรษฐศาสตร์ เผย 10 ปี ไทยมีนักวิจัยด้านนี้ไม่ถึง 200 คน ชี้ซับซ้อน ประเมินผลยาก เตรียมพัฒนา/เชื่อมโยงฐานข้อมูล ตอบโจทย์ความคุ้มค่าการลงทุนสร้างเสริมสุขภาพของไทย

ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวในการประชุมวิชาการการประเมินงานสร้างเสริมสุขภาพเชิงเศรษฐศาสตร์ในประเทศไทย และร่วมพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการสร้างเครือข่ายวิชาการการประเมินงานสร้างเสริมสุขภาพเชิงเศรษฐศาสตร์ 12 องค์กร เพื่อร่วมกันพัฒนาประเมินผลงานสร้างเสริมสุขภาพเชิงเศรษฐศาสตร์ และพัฒนาเครือข่ายนักวิจัยเพื่อการสร้างเสริมสุขภาพ ที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศไทย ว่า ในช่วง 3 ทศวรรษหลัง การเจ็บป่วยของประชาชนมีความเปลี่ยนแปลงเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) มากกว่าโรคติดเชื้อ คนไทย 73% หรือ 3 ใน 4 เสียชีวิตจากโรค NCDs มากถึง 90% สาเหตุการเสียชีวิตอันดับหนึ่ง คือ โรคมะเร็ง จากเดิมคือโรคเอดส์ การเจ็บป่วยและเสียชีวิตอยู่นอกโรงพยาบาล ซึ่งมีสาเหตุมาจากปัจจัยทางสังคม สิ่งแวดล้อม ความเป็นอยู่ ดังนั้น การแก้ปัญหาต้องใช้วิธีใหม่ๆ เรียนรู้ศาสตร์ใหม่ การสร้างความร่วมมือจากหลายส่วน การประเมินผลเชิงเศรษฐศาสตร์สาธารณสุข หรือการประเมินความคุ้มค่าการทำงานเริ่มมีบทบาทและมีความจำเป็นมากขึ้น สสส. ซึ่งเป็น 1 ใน 16 องค์กรของรัฐที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติเฉพาะ (ทอพ.) เพื่อรองรับภารกิจภาครัฐที่ต้องการเครื่องมือใหม่ๆ มาเสริมการทำงานให้มีความคล่องตัวไม่ติดอยู่กับระเบียบราชการ ต้องมีการประเมินผลงานที่เข้มข้นจริงจัง

“ทุกปี สสส. ต้องรายงานผลการดำเนินงานต่อคณะรัฐมนตรี สภานิติบัญญัติ ต้องตอบคำถามต่อสังคม และสื่อมวลชนที่ชัดเจน ทุกคำถามต้องการข้อมูลทุกมิติ และมีคำว่าคุ้มค่าต่อการทำงานตลอด งานสร้างเสริมสุขภาพมีความซับซ้อนมากขึ้น การประเมินผลงานจึงต้องมีความหลากหลายและรอบด้าน เช่น การลดจำนวนคนดื่มสุรา มีความคุ้มค่าหรือไม่ ทำอย่างไรให้คนเลิกดื่มสุรา ซึ่งมีความเกี่ยวข้องทั้งมิติชุมชน สังคม วัฒนธรรม เศรษฐกิจ ฯลฯ ขณะที่วิธีการประเมินผลในปัจจุบัน ยังมีข้อจำกัดด้านความชัดเจนและการนำไปใช้ เพราะขึ้นอยู่กับบริบทนั้นๆ ดังนั้น การประเมินจึงต้องมีการวัดผลและแสดงผลลัพธ์หลายแบบ มีการประยุกต์จากหลายศาสตร์ ต้องมีการพัฒนาเครื่องมือใหม่ และแนวทางการประเมินความคุ้มค่าใหม่ที่ได้ผลและเป็นที่ยอมรับ ซึ่งเป็นความยากและท้าท้ายอย่างยิ่ง” ดร.สุปรีดา กล่าว

ศ.ดร.ดิเรก ปัทมสิริวัฒน์ ประธานคณะกรรมการกำกับทิศทางแผนงานการประเมินงานสร้างเสริมสุขภาพเชิงเศรษฐศาสตร์ในประเทศไทย กล่าวว่า แผนงานฯ มีภารกิจงาน 4 ด้าน ได้แก่ 1.พัฒนาวิชาการความรู้และเครื่องมือ การวิเคราะห์ต้นทุนการเจ็บป่วยจากปัจจัยเสี่ยงสุขภาพ การศึกษาระเบียบวิธีวิจัยเชิงสุขภาพ การพัฒนาตัวชี้วัดการประเมินความคุ้มค่า 2.สนับสนุนการประเมินความคุ้มค่าการสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ เช่น เด็กไทยแก้มใส งดเหล้าเข้าพรรษา 3.สนับสนุนการพัฒนานักวิจัย เครือข่ายนักวิจัย และ 4.พัฒนาข้อมูลสารสนเทศด้านการสร้างเสริมสุขภาพเชิงเศรษฐศาสตร์ ทั้งนี้ การลงนามข้อตกลงฯ เป็นความร่วมมือสำคัญสนับสนุนและพัฒนาครือข่ายการประเมินงานสร้างเสริมสุขภาพ

ศ.ดร.ศิริเพ็ญ ศุภกาญจนกันติ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า จากการทบทวนวรรณกรรมงานวิจัยเกี่ยวข้องกับการวิจัยและประเมินผลการสร้างเสริมสุขภาพของไทยในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยมีนักเศรษฐศาสตร์สาธารณสุข หรือนักเศรษฐศาสตร์สุขภาพเกือบ 2,000 คน ในจำนวนนี้เป็นนักวิจัยเกี่ยวกับการสร้างเสริมสุขภาพเพียง 178 คน ส่วนใหญ่เป็นการประเมินผลประสิทธิภาพของยา และเครื่องมือทางการแพทย์ ขณะที่การประเมินผลการสร้างเสริมสุขภาพยังมีน้อย เพราะการประเมินต้องทำทั้งระบบ แต่ปัญหาคือนักวิจัยไม่สามารถเข้าถึงฐานข้อมูลได้ และจำเป็นต้องใช้หลานฐานข้อมูล ดังนั้นจึงจำเป็นต้องสร้างฐานข้อมูล หรือเชื่อมโยงฐานข้อมูลจากหน่วยงานต่างๆ เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการประเมินผลความคุ้มค่าของการสร้างเสริมสุขภาพที่ถูกต้องและใกล้เคียงกับข้อเท็จจริง

นพ.ณรงค์ศักดิ์ อังคะสุวพลา อดีตอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า การประเมินผลงานด้านการสร้างเสริมสุขภาพ ต้องเรียนรู้และมีความเข้าใจรอบด้าน เช่น การเลิกสูบบุหรี่ หรือเลิกดื่มสุรา 1 เดือน ไม่สามารถวัดความคุ้มทุนได้เพียงการประหยัดค่าใช้จ่ายเท่านั้น แต่ยังมีปัจจัยอื่นๆ ซึ่งเป็นผลลัพธ์ที่มีคุณค่าตามมาด้วย เช่น สุขภาพจิต การเกิดโรคมะเร็ง ฯลฯ ดังนั้นการประเมินความคุ้มค่างานสร้างเสริมสุขภาพ ไม่สามารถพิจารณาเฉพาะจุดใดจุดหนึ่งได้ ต้องพิจารณาภาพรวม ซึ่งเป็นโจทย์ที่กว้างและท้าท้ายมาก 

ทั้งนี้ สำหรับหน่วยงานที่ร่วมลงนามฯ 12 องค์กร ประกอบด้วย กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข คณะแพทยศาสตร์ และคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น คณะเภสัชศาสตร์ และคณะวิทยาลัยการจัดการระบบสุขภาพ มหาวิทยาลัยนเรศวร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มูลนิธิโครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข และ สสส.

3 สิงหาคม 2561

Next post > หนังสือน่าอ่าน: การรักษาต้องสงสัย???

< Previous post สสส. ดันวิจัยประเมินงานสร้างเสริมสุขภาพไทย HITAP ลงนามความร่วมมือ 12 หน่วยงานวิชาการทั่วประเทศ

Related Posts

ข่าวที่เข้าชมมากที่สุด ในรอบ 3 เดือน

HITAP เป็นข่าว ล่าสุด