logo

HITAP ร่วมมือกับกรมการแพทย์ จัดการประชุมผู้เชี่ยวชาญและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ในโครงการ “การพัฒนาแนวทางการประเมินความคุ้มค่าฯ ปัญญาประดิษฐ์ทางการแพทย์ เพื่อบรรจุในชุดสิทธิประโยชน์ ในระบบประกันสุขภาพของประเทศไทย”

ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อฝ่ายสื่อสารองค์กร HITAP

หนังสือพิมพ์: VoiceTV

ฉบับวันที่: 18 มิถุนายน 2018

สปสช.เห็นชอบสิทธิประโยชน์ ‘ตรวจยีนHLA’ ลดความเสี่ยงผู้ป่วยโรคลมชักแพ้ยา

เว็บไซต์ VoiceTV: https://www.voicetv.co.th/read/B1thcFEZ7

บอร์ด สปสช.ลดความเสี่ยงผู้ป่วยโรคลมชักจากภาวะแพ้ยา “สตีเวนส์ จอห์นสัน ซินโดรม” เห็นชอบสิทธิประโยชน์ “ตรวจยีนHLA” ก่อนเริ่ม “แพ้ยา” หลังผลประเมินคุ้มค่า ช่วยลดภาวะแพ้ยาในผู้ป่วยลมชักถึงร้อยละ 88 รวมถึงความเสี่ยงพิการและเสียชีวิตในรายแพ้ยารุนแรง ทั้งประหยัดงบค่ารักษาและการสั่งจ่ายยารายการอื่นเพื่อเลี่ยงแพ้ยาปีละกว่า 250 ล้านบาท

นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ในการประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2561 ที่ผ่านมา โดย ศ.นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธาน ได้เห็นชอบการเพิ่มสิทธิประโยชน์ “การตรวจยีน HLA ในผู้ป่วยโรคลมชัก ก่อนเริ่มยาคาร์บามาซีปีน (Carbamazepine) เพื่อป้องกันผื่นแพ้ยาชนิดรุนแรง” ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เริ่มต้นในปีงบประมาณ2561 นี้ โดยเป็นความร่วมมือระหว่างสมาคมโรคลมชักแห่งประเทศไทย กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข และโครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (HITAP)

ยาคาร์บามาซีปีนเป็นยาในกลุ่มยากันชักเพื่อใช้รักษาผู้ป่วยโรคลมชัก อยู่ในกลุ่มยาอันดับต้นๆ ที่มีรายงานการแพ้ยาไม่พึงประสงค์กลุ่มอาการสตีเวนส์จอห์นสัน ซินโดรม (Stevens-Johnson syndrome: SJS) ที่ที่มีความรุนแรง โดยจะมีผื่นตามลำตัว เป็นผื่นแดงขยายกว้าง มีตุ่มน้ำหรือถุงพองกระจายทั่วลำตัว หนังกำพร้าตาย มีการหลุดลอกของผิวหนัง บางรายเกิดการติดเชื้อแทรกซ้อนที่อวัยวะสำคัญ รายที่รุนแรงอาจก่อให้เกิดความสูญเสียถาวร เช่น ตาบอด พิการหรือเสียชีวิตได้ เฉลี่ยผู้ป่วยต้องเข้ารับการรักษาต่อเนื่องในโรงพยาบาลนาน 2 สัปดาห์ ค่ารักษาอยู่ที่ 20,000-100,000 บาท แต่ในรายที่รุนแรงต้องรักษาตัวในโรงพยาบาลนาน ค่าใช้จ่ายจะสูงถึง 330,000 บาทต่อราย

จากการวิจัยเภสัชพันธุศาสตร์ได้พบความสัมพันธ์ระหว่างลักษณะทางพันธุกรรมของยีนชนิด Human leukocyte antigen(HLA) allele-B*1502 (HLA-B*1502) กับการเกิดผื่นแพ้ยากลุ่มสตีเวนส์ จอนห์สัน ซินโดรม จากยาคาร์บามาซีปีน โดยพบค่อนข้างสูงในประชากรแถบภูมิภาคเอเชีย จากรายงานชาวจีนฮั่นพบร้อยละ 5-15 ชาวมาเลเซีย ร้อยละ 12-15 และชาวไทย ร้อยละ 8-27 จึงแนะนำให้สุ่มตรวจพันธุกรรม HLA-B*1502 เพื่อคัดกรองโอกาสแพ้ยาคาร์บามาซีปีนก่อนรับยา เพื่อลดความเสี่ยงจากภาวะสตีเวนส์จอห์นสัน ซินโดรม สอดคล้องกับข้อมูลศูนย์เฝ้าระวังความปลอดภัยจากการใช้ยาองค์การอนามัยโลก (WHO) ที่รายงานการเกิดผื่นแพ้ยาชนิดกลุ่มสตีเวนส์จอห์นสัน ซินโดรมจากยาคาร์บามาซีปีนในภูมิภาคเอเชียพบมากในประเทศมาเลเซียและไทย ขณะที่ข้อมูลการเฝ้าระวังด้านยาในประเทศไทยช่วง 10 ปี ระหว่างปี 2545-2554 โดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) มีผู้ป่วยจากภาวะสตีเวนส์จอห์นสัน ซินโดรมราว 5,000 ราย

นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวต่อว่า จากสถานการณ์ดังกล่าวเพื่อลดความเสี่ยงต่อภาวะสตีเวนส์ จอห์นสัน ซินโดรมให้กับผู้ป่วยโรคลมชักที่รับยาคาร์บามาซีปีน สปสช.ได้มอบให้โครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพประเมินความคุ้มค่าทางการแพทย์ (HITAP) ผลการศึกษาพบว่าการให้บริการตรวจคัดกรองยีน HLA-B*1502 ก่อนให้ยาคาร์บามาซีปีน มีประสิทธิผลทำให้จำนวนผู้ป่วยที่เกิดผื่นแพ้ยากลุ่มสตีเวนส์ จอห์นสัน ซินโดรม ลดลงได้ถึงร้อยละ 88 ลดโอกาสความพิการและเสียชีวิต และมีความคุ้มค่าเมื่อเปรียบเทียบกับการไม่คัดกรอง ที่ต้องเสียค่าใช้จ่ายจากการรักษาผู้ป่วยแพ้ยาและการสั่งจ่ายยากันชักรายการอื่นเพื่อหลีกเลี่ยงภาวะสตีเวนส์ จอห์นสัน ซินโดรม

สำหรับค่าใช้จ่ายในการตรวจยีน HLA ในผู้ป่วยโรคลมชักอยู่ที่ 1,000 บาท/ราย โดยปี 2561 คาดการณ์จำนวนผู้ป่วยโรคลมชักที่รักษาด้วยยาคาร์บามาซีปีน และต้องรับการตรวจยีน HLA เพื่อลดความเสี่ยงจากภาวะสตีเวนส์ จอห์นสัน ซินโดรม มีจำนวน29,392 ราย รวมเป็นงบประมาณ 29.39 ล้านบาท ขณะที่ปี 2562 อยู่ที่จำนวน  29,534 ราย คิดเป็นงบประมาณ 29.53 ล้านบาท ทั้งนี้ยังได้ประเมินมูลค่าการประหยัดค่าใช้จ่าย ทั้งจากค่ารักษาและยากันชักชนิดอื่นที่แพทย์เลือกใช้เพื่อหลีกเลี่ยงภาวะสตีเวนส์ จอห์นสัน ซินโดรม ปี 2561 มีมูลค่าประหยัดจำนวน 254.9 ล้านบาท และปี 2562 มูลค่าประหยัดอยู่ที่จำนวน 256.18 ล้านบาท

สำหรับแนวทางการตรวจยีน HLA ในผู้ป่วยโรคลมชักก่อนเริ่มยาคาร์บามาซีปีน สมาคมโรคลมชักแห่งประเทศไทย ร่วมกับสถาบันประสาทวิทยา กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข และสถาบันวิชาการต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ได้ดำเนินการจัดทำแนวทางเวชปฏิบัติในการรักษาโรคลมชักสำหรับแพทย์ ปี 2559 เรียบร้อยแล้ว แนะนำให้พิจารณาส่งตรวจคัดกรองกองยีน HLA-B*1502 ก่อนเริ่มยาคาร์บามาซีปีน และก่อนหน้านี้ สปสช.ได้เตรียมความพร้อมดำเนินการ โดยประสานสมาคมโรคลมชักฯ เพื่อประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ข้อมูลการตรวจคัดกรองยีน HLA-B*1502 ในผู้ป่วยที่ต้องใช้ยาคาร์บามาซีปีน ผ่านทางเว็บไซต์ของสมาคม และประสานกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์เพื่อจัดทำคู่มือการตรวจคัดกรองทางห้องปฏิบัติการ สถานที่ส่งตรวจ และแจ้งหน่วยบริการเพื่อทราบต่อไป

“ในการดำเนินระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ภายใต้การบริหาร บอร์ด สปสช.ตลอดระยะเวลา 16 ปี และความร่วมมือของหน่วยงานและภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง ได้ร่วมพัฒนาสิทธิประโยชน์การรักษาพยาบาลและบริการสาธารณสุขมาอย่างต่อเนื่อง อย่างการเพิ่มสิทธิประโยชน์การตรวจยีน HLA ในผู้ป่วยโรคลมชักก่อนเริ่มยาคาร์บามาซีปีนนี้ เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงบริการที่จำเป็น มีคุณภาพและมาตรฐานยิ่งขึ้น” เลขาธิการ สปสช.กล่าว

21 มิถุนายน 2561

Next post > สั่งซื้อหนังสือ “การรักษาต้องสงสัย” (Testing Treatments)

< Previous post สัมภาษณ์พิเศษ: รศ.พญ.ประสบศรี อึ้งถาวร สปสช.เพิ่มชุดสิทธิประโยชน์ เพื่อคนไทย 47.7 ล้านคน

Related Posts

ข่าวที่เข้าชมมากที่สุด ในรอบ 3 เดือน

HITAP เป็นข่าว ล่าสุด