logo

HITAP ร่วมมือกับกรมการแพทย์ จัดการประชุมผู้เชี่ยวชาญและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ในโครงการ “การพัฒนาแนวทางการประเมินความคุ้มค่าฯ ปัญญาประดิษฐ์ทางการแพทย์ เพื่อบรรจุในชุดสิทธิประโยชน์ ในระบบประกันสุขภาพของประเทศไทย”

ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อฝ่ายสื่อสารองค์กร HITAP
สัมภาษณ์พิเศษ: อิศรางค์ นุชประยูร โลกยกย่องไทยต้นแบบเข้าถึงการรักษามะเร็งถ้วนหน้า

ประเทศไทยได้รับคำชื่นชมจากองค์การอนามัยโลก ในเวทีการประชุมนานาชาติด้านมะเร็ง (World cancer congress 2016) ที่จัดโดยองค์กรต่อต้านมะเร็งนานาชาติ หรือ International union for cancer control: UICC ว่าเป็นตัวอย่างที่ยอดเยี่ยมสำหรับประเทศรายได้ปานกลาง ที่สามารถทำให้ประชากรเข้าถึงการดูแลมะเร็งอย่างทั่วถึง และเป็นตัวอย่างที่สมควรศึกษาว่า ประเทศไทยทำได้อย่างไร เกี่ยวกับเรื่องนี้ ศ.นพ.อิศรางค์ นุชประยูร แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคมะเร็งในเด็ก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะเลขาธิการมูลนิธิสายธารแห่งความหวัง และที่ปรึกษาชมรมเพื่อนมะเร็งไทย ซึ่งเป็น 1 ในผู้ที่ได้เข้าร่วมประชุมในเวทีดังกล่าว กล่าวว่า โมเดลการดูแลสุขภาพถ้วนหน้า หรือ Universal health coverage (UHC) คือการเข้าถึง บริการสุขภาพที่มีคุณภาพทั้งในด้านการป้องกัน การรักษา การฟื้นฟู ในราคาที่จ่ายได้ ไม่เป็นภาระแก่ผู้ป่วย ในโลกนี้มีเพียง 56 ประเทศ จาก 196 ประเทศเท่านั้นที่ได้ออกกฎหมายให้มีการดูแลสุขภาพถ้วนหน้าแก่ประชากรของตนเอง และประเทศไทยก็เป็น 1 ใน 56 ประเทศที่กล้าประกาศให้หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าแก่คนไทยมาตั้งแต่ปี 2545

 ศ.นพ.อิศรางค์ กล่าวว่า การที่นานาชาติได้หยิบยกปัญหาของโรคมะเร็งมาหารือ เพราะมะเร็งเป็นโรคที่มีความสำคัญระดับโลก เป็นสาเหตุของความเจ็บป่วยและความตายที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่งของมนุษย์  “เราไม่สามารถป้องกันหรือรักษามะเร็งได้ทุกชนิด แต่มะเร็งบางชนิดก็ป้องกันได้ และถ้ารักษาแต่เนิ่นๆ จะสามารถหายขาดได้ ปัจจุบันเราสามารถระดมสรรพกำลังเพื่อลดความเสี่ยงที่จะเกิดมะเร็ง หรือควบคุมมะเร็งที่ควบคุมได้ เพื่อลดการตายก่อนวัยอันควร การทำให้ประชาชนเข้าถึงการตรวจรักษามะเร็งจึงเป็นเรื่องสำคัญ เมื่อหันกลับมาดูที่ประเทศไทย นับตั้งแต่ปี 2545 เป็นต้นมา ประเทศไทยมีระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือบัตรทอง มีกองทุนดูแลประชาชนกว่า 48 ล้านคน ใช้งบประมาณด้านสาธารณสุขเพียงร้อยละ 17 ของงบประมาณแผ่นดิน คือประมาณร้อยละ 5 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) แต่ประชาชนไทยสามารถเข้าถึงการดูแลป้องกัน ตรวจคัดกรองมะเร็ง รักษามะเร็ง และให้การดูแลแบบประคับประคองแก่ผู้ป่วยโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย นอกจากนี้ ประเทศไทยยังจัดเก็บภาษีบาปเพิ่มอีกร้อยละ 2 ของราคาขายบุหรี่และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้กว่าปีละ 5 หมื่นล้านบาท เพื่อเข้ากองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำหรับนำไปรณรงค์ให้ประชาชนเลิกสูบบุหรี่และงดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยเฉพาะบุหรี่ เพราะถือเป็นสาเหตุที่ทำให้คนเป็นมะเร็งมาก แต่ถ้าไม่สูบบุหรี่จะมีโอกาสเป็นมะเร็งน้อยกว่าถึงร้อยละ 200 อีกทั้งรัฐบาลยังให้วัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบบี และ วัคซีนเอชพีวีป้องกันมะเร็งปากมดลูก ตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกฟรี และรักษาโรคมะเร็งฟรี โดยใช้งบประมาณเพียง ร้อยละ 6 ของงบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือประมาณ 6,000 ล้านบาทต่อปี” ศ.นพ.อิศรางค์กล่าว ทั้งนี้ ศ.นพ.อิศรางค์กล่าวต่อไปว่า ในเวทีประชุมนานาชาติดังกล่าว องค์การอนามัยโลกยังได้วิเคราะห์ว่า ประเทศไทยประสบความสำเร็จเพราะมีการบริหารที่มีประสิทธิภาพหลายประการ อาทิ ประเทศไทยมีการเก็บสถิติมะเร็งที่เชื่อถือได้ในระดับโลก โดยกลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านสถิติมะเร็งโดยเฉพาะมากว่า 15 ปี แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคมะเร็งได้ร่วมกันลงมติว่า การรักษาด้วยสูตรยาใดบ้างที่มีความสำคัญและจำเป็นต่อผู้ป่วยมะเร็งแต่ละชนิด และได้ออกคู่มือเป็นมาตรฐานการรักษาของมะเร็งสำคัญที่สุด 12 ชนิด เพื่อให้การรักษาดีที่สุดเหมือนกันทั้งประเทศภายใต้งบประมาณที่จำกัด ส่วนการจัดหายารักษามะเร็งนั้นดำเนินการโดยการเจรจาต่อรองยามะเร็งที่มีราคาแพงแบบรวมศูนย์ (central bargaining) และให้แต่ละโรงพยาบาลจัดซื้อ (local purchasing) ตามราคาที่ได้ต่อรองไว้

นอกจากนี้ มีการคัดเลือกยามะเร็งที่จำเป็นโดยมีโครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ หรือ HITAP ทำการประเมินเศรษฐศาสตร์สาธารณสุข เพื่อประเมินราคาที่คุ้มค่าในบริบทของประเทศไทย และผลการวิจัยนั้นใช้เป็นฐานในการต่อรองกับบริษัทยาข้ามชาติ ยกตัวอย่างเช่น ยาออกซาลิแพลติน ซึ่งมีราคาขายในตลาดโลกขวดละ 8,000 บาท ไฮแทปได้วิจัยและประเมินว่า จะคุ้มค่าก็ต่อเมื่อระบบสาธารณสุขจ่ายในราคาขวดละ 5,000 บาท แต่รัฐบาลไทยสามารถต่อรองกับบริษัทยาได้ในราคาขวดละ 2,500 บาท เป็นต้น ซึ่งเป็นราคาที่รับได้ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เพราะมีงบประมาณจำกัด อย่างไรก็ตามมียามะเร็งเพียง 4 ชนิดที่รัฐบาลไทยต่อรองไม่สำเร็จ แต่รัฐบาลไทยกล้าหาญที่จะใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตรยา หรือ CL: compulsory licensing) ซึ่งเป็นไปตามสนธิสัญญาทริป TRIPS ข้อ 31B ตามมาตรฐานนานาชาติ เพื่อให้สามารถจัดหายารักษามะเร็งตามที่ผู้เชี่ยวชาญเห็นพ้องกันแล้วว่าเป็นยาสำคัญและจำเป็น ให้ได้มาในราคาที่ระบบหลักประกันสุขภาพแห่ง ชาติรับได้” ศ.นพ.อิศรางค์กล่าว

การที่องค์การอนามัยโลกยกย่องให้ประเทศไทยเป็นตัวอย่างของการทำให้ประชาชนเข้าถึง อย่างทั่วถึง และแนะนำให้นานาประเทศควรศึกษานั้น ศ.นพ.อิศรางค์กล่าวว่า ส่วนหนึ่งเป็นเพราะประเทศไทยมีการพัฒนาทางสาธารณสุขอย่างต่อเนื่อง โดยทำให้ผู้ป่วยเข้าถึงการบริการทางการแพทย์อย่างทั่วถึง ซึ่งปัจจุบันผู้เข้ารับบริการส่วนใหญ่ได้รับการดูแลใกล้บ้าน คือ ศูนย์อนามัยชุมชน และมีการจัดทำระบบส่งต่อผู้ป่วยไปยังโรงพยาบาล (รพ.) ที่มีศักยภาพตามระดับอาการที่เป็น ทั้ง รพ.ชุมชน รพ.ศูนย์ และ รพ.ทั่วไป ในส่วนของการรักษาโรคมะเร็งนั้น ขณะนี้ผู้ป่วยมะเร็งสามารถเข้าถึงบริการมะเร็งผ่านทางสถาบันมะเร็งแห่งชาติ 1 แห่ง และ รพ.เฉพาะทางมะเร็ง 6 แห่ง ในแต่ละภูมิภาค รพ.ที่มีการฉายรังสี รวม 22 แห่ง รพ.ที่สามารถวินิจฉัยมะเร็ง ผ่าตัดมะเร็ง ให้ยาเคมีบำบัด รวม 645 แห่ง และ รพ.ที่ให้การดูแลแบบประคับประคอง 549 แห่ง โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

 ศ.นพ.อิศรางค์ให้ข้อมูลว่า ประเทศ ไทยกับประเทศอังกฤษมีจำนวนประชากรใกล้เคียงกัน คือ 65 ล้านคน ปัจจุบันอัตราตายจากมะเร็งของคนไทยประมาณ 104 รายต่อประชากรแสนคนต่อปี เป็นอันดับที่ 91 ของโลก ในขณะที่คนอังกฤษมีอัตราตายจากมะเร็ง 140 รายต่อประชากรแสนคนต่อปี เป็นอันดับ 14 ของโลก แต่ประเทศอังกฤษใช้งบประมาณในการรักษามะเร็งถ้วนหน้าสูงถึง 5,800 ล้านปอนด์ หรือประมาณ 2.5 แสนล้านบาทต่อปี ขณะที่ประเทศไทยใช้เงินน้อยกว่าเกือบ 40 เท่า ดังนั้น คนไทยจึงควรภาคภูมิใจได้ว่า วงการแพทย์และสาธารณสุขไทยมีประสิทธิภาพ คือทั้ง “ถูกและดี” กว่าหลายประเทศในโลก “เรามีทรัพยากรน้อยก็จริง และการบริการนั้นยังไกลจากความสมบูรณ์แบบ แต่ด้วยจิตวิญญาณแห่งการบริการของบุคลากร วิสัยทัศน์ และความสามารถของผู้บริหารในวงการสาธารณสุขไทยที่มีมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้วันนี้คนไทยสามารถเข้าถึงบริการที่ดีมาก เมื่อเทียบกับทรัพยากรที่เรามีอยู่อย่างจำกัด สมควรแก่การยกย่องเป็นตัวอย่างของโลก อย่างน้อยก็ในวงการมะเร็ง” ศ.นพ.อิศรางค์ กล่าว และว่า โลกจะยังคงพัฒนาไปอีกมาก ยารักษามะเร็งตัวใหม่ๆ จะแพงขึ้นเรื่อยๆ ถ้าไม่ตั้งหลักให้ดี ประเทศจะหมดเงินมากขึ้นเรื่อยๆ ไปกับการรักษาโรคมะเร็งที่รักษาไม่หาย เพราะโรคมะเร็งไม่เหมือนกับโรคอื่นๆ ผู้ป่วยแต่ละรายมีเวลาที่ไม่แน่นอน สำหรับประเทศไทยนั้น รัฐบาลได้เลือกใช้พุทธวิถีในการรักษามะเร็ง คือ รักษาเฉพาะผู้ที่รักษาหายได้ แต่สำหรับมะเร็งที่รักษายากนั้น แทนที่ผู้ป่วยจะจ่ายเงินที่หาได้ทั้งชีวิตไปกับการรักษาจนถึงช่วงสุดท้ายของชีวิต ซึ่งบางรายอาจจะถึงขั้นล้มละลาย แต่ผู้ป่วยยังพอมีทางเลือกที่จะรักษาแบบประคับประคองอาการ และใช้ชีวิตอยู่กับมะเร็งอย่างสันติไปได้จนถึงนาทีสุดท้ายของชีวิตเช่นกัน

 อย่างไรก็ดี ศ.นพ.อิศรางค์ได้กล่าวทิ้งท้ายว่า มะเร็งเป็นภัยร้ายของชีวิต หากเป็นแล้วทั้งทรมานและสิ้นเปลืองค่าใช้จ่าย ดังนั้น เราควรตรวจสุขภาพเพื่อคัดกรองมะเร็งทุกปี เพื่อป้องกันตั้งแต่ต้นเหตุ โดยผู้หญิง 45 ปีขึ้นไปควรตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านม และอายุ 50 ปีขึ้นไปควรตรวจภายในเพื่อหามะเร็งปากมดลูก และทั้งผู้หญิงและผู้ชายควรตรวจ คัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ด้วย เพราะมะเร็งทั้ง 3 ชนิดนี้เท่านั้นที่การตรวจคัดกรองสามารถทำได้ผล มีประโยชน์ ส่วนมะเร็งชนิดอื่นแม้สามารถคัดกรองได้เหมือนกัน แต่อาจจะหาไม่พบในช่วงที่เป็นระยะแรก

16 สิงหาคม 2560

Next post > นักศึกษา HePTA เข้าเยี่ยมชมการทำงานของ HITAP

< Previous post สัมภาษณ์พิเศษ: ศ.นพ.อิศรางค์ นุชประยูร กุมารเวชศาสตร์โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ หนุนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าจัดระบบมะเร็งยอดเยี่ยม ผู้ป่วยเข้าถึงมาตรฐานการรักษา

Related Posts

ข่าวที่เข้าชมมากที่สุด ในรอบ 3 เดือน

HITAP เป็นข่าว ล่าสุด