logo
ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อฝ่ายสื่อสารองค์กร HITAP

หนังสือพิมพ์: มติชน

ฉบับวันที่: 3 สิงหาคม 2017

การเข้าถึง การดูแลรักษามะเร็งถ้วนหน้า Universal health coverage

การดูแลสุขภาพถ้วนหน้า หรือ Universal health coverage (UHC) คือ การเข้าถึงบริการสุขภาพที่มีคุณภาพ ทั้งในด้านการป้องกัน การรักษา การฟื้นฟู ในราคาที่จ่ายได้ไม่เป็นภาระแก่ผู้ป่วย
ในโลกนี้มีเพียง 56 ประเทศ จาก 196 ประเทศเท่านั้นที่ได้ออกกฎหมายให้มีการดูแลสุขภาพถ้วนหน้าแก่ประชากรของตน ประเทศไทยเป็นประเทศหนึ่ง ที่กล้าประกาศให้หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าแก่คนไทย มาตั้งแต่ พ.ศ.2545

มะเร็งเป็นโรคที่มีความสำคัญระดับโลก เป็นสาเหตุของความเจ็บป่วย และความตาย ที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่งของมนุษย์ เราไม่สามารถป้องกันหรือรักษามะเร็งได้ทุกชนิด แต่มะเร็งบางอย่างก็ป้องกันได้ และถ้ารักษาแต่เนิ่นๆ จะสามารถหายขาดได้ เราสามารถระดมสรรพกำลังเพื่อลดความเสี่ยงที่จะเกิดมะเร็ง เพื่อควบคุม”มะเร็งที่ควบคุมได้” ลดเพื่อการตายก่อนวัยอันควร การทำให้ผู้คนเข้าถึงการตรวจรักษามะเร็งจึงเป็นเรื่องสำคัญระดับนานาชาติ โดยองค์กรต่อต้านมะเร็งนานาชาติ UICC (International union for cancer control) และเป็นที่ยอมรับแล้วในสมัชชาโลกด้านสาธารณสุข World health assembly

นพ.เรนคสวามี ศังกรานารายณัน ที่ปรึกษาพิเศษด้านการควบคุมมะเร็ง และหัวหน้าฝ่ายตรวจกองมะเร็ง ขององค์กรนานาชาติเพื่อการวิจัยแห่งองค์การอนามัยโลก (IARC, WHO)
ได้กล่าวชื่นชมประเทศไทย ในการประชุมนานาชาติด้านมะเร็งWorld cancer congress 2016 ของ UICC ว่า ประเทศไทยเป็นตัวอย่างที่ยอดเยี่ยม สำหรับประเทศรายได้ปานกลางในการทำให้ประชากรเข้าถึงการดูแลมะเร็งอย่างทั่วถึงเป็นตัวอย่างที่สมควรศึกษาว่าประเทศไทยทำได้อย่างไร? เป็นที่รู้กันในระดับนานาชาติว่าประเทศไทยมีระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า โดยที่มีงบประมาณด้านสาธารณสุขเพียง 17% ของงบประมาณแห่งชาติ คือ ประมาณ 5% ของผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) ประชาชนไทยเข้าถึงการดูแลป้องกัน ตรวจกรองหามะเร็ง รักษามะเร็ง และการดูแลประคับประคอง โดยไม่ต้องเสีย ค่าใช้จ่ายประเทศไทยเก็บ “ภาษีบาป” เพิ่มอีก 2% ของราคาขายบุหรี่และเหล้าได้กว่าปีละห้าหมื่นล้านบาทเพื่อเข้ากองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ รัฐบาลให้วัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบบี และเอชพีวีหรือวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก ตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกฟรี และรักษามะเร็งฟรี โดยใช้งบประมาณเพียง 6% ของงบสุขภาพถ้วนหน้า หรือประมาณ 6 พันล้านบาทต่อปี องค์การอนามัยโลกวิเคราะห์ว่าประเทศไทยประสบความสำเร็จ โดยการบริหารที่มีประสิทธิภาพหลายประการ ประเทศไทยมีการเก็บสถิติมะเร็งที่เชื่อถือได้ในระดับโลก โดยกลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านสถิติมะเร็งโดยเฉพาะมากกว่า 15 ปี แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคมะเร็งได้ร่วมกันตกลงว่าการรักษาสูตรยาใดบ้างที่สำคัญและจำเป็น ออกมาเป็นมาตรฐานการรักษาของมะเร็งสำคัญที่สุด 12 ชนิด เพื่อให้การรักษาดีที่สุดเหมือนกันทั้งประเทศภายใต้งบประมาณที่จำกัด ส่วนการจัดหายารักษามะเร็ง ทำโดยการเจรจาต่อรองยามะเร็งที่มีราคาแพงแบบรวมศูนย์ (central bargaining) แล้วให้แต่ละโรงพยาบาลจัดซื้อ (local purchasing) ตามราคาที่ได้ต่อรองไว้ให้การคัดเลือกยามะเร็งที่จำเป็นทำโดยผ่านการประเมินเศรษฐศาสตร์สาธารณสุขโดยหน่วยงานเชี่ยวชาญเฉพาะคือ HITAP หรือโครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ เพื่อประเมินราคาที่คุ้มค่าในบริบทของประเทศไทย และผลการวิจัยนั้นใช้เป็นฐานในการต่อรองรับบริษัทยาข้ามชาติ ตัวอย่างเช่น ยาออกซาลิแพลติน ซึ่งมีราคาขายในตลาดโลกขวดละ 8,000 บาท HITAP ได้ทำการวิจัยและประเมินว่าจะคุ้มค่าก็ต่อเมื่อ ระบบสาธารณสุขจ่ายในราคาขวดละ 5,000 บาท รัฐบาลไทยสามารถต่อรองกับบริษัทยาได้ในราคาขวดละ 2,500 บาท ซึ่งเป็นราคาที่รับได้ในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ซึ่งมีงบประมาณจำกัด ในกรณีที่ต่อรองไม่สำเร็จ ซึ่งเป็นยามะเร็งเพียง 4 ชนิด รัฐบาลไทยกล้าหาญที่จะใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตร (CL, compulsory licensing) เพื่อให้สามารถจัดหายารักษามะเร็ง ที่ผู้เชี่ยวชาญเห็นพ้องกันแล้วว่าเป็นยาสำคัญและจำเป็น ให้ได้มาในราคาที่ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ารับได้ ซึ่งเป็นไปตามสนธิสัญญา TRIPS ข้อ 31B ตามมาตรฐานนานาชาติ

ประเทศไทยมีการพัฒนาทางสาธารณสุขอย่างต่อเนื่อง ทำให้ ผู้ป่วยเข้าถึงการบริการแพทย์อย่างถ้วนหน้า ในปัจจุบัน ผู้เข้ารับบริการส่วนใหญ่ได้รับการดูแลใกล้บ้าน คือในศูนย์อนามัยชุมชน และโดยอัตราการมาโรงพยาบาลใหญ่มิได้เปลี่ยนแปลงมากในช่วง 15 ปีหลัง (ตารางที่ 1) บัดนี้ผู้ป่วยมะเร็งสามารถเข้าถึงบริการมะเร็งผ่านทาง สถาบันมะเร็ง 1 แห่ง และโรงพยาบาลเฉพาะทางมะเร็ง 6 แห่งในแต่ละภาค โรงพยาบาลที่มีการฉายรังสี รวม 22 แห่ง โรงพยาบาลที่สามารถวินิจฉัยมะเร็ง ผ่าตัดมะเร็ง ให้ยาเคมีบำบัด รวม 645 แห่งและโรงพยาบาลที่ให้การดูแลประคับประคอง 549 แห่ง โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย อัตราตายจากมะเร็งของคนไทยคือ 104 รายต่อประชากรแสนคนต่อปี เป็นอันดับที่ 91 ของโลกในขณะที่คนอังกฤษมีอัตราตายจากมะเร็ง 140 รายต่อประชากรแสนคนต่อปี อันดับ 14 ของโลกทั้งที่ใช้งบประมาณในการรักษามะเร็งถ้วนหน้าสูงถึง 5,800 ล้านปอนด์ หรือ 2.5 แสนล้านบาทต่อปี สำหรับจำนวนประชากรที่ใกล้เคียงกัน คือ 65 ล้านคน แต่เราใช้เงินน้อยกว่าเกือบ 40 เท่า

เราจึงควรภูมิใจได้ว่า วงการแพทย์และสาธารณสุขไทย มีประสิทธิภาพ คือถูกและดีกว่าหลายประเทศในโลก เรามีทรัพยากรน้อยก็จริง และการบริการนั้นยังไกลจากความสมบูรณ์แบบ แต่ด้วยจิตวิญญาณแห่งการบริการของบุคลากร วิสัยทัศน์และความสามารถของผู้บริหารในวงการสาธารณสุขไทยอย่างต่อเนื่อง คนไทยสามารถเข้าถึงบริการที่ดีมาก เมื่อเทียบกับทรัพยากรที่เรามีควรแก่การยกย่องเป็นตัวอย่างของโลก อย่างน้อยก็ในวงการมะเร็งโลกจะยังคงพัฒนาไปอีกมาก ยาใหม่จะแพงขึ้นเรื่อยๆ ถ้าเราไม่ตั้งหลักให้ดี เราคงจะหมดเงินมากขึ้นเรื่อยๆ ไปกับการรักษาโรคมะเร็งที่รักษาไม่หาย โรคมะเร็งไม่เหมือนโรคอื่น ผู้ป่วยมีเวลาที่ไม่แน่นอน เราสามารถเลือกใช้พุทธวิถีในการรักษามะเร็ง คือรักษาเฉพาะผู้ที่รักษาหายได้
แต่สำหรับมะเร็งที่รักษายากนั้น แทนที่จะจ่ายเงินที่หาได้ทั้งชีวิตกับการรักษาช่วงสุดท้าย เขาพึงมีทางเลือกที่จะใช้ชีวิตกับมะเร็งอย่างสันติเช่นกัน

3 สิงหาคม 2560

Next post > National Vaccine Conference 2017: องค์กรปกครองท้องถิ่น-ภาคประชาสังคมหนุนนำ'วัคซีนใหม่'ให้บริการประชาชน

< Previous post HITAP บรรยายพิเศษ เรื่อง HTA ที่เมธีวิจัยอาวุโส สกว.

Related Posts

ข่าวที่เข้าชมมากที่สุด ในรอบ 3 เดือน

HITAP เป็นข่าว ล่าสุด