logo
ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อฝ่ายสื่อสารองค์กร HITAP

หนังสือพิมพ์: เดลินิวส์

ฉบับวันที่: 22 มกราคม 2017

แก้การมองเห็น เพิ่มโอกาสในการเรียนรู้

 

การมองเห็นมีผลต่อพัฒนาการและการเรียนรู้ของเด็ก ๆ การรีบแก้ไขความผิดปกติ จึงเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องแก้ไขให้ทันท่วงที ซึ่ง นพ.ปานเนตร ปางพุฒิพงศ์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ และอดีต ผอ. โรงพยาบาลเมตตาประชารักษ์ (วัดไร่ขิง) บอกว่า พอ เด็กมองไม่ชัด มองไม่เห็นอันดับแรกเลยจะทำให้ระบบประสาทการมองเห็นไม่ได้รับการพัฒนาเต็มที่ เป็นเหตุให้เกิดภาวะสายตาขี้เกียจ การมองเห็นพร่ามัว และยิ่งเพ่งมากก็จะทำให้กล้ามเนื้อตาเกร็ง และเกิดภาวะตาเข ตาเหล่ตามมาด้วย หากไม่ได้แก้ไขปัญหาเหล่านี้จะเป็นถาวร การเรียนรู้เรื่องอื่น ๆ ผ่านการมองเห็นก็จะมีปัญหาไปด้วย
“การแก้ไขต้องเร่งดำเนินการตั้งแต่อายุน้อย ๆ ไม่ควรเกิน 6 ขวบ อย่างการสวมแว่นสายตาเพื่อให้สามารถมองเห็นได้ปกติ ลดการเพ่ง เกร็ง เพิ่มการเรียนรู้ แต่เป็นเรื่องที่ลำบากเพราะเด็กที่เล็กมากไม่สามารถบอกกับผู้ใหญ่ได้ ดังนั้นจึงต้องสังเกตเอง เช่น ผิดปกติ เช่น ตาเข ตาเหล่ ตาลอย ชอบเอียงหน้า เอียงคอมอง หรือไม่มองหน้าเลย หรือกรณีเด็กโตขึ้นมาหน่อย อาจจะสังเกตจากดูหนังสือหรือดูโทรทัศน์ในระยะใกล้ ปวดศีรษะหลังเลิกเรียน บ่นว่ามองกระดานไม่ชัด” ทั้งนี้ ปัญหาสายตาผิดปกติในเด็กบางส่วนเกิดจากพันธุกรรม และบางส่วนเกิดจากการใช้สายตามาก ๆ โดยเฉพาะ ปัจจุบันที่มีการใช้เทคโนโลยีมากขึ้น ทั้งแท็บเล็ต สมาร์ทโฟน โทรทัศน์ ซึ่งเด็กเล็ก ๆ ก็เข้าถึงแล้วทำให้มีปัญหาด้านสายตาเพิ่มมากขึ้น โดยจากการวิจัยการพัฒนาระบบการคัดกรองภาวะสายตาผิดปกติและประกอบแว่นสายตาสำหรับเด็กวัยก่อนประถมศึกษาและประถมศึกษาในประเทศไทย โดยโครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (HITAP) ปี 2554-2555 พบว่า เด็กไทยมีสายตาผิดปกติ 6.6% และจำเป็นต้องใส่แว่นสายตา 4.1% “เมื่อ 10 กว่าปีก่อนก็มีการสำรวจเด็กนักเรียนใน กทม. พบ มีปัญหาสายตาผิดปกติเกือบ 10% ศึกษาถือว่าเยอะมาก ในขณะที่ เด็กต่างจังหวัดจะมีปัญหาสายตาประมาณ 3-4% เท่านั้น ซึ่งแน่ นอนว่ามีความเกี่ยวข้องกับการ เข้าถึงเทคโนโลยี แต่ปัจจุบันค่าเฉลี่ยเด็กมีปัญหาสายตาที่ 6.6% เป็นปัญหาภาพรวม ทั้งประเทศ”
นพ.ปานเนตร ระบุว่า ในจำนวนเด็กที่มีโอกาสได้สวมแว่นสายตานั้นพบว่ากว่า 50 % มีค่าการมองเห็นไม่เหมาะสม ซึ่งเป็นปัญหามาจากการตรวจวัดตั้งแต่แรก เพราะธรรมชาติของเด็กไม่เหมือนผู้ใหญ่ที่สามารถควบคุมตัวเองได้ แต่เด็กควบคุมตัวเองยาก หรือควบคุมไม่ได้ก็จะเพ่งสายตามากทำให้ค่าสายตาผิดปกติ การตรวจจึงต้องใช้ยาหยอดตาเพื่อลดการเพ่ง ซึ่งเป็นยาที่ห้ามใช้ในร้านตัดแว่น ต้องใช้ในรพ.ภายใต้การดูแลของจักษุแพทย์เท่านั้น
จากปัญหาดังกล่าวในส่วนของกระทรวงสาธารณสุขเองก็พยายามแก้ไข และจัดบริการตรวจวัดสายตาให้กับเด็กประถมศึกษาปีที่ 1 ทั่วประเทศกว่า 1.04 ล้านคน ทั้งนี้หากใครมีปัญหาก็จะมอบแว่นสายตาให้ฟรี ซึ่งเป็นโครงการต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2559
อย่างไรก็ตาม โครงการของกระทรวงสาธารณสุขนั้นจะค่อย ๆ ทยอยดำเนินการดังนั้น หากครอบครัวที่มีสังเกตว่าลูกหลานตัวเองมีปัญหาเรื่องการมองเห็นตามข้อสังเกตที่ให้ไปนั้นสามารถพาไปตรวจกับจักษุแพทย์ที่รพ.ได้ โดยไม่ต้องรออย่าปล่อยให้ปัญหาการมองเห็นมาเป็นอุปสรรคการเรียนรู้ในเวลาทองของชีวิต.

23 มกราคม 2560

Next post > สปสช.เจอเด็กไทยต้องใส่แว่นสายตามากกว่า 3 แสนราย

< Previous post สปสช.'จับมือเทศบาลนำร่องอนามัยโรงเรียน

Related Posts

ข่าวที่เข้าชมมากที่สุด ในรอบ 3 เดือน

HITAP เป็นข่าว ล่าสุด