ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อฝ่ายสื่อสารองค์กร HITAP
หนังสือพิมพ์: โพสต์ทูเดย์
ฉบับวันที่: 6 ธันวาคม 2016
ยูนิเวอร์ซิตี้คอลเลจลอนดอน หรือยูซีแอล ให้ความสำคัญกับ “วิสาหกิจ”(Enterprise) มาตั้งแต่ต้น จากการเป็นมหาวิทยาลัยที่เกิดโดยแรงบันดาลใจจาก เจเรมี เบนแธม ผู้ต้องการสร้างมหาวิทยาลัยที่มุ่ง “สร้างความดีให้มากที่สุดให้แก่คนจำนวนมากที่สุด” (A university dedicated to the greatest good for the greatest number) ดังได้กล่าวมาแล้ว มหาวิทยาลัยแห่งนี้จึงออกแบบให้เป็น “สถาบันวิสาหกิจ” (Enterprising Institution) มาตั้งแต่ต้น และวิวัฒนาการมาถึงปัจจุบันคือเป็น “ชุมชนของนักวิจัย นักการศึกษา และนักปราชญ์ของวิสาหกิจผู้มีความเชื่อมั่นและกระตือรือร้นที่จะทำงานร่วมกัน เพื่อประโยชน์ของสังคมทั้งระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว” (A confident and enthusiastic com munity of enterprising researchers, educators and scholars working to gether for the immediate, medium and long-term benefit of society)
ในอดีตตั้งแต่เริ่มมีปรัชญาให้มหาวิทยาลัยต้องมีบทบาทต่อสังคม มหาวิทยาลัยโดยมากมักตอบสนองต่อภารกิจนี้ โดยการตั้งหน่วยงานรับผิดชอบ แยกต่างหากจากหน่วยงานที่ทำงานวิจัยและการเรียนการสอน ทำให้มหาวิทยาลัยโดยมากไม่สามารถบรรลุเป้าหมายในภารกิจต่อสังคม เพราะหน่วยงานที่แยกต่างหากออกมานี้ ขาด “ต้นทุน” ที่จะทำงาน แทนที่หน่วยงานรับผิดชอบนี้จะ “บริการสังคม” ได้ กลับกลายเป็นคอขวด เพราะหน่วยงานวิจัยและหน่วยการเรียนการสอนมิได้ทำงานเชื่อมโยงโดยตรงกับสังคม จึงไม่รับรู้ปัญหาและความต้องการของสังคมอย่างถ่องแท้ ในประเทศไทยมหาวิทยาลัยโดยมากไม่สามารถบรรลุเป้าหมายภารกิจด้านบริการสังคม ก็เพราะโครงสร้างที่ผิดเช่นเดียวกันนี้
ในช่วงกว่าสองทศวรรษที่ผ่านมา ยูซีแอลได้ปรับโครงสร้างการทำงานของมหาวิทยาลัยใหม่ แทนที่จะแบ่งโครงสร้างเป็นสามส่วน เพื่อทำภารกิจสามด้านแยกจากกัน ยูซีแอลได้ปรับโครงสร้างให้เหลือเพียงสอง คือ งานด้านวิจัยและการเรียนการสอน และให้ทั้งสองส่วนงานหลักทำงานเชื่อมโยงโดยตรงในภารกิจด้านบริการเพื่อสังคม ทำให้มหาวิทยาลัยสามารถทำภารกิจด้านบริการสังคมได้อย่างมีประสิทธิผล และประสิทธิภาพขึ้นอย่างมาก
ยูซีแอลเป็น “มหาวิทยาลัยวิจัย” ที่โดดเด่น มิใช่เฉพาะในอังกฤษเท่านั้น แต่เป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลก หลักฐานที่ชัดเจนดูได้จากงบประมาณของมหาวิทยาลัย ในปีงบประมาณ 2558 ยูซีแอลมีรายได้ทั้งสิ้น 1,180 ล้านปอนด์ หรือราว 5.9 หมื่นล้านบาท รายจ่าย 1,150 ล้านปอนด์ เป็นรายได้จากค่าบำรุง และทุนการศึกษา 361.25 ล้านปอนด์ แต่เป็นรายได้จากทุนวิจัย และการรับจ้างวิจัยรวมกันถึง 427.5 ล้านปอนด์ แน่นอนว่าทุนวิจัยจำนวนมากใช้ไปเพื่อการวิจัยพื้นฐาน ซึ่งส่วนมากมีลักษณะเป็นการวิจัย “ขึ้นหิ้ง” เพราะยังไม่สามารถนำไปพัฒนาต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ หรือบริการที่สร้างรายได้โดยตรง แต่ก็จำเป็นต้องทำเพราะหากไม่มีการวิจัย “ต้นน้ำ” ก็ไม่สามารถมีการวิจัย “กลางน้ำ” และ “ปลายน้ำ” ได้ ผู้บริหารในประเทศไทยจำนวนไม่น้อยวิจารณ์เชิงตำหนิการวิจัย “ขึ้นหิ้ง” ว่าไม่มีประโยชน์ แสดงถึงความไม่เข้าใจในธรรมชาติของการวิจัยและพัฒนา ยูซีแอลทำวิจัย ไม่เพียงต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำเท่านั้น แต่ทาต่อจนผลงานวิจัยพัฒนาเป็นธุรกิจ หรือ กิจการที่ “โบยบิน” (Spinout) ออกไปได้ และหลังจากนั้นยังช่วยพัฒนากิจการนั้นต่อเนื่องต่อไปอีกด้วย
ยูซีแอลจึงทำการสนับสนุนตั้งแต่ 1) การค้นพบ (Discovery) 2) การพัฒนายุทธศาสตร์ทางการค้า (Com mercialization Strategy) 3) การพัฒนาแผนธุรกิจ (Business plan development) 4) การให้คำแนะนาในด้านกฎหมาย และรูปแบบธุรกิจ (Contractual advice and formaliza tion) 5) การสนับสนุนในช่วงการบ่มเพาะ (Incubation Support) 6) การคัดเลือกทีมบริหาร (Recruiting of management team) และ 7) การหานักลงทุน (Indentifying Investors)
ตัวอย่างเช่น บริษัท “เฮลิคอนเฮลท์” (Helicon Heath) ซึ่งผลิตเครื่องช่วยรักษาโรค “หัวใจห้องบนเต้นรัว” (Atrial Fibrillation) ป้องกันโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) ซึ่งเป็นต้นเหตุสำคัญของโรคอัมพฤกษ์อัมพาตที่เป็นกันมาก
เริ่มจากปี 2550 ทีมวิจัยนำโดย ศาสตราจารย์เดวิด แพตเตอร์สัน ได้พัฒนาซอฟต์แวร์เพื่อบันทึกข้อมูลสุขภาพด้วยเครื่องอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Health Record : EHR) จนได้การรับรองมาตรฐานสากล คือ ISO EN 13606 และได้นำอุปกรณ์ดังกล่าวติดตั้งในผู้ป่วยโรคหัวใจในโครงการป้องกันโรคหลอดเลือดสมอง ผู้ป่วยที่มีหัวใจห้องบนเต้นรัว จะทำให้เลือดไหลเวียนช้าอยู่ในห้องหัวใจ ทำให้มีโอกาสที่เลือดจะแข็งตัวเป็นลิ่มเลือดแล้วไปอุดตันที่สมองทำให้เกิดโรคหลอดเลือดสมองได้ คนไข้เหล่านี้จึงต้องการยาละลาย ลิ่มเลือด เพื่อการรักษาอย่างเหมาะสม โรงพยาบาลวิตติงตันทางตอนเหนือของกรุงลอนดอน ได้นำอุปกรณ์นี้ไปใช้ตั้งแต่เดือน ส.ค. 2551 ปรากฏว่าได้ ผลดี ระหว่างนั้นยูซีแอลได้ศึกษาติดตามอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งปี 2555 ก็สามารถตั้งเป็นบริษัทชื่อ เฮลิคอนเฮลท์และอุปกรณ์ดังกล่าวก็ได้ชื่อการค้าว่า “เฮลิคอนฮาร์ต” (Helicon Heart) ปีต่อมาเฮลิคอนเฮลท์ ร่วมกับยูซีแอล ได้พัฒนาระบบอี-เลิร์นนิงให้ผู้ป่วยสามารถดูแลตนเองได้ (Patient self care elearning) มีผู้ป่วยที่ใช้บริการนี้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
อีกปีต่อมามีการพัฒนาให้สามารถเชื่อมข้อมูลจากเฮลิคอนฮาร์ตกับระบบบริการปฐมภูมิ คือ แพทย์เวชปฏิบัติทั่วไป (General Practitioner : GP) ทำให้ผู้ป่วยสามารถไปรับบริการใกล้บ้านกับหมอประจำครอบครัว งานนี้จึงสอดคล้องกับเกณฑ์ของ “สถาบันแห่งชาติเพื่อความเป็นเลิศของสุขภาพและการดูแล” (National Institute for Health and Care Excellence) หรือ สถาบันไนซ์ (NICE) เพราะ “สามารถนำบริการการดูแลไปใกล้บ้านคนไข้มากยิ่งขึ้น สามารถพัฒนาคุณภาพการดูแลผู้ป่วยและประหยัดค่าใช้จ่ายได้ด้วย”
สถาบันไนซ์เป็นสถาบันที่มีหน้าที่ประเมินยา เทคโนโลยี และวิธีการรักษาต่างๆ ว่าปลอดภัย มีประสิทธิผล และ คุ้มค่า สมควรบรรจุเข้าในชุดสิทธิประโยชน์ของระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (National Health Service) หรือ เอ็นเอชเอส (NHS) ของอังกฤษ ในประเทศไทยมีสถาบันที่พัฒนาจนได้รับการยอมรับในขีดความสามารถระดับเดียวกันกับสถาบันไนซ์ของอังกฤษ คือ โครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ(Health Intervention and Technology Assessment Program) หรือ ไฮเทป
ปัจจุบันเฮลิคอนฮาร์ตมีโรงพยาบาลในสังกัดของเอ็นเอชเอส นำไปใช้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยคำนวณได้ว่าการป้องกันโรคหลอดเลือดสมองได้ 1 ราย สามารถประหยัดค่าใช้จ่ายของเอ็นเอชเอสได้ปีละ 1.6 หมื่นปอนด์ หรือราว 8 แสนบาท
น่าเสียดายที่มหาวิทยาลัยประเทศไทยยังทำวิจัยกันน้อยมาก หาโครงการวิจัยครบวงจรเช่นนี้ได้น้อยมากหรือไม่ได้เลย แม้แต่สถาบันวิจัยต่างๆ ก็มักทำวิจัยเพียงบางช่วงบางตอนเท่านั้น ทำให้เรา “ติดกับดักรายได้ปานกลาง” อยู่ในเวลานี้
13 ธันวาคม 2559