logo

HITAP ร่วมมือกับกรมการแพทย์ จัดการประชุมผู้เชี่ยวชาญและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ในโครงการ “การพัฒนาแนวทางการประเมินความคุ้มค่าฯ ปัญญาประดิษฐ์ทางการแพทย์ เพื่อบรรจุในชุดสิทธิประโยชน์ ในระบบประกันสุขภาพของประเทศไทย”

สปสช. และ HITAP ขอเชิญท่านมาร่วมเป็นส่วนสำคัญในการยกระดับบริการสุขภาพของประเทศไทย ด้วยการตอบแบบสอบถามในหัวข้อ “การปฏิบัติงานตามนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว”

ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อฝ่ายสื่อสารองค์กร HITAP

หนังสือพิมพ์: โพสต์ทูเดย์

ฉบับวันที่: 25 ตุลาคม 2016

เย ธัมมา เหตุปปภวา…(3)

ขอเล่าเรื่องวัคซีนเอชพีวีป้องกันมะเร็งปากมดลูกต่อไป ช่วงไม่กี่ปีมานี้มีการเคลื่อนไหวหาประโยชน์จากความตื่นตัวของประชาชนอย่างกว้างขวาง กรมหนึ่งในกระทรวงสาธารณสุขได้เคยเตรียมตั้งงบประมาณเสนอรัฐมนตรีสมัย จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ให้ซื้อวัคซีนนี้ราคาเข็มละ 15 เหรียญสหรัฐ รัฐมนตรีจุรินทร์เชิญ ไฮแทป ให้ข้อมูล ได้ตัวเลขควรซื้อขณะนั้น คือ 6 เหรียญสหรัฐ รัฐมนตรีจุรินทร์จึงพับโครงการเพราะเกรงคำถามใหญ่ คือ ส่วนต่าง 15-6 = 9 เหรียญสหรัฐ เข้ากระเป๋าใครระหว่างนั้นมี “ผู้เชี่ยวชาญ” บางคนออกมาพูดเป็นระยะๆ เร่งให้บรรจุวัคซีนนี้เข้าบัญชียาหลักแห่งชาติ กดดันโดยเสนอผ่าน “ช่องทางใหม่” ที่ภาพลักษณ์ “ดูดี” และเหมาะสม เพราะเป็นองค์กรระดับชาติ คือ “คณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ” ซึ่งแท้จริงแล้วมีกรรมการบางคนมีผลประโยชน์ทับซ้อนกับบริษัทวัคซีนแต่ไม่ปรากฏเป็นข่าว ในที่สุดสามารถผลักดันจนผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการนี้ โดยพิจารณาจาก “ประโยชน์” มิได้พิจารณางบประมาณและความคุ้มค่า
มีการเร่งให้นำวัคซีนนี้เข้าระบบงานสร้างภูมิคุ้มกันโรคของชาติ บีบให้คณะอนุกรรมการพัฒนาบัญชียาหลักแห่งชาติ ต้องรับวัคซีนเข้าบัญชีอัตโนมัติ โดยให้มหาวิทยาลัยมหิดลทำการศึกษาเพื่อ “ลัดขั้นตอน” ตัดอำนาจดุลพินิจของคณะอนุกรรมการพัฒนาบัญชียาหลักแห่งชาติ ให้เป็นอำนาจคณะอนุกรรมการภายใต้คณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติแทน
แต่ผลการศึกษาของมหาวิทยาลัยมหิดล พบว่าระบบของคณะอนุกรรมการพัฒนาบัญชียาหลักแห่งชาติดีอยู่แล้ว เพราะมีการตรวจสอบและจัดการผลประโยชน์ทับซ้อนเข้มแข็ง คณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติเสียอีกที่มีกรรมการบางคนชอบออกมาพูดกดดันให้จัดซื้อวัคซีนมี “ผลประโยชน์ทับซ้อน” กับบริษัทยา  สมัย ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน เป็นรัฐมนตรีสาธารณสุข ได้วางกฎป้องกัน “การวิ่งเต้น” ไว้อีก 2 ชั้น เพื่อตัดสินใจ ใช้งบประมาณอย่างรอบคอบ ป้องกันอำนาจแฝงบีบบังคับและมิให้มีผลประโยชน์ทับซ้อน จึงกำหนดว่าก่อนบรรจุวัคซีนใหม่ตัวใดที่มีราคาแพงเข้าบัญชียาหลักแห่งชาติ ต้องหารือกับคณะอนุกรรมการสิทธิประโยชน์และคณะอนุกรรมการการเงินการคลังในสปสช.ก่อน
หลักการนี้กำหนดเป็นลายลักษณ์อักษร มีการประชุมทุกภาคส่วนเกี่ยวข้องหลายครั้งจนได้ข้อยุติ แล้วจึงเวียนแจ้งทุกองค์กรเกี่ยวข้องถือปฏิบัติ แต่เพราะแรงกดดันเข้าหาผู้มีอำนาจให้บีบจากหลายทาง รวมทั้งกดดันสื่อ อีกทั้งผู้บริหารยังด่วนประกาศจะรับวัคซีนเข้าในบัญชียาหลักแห่งชาติทั้งที่อยู่ระหว่างต่อรองราคา ย่อมทำให้ผู้ขายไม่ยอมลด เหมือนไปตลาดตกลงกับคนขายว่าจะซื้อแล้วค่อยต่อรองราคา คนขายที่ไหนจะยอมลดเป็นกอบเป็นกำ อันที่จริงมีข้อต่อรองสำคัญกับบริษัทยา เพราะการใช้วัคซีนตัวนี้ใช่ว่าจะไม่เสี่ยง ขณะนั้นมีหลายประเทศได้ฉีดวัคซีนนี้ไป แล้วเริ่มทยอยรายงานอาการไม่พึงประสงค์ โดยเฉพาะอาการไม่ปรากฏระหว่างวิจัยก่อนขึ้นทะเบียนยา เพราะ “กลุ่มตัวอย่าง” ที่ได้รับวัคซีนในโครงการมีจำนวนไม่มากพอหลังจากมีการฉีดวัคซีนไปจำนวนมาก อาการเหล่านี้ค่อยๆ โผล่มาให้เห็น ซึ่งบางกรณีอาจ “ร้ายแรง” ถึงขั้นต้องถอนยาออกจากท้องตลาด เช่น เคยมีการฉีดวัคซีนป้องกันโรคท้องร่วงจากเชื้อไวรัสโรต้า ต้นเหตุสำคัญของโรคท้องร่วงรุนแรงในเด็กเล็กทั่วโลก
วัคซีนป้องกันเชื้อไวรัสตัวนี้เมื่อค้นพบใหม่ๆ เป็นที่ชื่นชมของทั่วโลก มีการมอบรางวัลเกียรติยศให้แก่นักวิทยาศาสตร์ที่พัฒนา ในที่ประชุมองค์การอนามัยโลก กรุงเจนีวา สวิตเซอร์แลนด์ จนมีการขึ้นทะเบียนจำหน่ายได้ แต่วัคซีนนี้เมื่อออกมาใหม่ๆ มีราคาแพง มีเพียงประเทศเดียวสามารถซื้อไปฉีดให้แก่เด็กได้ คือ สหรัฐ
หลังจากฉีดไปได้หลักล้านโดส ปรากฏ “อาการไม่พึงประสงค์ร้ายแรง” เด็กที่ได้รับวัคซีนเกิดลำไส้อุดตันจนเสียชีวิต 2 ราย กระทรวงสาธารณสุขโดยศูนย์ควบคุมโรคแห่งชาติได้ทำการสอบสวน พบความสัมพันธ์ของโรคกับการได้รับวัคซีนอย่างชัดเจน ค่าอัตราส่วน “ออดส์” (Odd’s Ratio) ถึง 20 ต่อ 1 คณะกรรมการวัคซีนสหรัฐจึงออกรายงานว่าวัคซีนนั้นไม่ปลอดภัย บริษัทยารีบถอนวัคซีนออกจากตลาดยา ไม่เช่นนั้นอาจถูกฟ้องเรียกค่าเสียหายได้
สาเหตุลำไส้อุดตันเพราะวัคซีนไปกระตุ้นการสร้างภูมิคุ้มกันลำไส้บริเวณที่เรียกว่าเพเยอร์ส แพทช์ หนาตัวขึ้น จากการที่เซลล์เม็ดเลือดขาวเพิ่มจำนวน จึงขวางการเคลื่อนตัวของลำไส้จนเกิดอาการนี้ในเด็กบางราย แม้เกิดขึ้นน้อยมาก แต่ร้ายแรงเพราะทำให้ถึงตาย ทำให้ต้องถอนยาออกไปพัฒนาก่อนนากลับมาใช้ใหม่จากนั้นอีกหลายปีผลข้างเคียงสำคัญของวัคซีนตามรายงาน คือ อาการชัก การทำลายสมอง ตาบอด อัมพาต ปัญหาในการพูด ตับอ่อนอักเสบ และสูญเสียความทรงจำระยะสั้น ประเทศญี่ปุ่นรายงานอาการนี้ จำนวน 1,968 ครั้ง และจำนวน 358 ครั้ง อาการรุนแรง ซึ่งประเมินโดยกระทรวงสาธารณสุขญี่ปุ่น ซึ่งการใช้วัคซีนนี้ในญี่ปุ่นลดลงจาก 70% เหลือเพียง 1%
นอกจากอาการไม่พึงประสงค์แล้ว ข้อมูลที่ว่า “กาวี” สามารถซื้อในราคา 145 บาท ก็เป็นข้อต่อรองสำคัญ คือ กรมซึ่งเป็นหน่วยงานวิชาการผู้ผลักดันเรื่องนี้มาตลอดยังปล่อยไก่ช่วงท้าย โดยเสนอของบจัดซื้อวัคซีนสำหรับฉีด 3 เข็ม/เด็กหญิง 1 คน ทั้งที่องค์การอนามัยโลกมีข้อแนะนำใหม่มาเกือบ 2 ปี ให้ฉีดแค่ 2 เข็ม เพราะมีหลักฐานการฉีดวัคซีนในเด็กอายุต่ำกว่า 14 ปี ไม่มีปัญหาเรื่องภูมิคุ้มกันบกพร่องจะได้ประโยชน์เท่ากับฉีดวัคซีน 3 เข็ม ลดโอกาสเกิดผลข้างเคียงและอาการไม่พึงประสงค์จากวัคซีน คือ ปลอดภัยและประหยัดงบประมาณ โชคดีที่คณะอนุกรรมการพัฒนาบัญชียาหลักแห่งชาติ ทักท้วงจนได้รับการแก้ไขในที่สุด ส่งผลให้ประหยัดงบประมาณไปได้อีกราว 150 ล้านบาท น่าสังเกตว่ากรมนี้ยังเป็นผู้ร่วมเรียกร้องให้คณะอนุกรรมการพัฒนาบัญชียาหลักแห่งชาติ ไม่ต้องมาพิจารณาเรื่องวัคซีน แต่ให้คณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติที่กรมเป็นเลขานุการเป็น ผู้พิจารณาตัดสินแทนด้วย
ปัจจุบันวัคซีนนี้ได้ผ่านความเห็นชอบให้เข้าบัญชียาหลักแห่งชาติแล้ว โดยได้ราคาที่เข็มละ 375 บาท ไม่ผ่านคณะอนุกรรมการ 2 คณะใน สปสช.ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ กรมบัญชีกลางมีตัวแทนในคณะอนุกรรมการบัญชียาหลักแห่งชาติ ที่บรรจุวัคซีนนี้เข้าบัญชีโดยข้ามขั้นตอนด้วย แต่ก็ไม่ได้มีการทักท้วงใดๆ

26 ตุลาคม 2559

Next post > ข่าวประชุมผู้เชี่ยวชาญการประเมินความปลอดภัยและประสิทธิผลของการใช้ bevacizumab เพื่อรักษาโรคจอตา

< Previous post เย ธัมมา เหตุปปภวา 2 สถานการณ์การลงทุนซื้อวัคซีนสำหรับประเทศไทย

Related Posts

ข่าวที่เข้าชมมากที่สุด ในรอบ 3 เดือน

HITAP เป็นข่าว ล่าสุด