logo

HITAP ร่วมมือกับกรมการแพทย์ จัดการประชุมผู้เชี่ยวชาญและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ในโครงการ “การพัฒนาแนวทางการประเมินความคุ้มค่าฯ ปัญญาประดิษฐ์ทางการแพทย์ เพื่อบรรจุในชุดสิทธิประโยชน์ ในระบบประกันสุขภาพของประเทศไทย”

ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อฝ่ายสื่อสารองค์กร HITAP

หนังสือพิมพ์: หนังสือพิมพ์มติชน และ หนังสือพิมพ์เดลินิวส์

ฉบับวันที่: 17 กันยายน 2016

มะเร็งลำไส้ใหญ่

รพ.หาดใหญ่’ เพิ่มศักยภาพ รักษา’มะเร็งลำไส้

หนังสือพิมพ์ มติชน ฉบับวันที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2559

หลายต่อหลายครั้ง สถานพยาบาลภาครัฐในต่างจังหวัด มักจะมีการส่งตัวผู้ป่วยเพื่อมารักษาในกรุงเทพมหานคร นั่นเพราะ ในอดีตยังขาดศูนย์การแพทย์เชี่ยวชาญเฉพาะทาง ขาดเครื่องไม้เครื่องมือทางการแพทย์ที่ทันสมัย ทำให้ยังมีข้อจำกัด แต่วันนี้โรงพยาบาลของรัฐในภูมิภาคเริ่มมีศักยภาพมากกว่าที่คิด…
และนี่คือ อีกหนึ่งตัวอย่างของสถานพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ที่ทำได้
โรงพยาบาล (รพ.) หาดใหญ่ จ.สงขลา จัดเป็นโรงพยาบาลศูนย์ขนาด 689 เตียง มีเตียงไอซียู 79 เตียง และห้องผ่าตัดอีก 21 ห้อง รพ.หาดใหญ่ เป็นหนึ่งในโรงพยาบาลที่มีการพัฒนาจนมีศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางในการรักษาโรคต่างๆ อาทิ ศูนย์โรคหัวใจ ศูนย์มะเร็ง ศูนย์โรคระบบทางเดินอาหารและตับ ศูนย์ผ่าตัดส่องกล้อง เป็นต้น
โดยเฉพาะ “ศูนย์โรคระบบทางเดินอาหารและตับ” นับเป็นศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางที่ตอบโจทย์ปัญหาสาธารณสุข ณ ปัจจุบัน ยิ่งในพื้นที่ อ.หาดใหญ่ โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่จัดเป็นปัญหาหลัก อยู่ในอันดับต้นๆ ซึ่งไม่แตกต่างมากนักจากสถานการณ์โรคมะเร็งในภาพรวมทั้งประเทศ โดยข้อมูลจาก สธ.พบว่า คนไทยเสียชีวิตจากโรคมะเร็งประมาณ 60,000 คนต่อปี หรือเฉลี่ยชั่วโมงละเกือบ 7 ราย โดยโรคมะเร็งพบมากที่สุด 5 อันดับแรก คือ มะเร็งตับและท่อน้ำดี มะเร็งปอด มะเร็งเต้านม มะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก และมะเร็งปากมดลูก

พญ.วรรณา อังคสุวรรณ หัวหน้ากลุ่มงานพัฒนาบริการระบบสุขภาพ รพ.หาดใหญ่ ให้ข้อมูลว่า ใน รพ.หาดใหญ่พบผู้ป่วยโรคมะเร็งลำไส้บ่อยเช่นกัน โดยผู้ป่วยไม่ค่อยแสดงอาการ ส่วนมากมาก็ระยะสุดท้าย คือ ถ่ายเป็นเลือด ลำไส้อุดตัน พอตรวจก็เจอก้อนมะเร็ง ยิ่งผู้สูงอายุยิ่งเจอมาก โดยผู้ป่วยเฉพาะโอพีดี หรือแผนกผู้ป่วยนอก ที่เข้ามารับบริการที่ศูนย์ทางเดินอาหารฯ เฉลี่ย 50 คนต่อวัน โดยมีทั้งการมารักษาและการตรวจหารอยโรค
“จริงๆ แล้ว โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ป้องกันได้ เพียงแค่ปรับพฤติกรรมการบริโภค หันมารับประทานพวกผักผลไม้ ที่มีกากใยเพิ่มขึ้น ออกกำลังกายสม่ำเสมอ และไม่เครียด เพราะความเครียดกระตุ้นโรคภัยได้โดยเราไม่รู้ตัว รวมทั้งการมาตรวจคัดกรองก็เป็นการช่วยทางหนึ่ง เพราะหากพบว่ามีรอยโรคในการเกิดมะเร็งก็จะสามารถรักษาได้ตั้งแต่เนิ่นๆ” พญ.วรรณากล่าว และว่า ในการตรวจคัดกรองหาโรคนั้น ขั้นแรกแพทย์จะให้ทำการตรวจหาเลือดในอุจจาระ ซึ่งจะมีทั้งพบเลือดออกมากับอุจจาระ กับการตรวจหาเลือดที่ซ่อนอยู่ในอุจจาระ นอกจากนี้ยังมีการส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ชนิดยาว (Colonoscopy) รวมทั้งการสวนแป้งเพื่อเอกซเรย์ เมื่อพบก้อนเนื้อมะเร็ง แพทย์จะทำการตัดชิ้นเนื้อบางส่วน หรือทั้งหมดเพื่อส่งตรวจ และทำการรักษาต่อไป

ทั้งนี้ พญ.วรรณายังบอกว่า แม้ รพ.หาดใหญ่จะสามารถตรวจหาโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ด้วยการส่องกล้องผ่านทางทวารหนักได้ แต่เครื่องมือก็ยังมีจำกัด ตรวจได้เพียงวันละ 4-5 รายต่อวัน สิ่งสำคัญควรเน้นการตรวจคัดกรองหาเลือดในอุจจาระก่อน ผ่านชุดตรวจที่เรียกว่าการทำฟิตเทสต์ (Fit test) เพื่อเป็นการคัดกรองก่อนส่งตรวจยืนยันผลด้วยการส่องกล้อง ซึ่งการตรวจฟิตเทสต์ ถือว่ามีความแม่นยำระดับหนึ่ง และใช้งานได้สะดวก โดยที่ผ่านมาศัลยแพทย์ รพ.หาดใหญ่ ได้ทำการศึกษาการคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ด้วยการตรวจหาเลือดในอุจจาระ
โดยได้ทำการศึกษาในกลุ่มตัวอย่าง 14 อำเภอของเขตสุขภาพที่ 12 จำนวน 2,757 คน แบ่งออกเป็น 1.ญาติสายตรงของผู้ป่วยโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ จำนวน 361 คน และ 2.กลุ่มผู้สูงอายุ 50 ปีขึ้นไป จำนวน 2,396 คน พบว่า กลุ่มญาติสายตรงมีความผิดปกติ 67 คน หรือร้อยละ 18.56 ในจำนวนนี้เข้าตรวจยืนยันผลด้วยการส่องกล้องเพียง 41 คน พบมีรอยโรค 12 คน คิดเป็นร้อยละ 31.71 โดยเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่แล้ว 1 คน
ขณะที่ผลการตรวจในกลุ่มผู้สูงอายุตั้งแต่อายุ 50 ปีขึ้นไป พบมีความผิดปกติ 135 ราย คิดเป็นร้อยละ 3.05 เมื่อต้องตรวจยืนยันผลด้วยการส่องกล้องพบว่ามีผู้เข้ารับการตรวจ จำนวน 75 คน ก็พบมีรอยโรค 7 คน หรือร้อยละ 12 และเป็นมะเร็งแล้ว 2 คน

พญ.วรรณากล่าวว่า การตรวจคัดกรองด้วยวิธีนี้ทำให้ทราบผลได้รวดเร็ว และเพื่อการยืนยันผลจะทำห่างกัน 2 ครั้ง ห่างกัน 1 เดือน ถ้าพบว่าผลเป็นบวกทั้ง 2 ครั้งจะส่งตรวจยืนยันด้วยการส่องกล้อง ข้อดีของการทำฟิตเทสต์นั้นราคาถูก เมื่อเทียบกับการส่องกล้อง ซึ่งแต่ละครั้งค่าบริการสูงหลายพันบาท ประกอบกับต้องเตรียมพร้อมผู้ตรวจ ทั้งอดอาหาร กินยาถ่าย เป็นต้น ดังนั้น เบื้องต้นควรตรวจด้วยวิธีฟิตเทสต์ น่าจะเหมาะกว่าโดยขณะนี้โครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ หรือไฮแทป อยู่ระหว่างการประเมินความคุ้มค่า เกี่ยวกับการตรวจด้วยวิธีนี้

อย่างไรก็ตาม ต้องรู้จักสังเกตตัวเองว่ามีอาการเสี่ยงหรือไม่ เช่น เบื่ออาหาร น้ำหนักลดไม่ทราบสาเหตุ ถ่ายอุจจาระเป็นมูกเลือด ก็ควรมีการตรวจ โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง คือ ผู้ที่อายุมากกว่า 40 ปี หรือผู้ที่มีพ่อ แม่ พี่ น้อง หรือญาติสายตรงเป็นมะเร็ง โดยควรไปตรวจความเสี่ยงก่อโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่เป็นประจำทุกปี
แต่หากป้องกันไม่ให้เกิดโรคจะเป็นสิ่งที่ดีที่สุด อาทิ การรับประทานอาหารที่มีไขมันต่ำ อุดมไปด้วยเส้นใยอาหารจากผักและผลไม้ ลดการรับประทานเนื้อแดง ร่วมกับการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ก็ห่างไกลโรคนี้ได้ จบ…

———————————————————————————————————————-

 

ตรวจมะเร็งลำไส้ใหญ่ ราคาเบาๆ ประชาชนเข้าถึง

หนังสือพิมพ์เดลินิวส์  ฉบับวันที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2559

“มะเร็งลำไส้ใหญ่” จัดอยู่ในอันดับต้น ๆ ของโรคมะเร็งที่พบบ่อยในประเทศ ไทย และอยู่ในอันดับต้น ๆ ของสาเหตุการเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งทั้งหมดอีกด้วย ส่วนหนึ่งเป็นเพราะว่ากว่าคนเราจะรู้ตัวว่าเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ก็ปาเข้าสู่ระยะท้าย ๆ การรักษาจึงค่อนข้างยาก
ทั้งนี้ จากข้อมูลของสถาบันมะเร็งแห่งชาติระบุว่าปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคมาจากพันธุกรรม และอาหาร เช่น อาหารที่มีไขมันสูง ขาดเส้นใยอาหาร สำหรับอาการเช่น ปวดท้องเป็นพัก ๆ สลับช่วงหายปวด ท้องผูกสลับท้องเสีย อุจจาระเป็นมูกปนเลือด ขนาดของลำอุจจาระเส้นเล็กลง รู้สึกปวดถ่าย อยากเข้าห้องน้ำอยู่ตลอดเวลา แต่ถ่ายแล้วไม่ค่อยมีอะไรออกมา หรือมีอาการเหมือนถ่ายไม่สุด
ส่วนการตรวจหาโรคดังกล่าวมีอยู่ 3 วิธีคือ การตรวจหาเลือดในอุจจาระ การส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ และการสวนแป้งเพื่อเอกซเรย์ ซึ่งนี่อาจจะเป็นอีกข้อจำกัดหนึ่งที่ทำให้คนเข้าไม่ถึงการตรวจคัดกรองโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ โดยเฉพาะในส่วนของโรงพยาบาลภาครัฐที่อาจจะมีเครื่องมือเครื่องไม้จำกัด
“เฉพาะที่อำเภอหาดใหญ่ จ.สงขลา โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่อยู่ในอันดับ 5 ของโรคมะเร็งที่พบบ่อย ผู้ป่วยไม่ค่อยมีอาการ ส่วนมากจึงมาพบหมอเมื่อโรคเข้าสู่ระยะสุดท้ายแล้ว มีอาการถ่ายเป็นเลือด ท้องผูก ท้องเสีย พอตรวจก็เจอก้อนมะเร็งบางคนถึงขั้นลำไส้อุดตันไปแล้ว โดยเฉพาะผู้สูงอายุจะเจอเยอะ” พญ.วรรณา อังคสุวรรณหัวหน้ากลุ่มงานเซอร์วิส แพลน โรงพยาบาลหาดใหญ่ กล่าว
ทั้งนี้ พญ.วรรณายังบอกว่า จริงอยู่ที่โรงพยาบาลหาดใหญ่มีศักยภาพในการตรวจหาโรคมะเร็งทวารหนักด้วยการส่งกล้องผ่านทางทวารหนักได้ แต่เครื่องมือก็ยังมีจำกัด ตรวจได้เพียงวันละ 4-5 รายต่อวัน ดังนั้นจึงมุ่งเน้นไปที่การทำฟิตเทสต์ หรือการตรวจหาเลือดในอุจจาระ เพื่อเป็นการคัดกรองก่อนส่งตรวจยืนยันผลด้วยการส่องกล้อง
โดยคณะแพทย์ผู้เชี่ยวชาญของทางโรงพยาบาลได้ทำการศึกษาการคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ด้วยฟิตเทสต์ ประชาชนใน 14 อำเภอ ในเขต 12 จำนวน 2,757 คน ซึ่งเป็นญาติสายตรงของผู้ป่วยโรคนี้ 361 คน ผู้สูงอายุ อายุ 50 ปีขึ้นไป 2,396 คน พบว่าญาติสายตรงมีความผิดปกติ 67 คน หรือ 18.56% ในจำนวนนี้เข้าตรวจยืนยันผลด้วยการส่องกล้องเพียง 41 คน ก็พบมีรอยโรค 12 คน คิดเป็น 31.71% พบเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่แล้ว 1 คน
ส่วนผลการตรวจในกลุ่มผู้สูงอายุ อายุ 50 ปีขึ้นไป พบผลเป็นบวก 135 ราย คิดเป็น 3.05% เมื่อต้องตรวจยืนยันผลด้วยการส่งกล้องพบว่ามีผู้เข้ารับการตรวจจำนวน 75 คน ก็พบมีรอย โรค 7 คน หรือ 12% และเป็นมะเร็งแล้ว 2 คน
“การตรวจคัดกรองด้วยการฟิตเทสต์นั้นทำแล้วสามารถทราบผลทันที โดยจะทำ 2 ครั้งห่างกัน 1 เดือน ถ้าพบว่าใครมีรอยโรคหรือเป็นโรคก็จะส่งตรวจยืนยันด้วยการส่งกล้อง ซึ่งจะช่วยลดการตรวจด้วยการส่องกล้องแบบหว่านแหไปได้ ที่สำคัญคือการ ทำฟิตเทสต์นั้นราคาถูก เมื่อเทียบกับการส่องกล้องแต่ละครั้งค่าบริหารสูงหลักหลายพันบาท อีกทั้งยังต้องเตรียมคนไข้นานทั้งอดอาหาร กินยาถ่าย ทำให้ร่างกายอ่อนเพลีย และใช้บุคลากรเยอะ”
เมื่อเห็นแล้วว่า การทำฟิตเทสต์นั้นเหมาะกับบริบทของโรงพยาบาลหาดใหญ่ดังนั้นจึงได้ทำเรื่องเสนอไปยังกระทรวงสาธารณสุขเพื่อขอใช้การทำฟิตเทสต์มาเป็นการคัดกรองพื้นฐานอันดับแรกของโรงพยาบาล ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการประเมินความคุ้มค่าโดยไฮแทป หรือโครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ คาดว่าน่าจะได้ใช้ในเร็ว ๆ นี้.

 

 

23 กันยายน 2559

Next post > PD First Policy สิทธิรักษา เพื่อผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง

< Previous post HITAP จัดประชุม นำเสนอผลการศึกษาในโครงการนำร่องการตรวจกรองกลุ่มอาการดาวน์ในหญิงตั้งครรภ์

Related Posts

ข่าวที่เข้าชมมากที่สุด ในรอบ 3 เดือน

HITAP เป็นข่าว ล่าสุด