logo
ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อฝ่ายสื่อสารองค์กร HITAP
ผู้เชี่ยวชาญร่วมถกปัญหา พัฒนาระบบป้องกันโรคและการบาดเจ็บจากการทำงาน

วันที่ 10 มิ.ย. 57 คณะผู้วิจัย HITAP จัดประชุมผู้เชี่ยวชาญด้านอาชีวะอนามัย เพื่อพิจารณาความเป็นไปได้ของมาตรการเกี่ยวกับโรคและการบาดเจ็บจากการทำงานที่เหมาะสมกับบริบทของประเทศไทย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาข้อเสนอเพื่อปรับปรุงชุดสิทธิประโยชน์และระบบบริการด้านการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคสำหรับผู้ใหญ่ และวัยทำงาน เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจของ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)

 

น.ส.สุธีนุช ตั้งสถิตกุลชัย นักวิจัยในโครงการนี้ นำเสนอความสำคัญของปัญหาและสถานการณ์ปัจจุบันของโรคและการบาดเจ็บจากการทำงาน พบว่าคนทำงาน/ผู้ใช้แรงงานทั้งในและนอกระบบส่วนใหญ่ได้รับการบาดเจ็บจากการถูกวัสดุ/สิ่งของ ตัด/บาด หรือทิ่มแทง มากที่สุด ซึ่งสูงถึงกว่าร้อยละ 60 และไม่มีแนวโน้มลดลงเลยตั้งแต่ปี 2549 เป็นต้นมา

 

“ผู้ใช้แรงงาน หรือคนทำงานในประเทศไทยยังประสบปัญหาการเข้าถึงบริการด้านการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรคและการบาดเจ็บจากการทำงาน โดยมีที่มาจากหลายสาเหตุ เช่น ผู้ใช้แรงงานเองไม่รู้สิทธิ หรือไม่เข้ารับบริการสุขภาพ/ไม่รายงานการบาดเจ็บเพราะกลัวกระทบต่องาน หรือนายจ้างเองปิดบังข้อมูลด้านความปลอดภัย ลูกจ้างไม่รู้กฎหมาย ไม่ได้รับการดูแลความปลอดภัยจากนายจ้าง หรือนายจ้างไม่รายงานการบาดเจ็บเพราะกลัวบริษัทเสียชื่อ รวมไปถึงปัญหาในเชิงระบบที่ไม่เอื้อต่อการจัดบริการดูแลสุขภาพความปลอดภัยของผู้ใช้แรงงานให้เป็นไปอย่างมีมาตรฐาน”  น.ส.สุธีนุช กล่าว

 

ทั้งนี้ คณะผู้วิจัยจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายให้มีการปรับปรุงระบบการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคและการบาดเจ็บจากการทำงานของกลุ่มผู้ใช้แรงงานทั้งในและนอกระบบ โดยเน้นกระบวนการ 5 Rs  คือ การลงทะเบียนข้อมูลผู้ใช้แรงงาน (Register and Health Check) การตรวจสุขภาพและประเมินสภาพแวดล้อมการทำงาน (Re-check) การรายงานผลการตรวจไปยังทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง (Report) การบันทึกข้อมูล (Record) และสุดท้ายการนำข้อมูลที่ได้ไปสนับสนุนการพัฒนาระบบดูแลประชากรในวัยทำงานของไทย (Responsiveness)

 

จากการนำเสนอผลวิจัย ผู้เชี่ยวชาญให้ข้อเสนอแนะที่มีประโยชน์ต่อการพัฒนางานวิจัยหลายประการ โดยมีข้อคิดเห็นต่อ  ร่างกระบวนการ 5 Rs ว่า การตรวจสุขภาพกลุ่มผู้ใช้แรงงาน ควรเน้นการตรวจเพื่อหาความเปลี่ยนแปลงที่อาจมีสาเหตุจากการทำงานมากกว่าเน้นเพื่อหาผลผิดปกติ ให้มีระบบดูแลสุขภาพอย่างต่อเนื่องแม้ผู้ใช้แรงงานจะเปลี่ยนสถานที่ทำงาน หรือเลิกทำงานไปแล้ว ให้มีการวางระบบตรวจสอบโรคจากการทำงานอย่างเป็นมาตรฐาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มแรงานนอกระบบ และแรงงานต่างด้าว เป็นต้น

 

ติดตามเอกสารสรุปการประชุมได้ที่ www.hitap.net/research/13261

10 มิถุนายน 2557

Next post > ผู้เชี่ยวชาญร่วมแสดงความเห็น ในหัวข้อ "การประเมินนโยบายป้องกัน และควบคุมโรคมะเร็ง ภายใต้กองทุนหลักประกัน สุขภาพแห่งชาติ"

< Previous post กฎเหล็กต้องรู้ ให้ยาลดไข้สำหรับเด็ก / คอลัมน์ Health Line สายตรงสุขภาพ

Related Posts

ข่าวที่เข้าชมมากที่สุด ในรอบ 3 เดือน

ข่าวสาร HITAP ล่าสุด