logo
ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อฝ่ายสื่อสารองค์กร HITAP
WHO ภูมิภาคเอเชียใต้ สนับสนุนให้การประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพเป็นเครื่องมือในการพัฒนา UHC

HITAP เข้าร่วมประชุมและนำเสนอผลงานด้านการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ ในการประชุม Conference on Advancing Universal Health Coverage (UHC) in South-East Asia วันที่ 23-25 เมษายน พ.ศ. 2557 ที่เมือง Paro ประเทศภูฏาน

การประชุมครั้งนี้จัดขึ้นโดย WHO Regional Office เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการพัฒนาระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า (UHC) ในประเทศสมาชิกของ WHO ในภูมิภาคเอเชียใต้ ผู้เข้าร่วมประชุมเป็นผู้บริหารระดับสูงจากกระทรวงสาธารณสุข และนักวิชาการจาก 11 รวมทั้งสิ้น 104 คน การประชุมนี้จัดขึ้นเนื่องจาก WHO SEARO เล็งเห็นความสำคัญของการเปลี่ยนแปลงภายหลัง MDG ที่จะเกิดขึ้นในปี ค.ศ. 2015 และให้ความสำคัญของแนวโน้มของปัญหาสุขภาพจากโรคไม่ติดต่อที่กำลังเป็นปัญหาสุขภาพของประเทศกำลังพัฒนาหลายๆ ประเทศ UHC จึงเป็นเครื่องมือที่ช่วยทำให้เกิดการเข้าถึงการบริการสุขภาพอย่างเท่าเทียมกัน เพื่อให้การพัฒนา UHC เป็นไปอย่างยั่งยืน จึงต้องมีการประชุมร่วมกันถึงแนวโน้มที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตและเรียนรู้จากประสบการณ์ในการพัฒนา UHC ของแต่ละประเทศ ทั้งนี้ในการประชุมได้ครอบคลุมถึงประเด็นสำคัญๆ ในการพัฒนา UHC เช่น แนวโน้มของการพัฒนา UHC ในปี ค.ศ. 2030 การวัดผลการดำเนินงานของ UHC ทั้งในด้านการเข้าถึงและความเท่าเทียม วิธีการที่ส่งเสริมความเท่าเทียมในการเข้าถึงบริการ เครื่องมือที่นำมาใช้ในการพัฒนาคุณภาพการบริการ เครื่องมือที่นำมาใช้เพื่อให้ UHC มีประสิทธิภาพ การเข้าถึงยาของประชากร และทรัพยากรบุคคลที่เพียงพอและมีคุณภาพเพื่อตอบสนองต่อ UHC ทั้งนี้เอกสารประกอบการประชุมสามารถ Download ได้ที่   https://www.dropbox.com/sh/xmzlp260ud2dt3o/en86jeDQ44

ในการประชุมครั้งนี้ มีนักวิจัยจาก HITAP เข้าร่วมประชุมจำนวน 3 ท่านคือ ดร.นพ.ยศ ตีระวัฒนานนท์ ดร.ภญ.ศรีเพ็ญ ตันติเวสส และ ดร.อินทิรา ยมาภัย โดย HITAP ได้ถ่ายทอดประสบการณ์ของ HITAP ในประเทศไทยและต่างประเทศ ในหัวข้อ Health Intervention and Technology Assessment as a tool to support sustainable UHC โดยสาระสำคัญของการจัดประชุมครั้งนี้คือการนำผลการศึกษาของการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (Health Intervention and Technology Assessment: HITA) ไปใช้เป็นเครื่องมือในการสนับสนุนการดำเนินงานของ UHC ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ทั้งนี้ HITAP ได้นำเสนอผลการศึกษาที่ได้ทำในประเทศไทยและประเทศพม่า โดยในประเทศไทย HITAP ได้นำผลการศึกษา HITA ไปใช้ในการพัฒนาชุดสิทธิประโยชน์ ตลอดจนนำผลการศึกษาไปใช้ในการเจรจาต่อรองราคายาเพื่อให้สามารถนำยาเข้าสู่บัญชียาหลักได้ นอกจากนั้นการศึกษาด้าน HITA สามารถนำไปใช้ในการส่งเสริมการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค เช่น การศึกษาต้นทุนทางสังคมของการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพื่อทำให้เกิดความตระหนักต่อต้นทุนทางอ้อมที่มีมูลค่าสูงกว่ารายได้จากภาษีสรรพสามิตที่รัฐบาลได้รับหลายเท่า สำหรับประสบการณ์จากประเทศพม่านั้น HITAP ได้ดำเนินการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ Maternal and Child Health Voucher Scheme in Myanmar ซึ่งเป็นโครงการที่ส่งเสริมให้สตรีมีครรภ์ได้เข้าถึงบริการทางการแพทย์โดยโครงการนี้สนับสนุนค่าใช้จ่ายในการฝากครรภ์ คลอด และให้วัคซีนบุตร ตลอดจนสนับสนุนค่าเดินทางและอาหารสำหรับหญิงมีครรภ์เช่นกัน

จากการนำเสนอผลการศึกษา HITA ผู้เข้าร่วมประชุมได้แสดงความสนใจซักถามกระบวนการการทำงานของ HITAP และอยากจะเรียนรู้เพิ่มเติมเนื่องจากตระหนักว่า HITA สามารถช่วยพัฒนา UHC ของประเทศได้ หลังจากการประชุมผู้เข้าร่วมประชุมจากประเทศปากีสถานและบังคลาเทศได้เข้ามาพูดคุยเพิ่มเติมเนื่องจากมีความต้องการให้เกิดหน่วยงานที่คล้ายกับ HITAP ในประเทศ และจะพัฒนาความร่วมมือกับ HITAP ต่อไปในอนาคต

20 พฤษภาคม 2557

Next post > ผู้แทนจาก UNDP/PATH เยี่ยมชมศึกษาดูงาน HITAP ภายใต้ โครงการ Access and Delivery Project (ADP)

< Previous post เชิญชวนนักวิจัยและผู้สนใจ ลงทะเบียนอบรมการประเมินความคุ้มค่าทางการแพทย์และสาธารณสุข ครั้งที่ 10 วันที่ 21-25 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

Related Posts

ข่าวที่เข้าชมมากที่สุด ในรอบ 3 เดือน

ข่าวสาร HITAP ล่าสุด