logo
ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อฝ่ายสื่อสารองค์กร HITAP

วันนี้ (30 ม.ค.) เมื่อเวลา 10.00 น.ที่ห้องประชุมอัจฉรา ชั้น 2 สถาบันบำราศนราดูรนพ.โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ทางกรมฯได้เชิญผู้ได้รับรางวัลเจ้าฟ้ามหิดลประจำปี 2556 ประกอบด้วย ศ.นพ.เดวิด ดี.โฮ นพ.แอนโทนี ฟอซี ศ.บารอนปีเตอร์ ปิอ็อต และ นพ.จิม ยอง คิม มาแสดงปาฐกถาการดำเนินงานการป้องกันควบคุมโรคเอดส์จนประสบผลความสำเร็จระดับโลก เพื่อเป็นการให้ความรู้ความก้าวหน้าทางวิชาการในเรื่องดังกล่าวแก่ผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการของประเทศไทย และนำมาพัฒนาระบบการควบคุมป้องกัน การดูแลรักษาผู้ติดเชื้อ ผู้ป่วยของไทยให้มีประสิทธิภาพ
       
       นพ.โสภณ กล่าวอีกว่า สำหรับสถานการณ์โรคเอดส์ในไทย สำนักระบาดวิทยารายงาน ณ วันที่ 30 พ.ย. 2555 คาดประมาณว่าผู้ติดเชื้อเอชไอวีโดยไม่มีอาการมากกว่า 1.2 ล้านคน มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ปีละประมาณ 10,000 คน และมีผู้ติดเชื้อได้รับยาต้านไวรัสประมาณ 2.5 แสนคน สำนักระบาดวิทยาได้รับรายงานผู้ป่วยเอดส์จากโรงพยาบาลในสังกัด สธ.ตั้งแต่ปี 2527 – ก.ย. 2555 ยอดผู้ป่วยสะสม 276,947 ราย ร้อยละ 65 อายุระหว่าง 30-44 ปี ส่วนใหญ่ร้อยละ 46 ประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไป สาเหตุการติดเชื้อร้อยละ 85 มาจากเพศสัมพันธ์โดยไม่ใช้ถุงยางอนามัย ผลการเฝ้าระวังการติดเชื้อเอชไอวี ล่าสุดในรอบ มิ.ย. 2556 ใน 8 กลุ่ม พบอัตราการติดเชื้อมากสุดในกลุ่มใช้ยาเสพติดชนิดฉีดร้อยละ 13.82 รองลงมาคือกลุ่มชายขายบริการร้อยละ 8 กลุ่มชายตรวจกามโรคร้อยละ 4.42 กลุ่มหญิงขายบริการทางเพศโดยตรงร้อยละ 2 กลุ่มโสเภณีแฝงร้อยละ 1.96 กลุ่มหญิงฝากครรภ์ร้อยละ 0.56 กลุ่มแรงานต่างชาติร้อยละ 0.15 และโลหิตที่ได้รับบริจาคพบอัตราติดเชื้อร้อยละ 0.1 
       
       นพ.โสภณ กล่าวด้วยว่า ผู้รับรางวัลเจ้าฟ้ามหิดล ปี 2556 จะแสดงปาฐกถาพิเศษร่วมกัน โดยมี นพ.วิวัฒน์ โรจนพิทยากร ซึ่งเป็นผู้ได้รับรางวัลนี้ในปี 2552 ดำเนินการอภิปรายเรื่อง สถานการณ์เอชไอวี-เอดส์ในปัจจุบัน โดย นพ.วิวัฒน์ เป็นผู้ริเริ่มโครงการถุงยางอนามัย 100 เปอร์เซ็นต์ ใน จ.ราชบุรี เมื่อปี 2532 จนสามารถส่งเสริมการใช้ถุงยางอนามัยแบบผูกขาด ให้หญิงบริการทั้งจังหวัดปฏิเสธลูกค้าที่ไม่ใช้ถุงยางอนามัย ส่งผลให้การติดเชื้อในหญิงบริการลดลง ป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อในสังคม และขยายโครงการดังกล่าวไปทั่วประเทศและต่างประเทศ โดยองค์กรระหว่างประเทศ ทั้งองค์การอนามัยโลก ธนาคารโลก ยูเอ็นเอดส์ และยูเอสเอดส์ ยอมรับว่าเป็นวิธีการเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อการป้องกันโรคเอดส์ที่ประสบความสำเร็จสูงมาก
       
       ศ.บารอน ปีเตอร์ ปิอ็อต แสดงปาฐกถาตอนหนึ่งว่า การดำเนินการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีพบว่าทั่วโลกมีการติดเชื้อและการเสียชีวิตลดลงในกลุ่มประชากรทั่วไป แต่ยังไม่สามารถเข้าถึงกลุ่มที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ เช่น ชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชาย ผู้ติดยาเสพติด เป็นต้น เนื่องจากสภาพสังคมเปลี่ยนไป อย่างไทยจะเห็นว่าในกลุ่มหญิงขายบริการและประชาชนทั่วไป การติดเชื้อลดลง ยกเว้นกลุ่มชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชาย เช่นเดียวกับการศึกษาที่ลอนดอนพบว่า ทุกๆ วันจะมีชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชายติดเชื้อเอชไอวีเพิ่มขึ้น 5 คน แต่ในกลุ่มประชาชนทั่วไปกลับพบว่าจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ลดลง ดังนั้น การดำเนินการจึงต้องหาวิธีให้เหมาะสมกับผู้มีความเสี่ยงแต่ละกลุ่ม เช่น การติดเชื้อจากแม่สู่ลูกก็ต้องเน้นการทำงานเรื่องการฝากครรภ์ เป็นต้น เหมือนประเทศยูกันดา (Uganda) ที่ประสบผลสำเร็จในการป้องกันการแพร่เชื้อเหลือเพียง 3% เท่านั้น
       
       “ปัญหาการติดเชื้อเอชไอวีไม่ใช่ปัญหาระดับสถาบัน แต่เป็นปัญหาส่วนบุคคล เพราะไม่สามารถทำให้คนกล้ามาตรวจเลือดได้ นอกจากนี้ การดำเนินงานด้านเอดส์นั้นมีการดำเนินการมาอย่างยาวนานแต่ยังไม่เห็นจุดจบที่จะมียารักษาอย่างยั่งยืน ซึ่งยังต้องมีการทำงานวิจัยต่อไป โดยหัวข้อหลักคือวัคซีนและการรักษา แต่อุปสรรค์สำคัญ คือเรื่องงบประมาณในการทำวิจัย ดังนั้น การดำเนินงานจะต้องสัมพันธ์กัน 3 ส่วนคือ วิทยาศาสตร์ นโยบายทางการเมือง และระบบ เพราะหากไม่มีนโยบายสนับสนุนการวิจัยก็จะนิ่ง เนื่องจากไม่มีเงินสนับสนุน หรือหากไม่มีระบบ ก็จะไม่สามารถเข้าถึงประชาชนได้ นอกจากนี้ ยังต้องแก้ไขปัญหาเรื่องการตีตรา และกฎหมายด้วย” ศ.บารอน ปีเตอร์ กล่าว
       
       ในเวทีมีการตั้งคำถามว่าเป็นไปได้หรือไม่ที่จะทำให้โลกไม่มีโรคเอดส์อีกต่อไป ศ.นพ.เดวิด กล่าวว่า ทุกคนล้วนฝันให้การไม่มีโรคเอดส์บนโลกเกิดขึ้นจริง แต่ในความเป็นจริงนั้นยังห่างไกลอีกมากเนื่องจากยังไม่มียารักษาและวัคซีน แม้จะเริ่มมีการศึกษาที่พอจะเป็นความหวังก็ยังใช้เวลาอีกนาน กว่าจะสามารถทำออกมาใช้ได้ทั่วโลก
       
       นพ.แอนโทนี กล่าวว่า หากจะบอกว่าทำให้บนโลกไม่มีโรคเอดส์คงเป็นจริงได้ยาก แต่จะดีกว่าหากพูดว่าไม่มีการระบาดของโรค คือถ้าสามารถควบคุมการติดเชื้อและการเสียชีวิตให้ต่ำได้มากพอก็สามารถพูดได้ว่า โลกเราไม่มีโรคเอดส์แล้ว แต่คาดว่าต้องใช้เวลานานมาก ในการดำเนินงานคาดหวังว่าอยากหยุดช่วงการแพร่ระบาดของโรคเอดส์ไว้ที่เจนเนอเรชันหน้าคือไม่อยู่ในการระบาดแล้ว อาจจะเป็นจริงได้มากกว่า

31 มกราคม 2557

Next post > ประชุมผู้เชี่ยวชาญโครงการพัฒนาข้อเสนอเพื่อการปรับปรุงชุดสิทธิประโยชน์และระบบบริการด้านการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค สำหรับผู้ใหญ่ / วัยทำงานภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า

< Previous post สธ.ยันทหารเกณฑ์ตายจากหวัดใหญ่สายพันธุ์เดิม ไม่ใช่สายพันธุ์ใหม่

Related Posts

ข่าวที่เข้าชมมากที่สุด ในรอบ 3 เดือน

HITAP เป็นข่าว ล่าสุด