“MIDAS Medical Innovation Hackathon 2025” เวทีขับเคลื่อนนวัตกรรมทางการแพทย์ สู่สิทธิประโยชน์ของคนไทย

เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2557 HITAP จัดประชุมผู้เชี่ยวชาญ เพื่อกำหนดหัวข้อวิจัยในด้านการประเมินความคุ้มค่าของการคัดกรองโรคทางตาในกลุ่มอายุต่างๆ ในประชากรไทย ณ ห้องประชุม HITAP กระทรวงสาธารณสุข การประชุมมีขึ้นเพื่อกำหนดหัวข้อวิจัย รวมไปถึงรวมถึงรับฟังข้อคิดเห็นจากผู้เชี่ยวชาญถึงรูปแบบของการดำเนินงานวิจัยสำหรับการดำเนินแผนงานวิจัยในขั้นต่อไป
ในการประชุมนักวิจัยได้นำเสนอการทบทวนวรรณกรรมเบื้องต้นเกี่ยวกับการคัดกรองโรคทางตา พบว่าโรคตา 6 โรคที่เป็นปัญหาสำคัญทางจักษุสาธารณสุขของประเทศไทย ได้แก่ ต้อกระจก ต้อหิน ตาเหล่ เบาหวานขึ้นจอประสาทตา และจอประสาทตาเสื่อมในผู้สูงอายุ โดยโรคที่ก่อให้เกิดตาบอดในประชากรไทยมากที่สุดก็คือโรคต้อกระจก และต้อหินตามลำดับ ทั้งนี้โรคต้อหินเป็นอาการที่ทำให้เกิดอาการตาบอดชนิดถาวรที่ไม่สามารถรักษากลับคืนได้
เป็นที่น่าสนใจว่าในปัจจุบัน โรคต้อหิน ตาเหล่ และจอประสาทตาเสื่อม เป็น 3 โรคที่เป็นปัญหาจักษุสาธารณสุขและยังไม่มีการดำเนินการคัดกรองในประเทศไทย แต่อย่างไรก็ตามผู้เชี่ยวชาญในที่ประชุมได้ให้ความเห็นว่าควรพิจารณาศึกษาความเป็นไปได้และความคุ้มค่าของการคัดกรองโรคต้อหินหรือตาเหล่ในประชากรไทย เนื่องจากโรคต้อหินเป็นโรคที่ก่อให้เกิดปัญหาตาบอดถาวรและโรคตาเหล่เป็นปัญหาตาที่สำคัญในเด็กซึ่งในอนาคตจะเป็นกำลังแรงงานที่สำคัญของประเทศ อย่างไรก็ตามผู้เชี่ยวชาญย้ำประเด็นสำคัญที่ต้องพิจารณาว่า การดำเนินการคัดกรองในเชิงรุกและได้ผลการคัดกรองจำนวนมาก ต้องอาศัยบุคลากรทางสาธารณสุขด้านอื่นที่ไม่ใช่แพทย์ด้วย เนื่องจากจะช่วยเพิ่มโอกาสการเข้าถึงการคัดกรองของผู้ที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล
การประชุมในครั้งนี้ได้ข้อสรุปที่สำคัญว่า การคัดกรองประชาชนทั่วไป (แบบ mass screening) ทำได้ยาก คณะผู้วิจัยจึงขอความคิดเห็นเกี่ยวกับทางเลือกในการคัดกรอง ระหว่างการคัดกรองในประชากรกลุ่มเสี่ยง และการจัดทำ clinical prediction score เพื่อใช้ในการคัดกรองโรคต้อหิน ทั้งนี้ภายหลังจากการประชุมคณะผู้วิจัยจะนำข้อเสนอแนะต่าง ๆ ไปพัฒนาข้อเสนอของการศึกษาและนำเสนอให้ผู้เชี่ยวชาญพิจารณาอีกครั้ง